×

ส่อง ‘8 ดัชนีชี้วัด’ ที่มักถูกนำมาพิจารณาว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วหรือยัง

02.08.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจถดถอย

หลังจากกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แบบไตรมาสต่อไตรมาสหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน ก็เกิดการถกเถียงขึ้นในหมู่ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) หรือยัง หรือเมื่อไรกันที่สหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

ทั้งนี้ ว่ากันในทางเทคนิคแล้ว การตัดสินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่จะถูกพิจารณาโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ จากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น การจ้างงานรายเดือน การใช้จ่ายของผู้บริโภค รายได้ส่วนบุคคล การผลิต และอื่นๆ แต่ด้วยอัตราเงินเฟ้อที่สูงสุดในรอบ 4 ทศวรรษ ชาวอเมริกันจำนวนมากรู้สึกว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย

 

ดังนั้น ก่อนหน้านี้จึงมีผู้เชี่ยวชาญหลายคนพยายามพิจารณาตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อค้นหาสัญญาณว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือยัง ตั้งแต่ดัชนีแชมเปญไปจนถึงกล่องกระดาษแข็ง ทีมข่าว THE STANDARD WEALTH พาไปดูกันว่ามี ‘ดัชนี’ อะไรบ้างที่มักถูกนำมาเป็นเครื่องชี้วัดว่าเศรษฐกิจได้เข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว

 

1. ดัชนีชุดชั้นในผู้ชาย

Alan Greenspan อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ถือเป็นแฟนตัวยงที่ติดตามพฤติกรรมการใช้จ่ายชุดชั้นในของผู้ชาย โดยอ้างอิงจากงานวิจัยที่ว่า ผู้ชายจะเลิกซื้อกางเกงบ็อกเซอร์และกางเกงในในช่วงเวลาที่ยากลำบาก โดยงานวิจัยนี้ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ทั้งในช่วงวิกฤตการเงินเมื่อปี 2008 และในช่วงที่ผู้คนกักตัวที่บ้านท่ามกลางการระบาดของโรคโควิดในปี 2020 อ้างอิงตามข้อมูลของ Euromonitor 

 

สอดคล้องกับ David Swartz นักวิเคราะห์จาก Morningstar ที่ระบุว่า การจับจ่ายซื้อเครื่องแต่งกายในวงกว้างลดลง เนื่องจากการว่างงานที่เพิ่มขึ้น และการใช้จ่ายที่ลดลง

 

“ถ้าคุณจะใช้ดัชนีชุดชั้นในผู้ชายเป็นบารอมิเตอร์ ยอดขายปลีกที่สำคัญที่สุดที่น่าจับตามองคือ ยี่ห้อ Fruit of the Loom และ Hanes ที่ขายใน Walmart และ Target ซึ่งเป็นห้างที่ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ซื้อชุดชั้นใน” Swartz กล่าว

 

2. ดัชนีแชมเปญ

สำหรับแชมเปญซึ่งมักถูกใช้เพื่อเฉลิมฉลองช่วงเวลาที่ดี ถูกมองว่าเป็นสัญญาณสำหรับเหตุการณ์ต่างๆ ตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 โดยจะเห็นว่ายอดการจัดส่งแชมเปญเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่วอลล์สตรีทเฟื่องฟู โดยการบริโภคแชมเปญสูงถึง 15.8 ล้านขวดในปี 1987 แต่หลังเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยอดขายแชมเปญก็ลดลงเหลือ 10 ล้านขวดในปี 1992

 

ตามข้อมูลจาก Champagne Bureau ซึ่งเป็นสมาคมผู้ค้าแชมเปญ แสดงให้เห็นว่ารูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession) โดยการบริโภคเคยเพิ่มสูงขึ้นเป็น 23.2 ล้านขวดในปี 2006 ก่อนจะลดลงเหลือ 12.6 ล้านขวดในปี 2009 

 

แม้ว่ายังไม่มีข้อมูลของปี 2022 จาก Champagne Bureau แต่ข้อมูลของ NielsenIQ แสดงให้เห็นว่ายอดขายสปาร์กลิงไวน์ในสหรัฐฯ ลดลงทุกเดือนตั้งแต่ปี 2021 โดยลดลงอยู่ในช่วง 7-8% ในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน

 

3. ดัชนีลิปสติก

ในช่วงต้นทศวรรษ 2000 Leonard Lauder ประธานบริษัท Estee Lauder ได้บัญญัติศัพท์ ‘ดัชนีลิปสติก’ ขึ้นมา เมื่อตั้งข้อสังเกตว่าผู้หญิงมักจะดื่มด่ำกับความหรูหราเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลิปสติก เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ (Downturn) 

 

สอดคลองกับ NPD บริษัทวิเคราะห์ข้อมูล ที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ โดยจาก 14 อุตสาหกรรมด้านการค้าปลีกที่ NPD ติดตาม พบว่ามีเพียงอุตสาหกรรมความงามเท่านั้นที่มียอดขายเติบโตในปีนี้ โดยในรายงานล่าสุดของ NPD ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งเป็นเลข 2 หลักของอุตสาหกรรมดังกล่าว

 

4. ดัชนีความยาวชายกระโปรง (Hemline)

ความยาวชายกระโปรงได้รับการจับตามองอย่างใกล้ชิดตั้งแต่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (The Great Recession) โดยชายกระโปรงได้รับการสังเกตว่าสั้นขึ้นเมื่อเศรษฐกิจเป็นขาขึ้น โดยในทางกลับกัน ชายกระโปรงจะยาวขึ้นเมื่อเศรษฐกิจหดตัว

 

ในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ กระโปรงสั้นของแบรนด์ Flappers ในยุค Roaring ’20 ได้ถูกแทนที่โดยเครื่องแต่งกายที่มีความยาว และถูกเปลี่ยนจากความยาวสั้นเป็นยาวปานกลางอีกครั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

 

ไม่นานมานี้กระโปรงมินิสเกิร์ตกลับได้รับความนิยมอีกครั้งในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง ก่อนเกิดการระบาดใหญ่ของโรคโควิด แต่ท่ามกลางการระบาดอย่างต่อเนื่อง สงครามในยูเครน รวมไปถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ชุดความยาวปานกลาง หรือ Midi และชุดยาว หรือ Maxi ตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอีกครั้ง 

 

5. ดัชนีผืนผ้าอ้อม

มีบางฝ่ายเชื่อว่าพ่อ-แม่พยายามประหยัดเงินโดยการเปลี่ยนผ้าอ้อมลูกให้น้อยลงในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ ซึ่งทำให้การขายขี้ผึ้งและครีมรักษาอาการระคายเคืองเพิ่มขึ้น 

 

ตามข้อมูลจาก IRI แสดงให้เห็นว่า ปริมาณยอดขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในปี 2022 สูงกว่าปี 2021 อย่างมาก ขณะที่ยอดขายผ้าอ้อมกลับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม Krishnakumar Davey ประธานฝ่ายการมีส่วนร่วมกับลูกค้าของ IRI กล่าวว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจเป็นผลมาจากปัจจัยอื่นๆ หลายประการ และอาจไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ

 

6. ดัชนีกล่องกระดาษแข็ง

การขนส่งกล่องกระดาษแข็งมักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดกิจกรรมการผลิต เพราะการขนส่งสินค้าต้องใช้กล่องกระดาษแข็งจำนวนมาก โดย Tim Nicholls ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) ของ International Paper Co. กล่าวในรายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 2 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ความต้องการกล่องกระดาษแข็งต่ำกว่าที่คาดไว้ และมีแนวโน้มจะทรงตัว เนื่องจากปฏิกิริยาของชาวอเมริกันต่อเงินเฟ้อที่ส่งผลกระทบต่อการใช้จ่าย

 

7. R-word Index

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 นักเศรษฐศาสตร์ได้คิดค้น R-word Index ขึ้นมาเพื่อนับจำนวนเรื่องราวในหนังสือพิมพ์ที่กล่าวถึง ‘ภาวะถดถอย’ และใช้เพื่อเรียกการเริ่มต้นของภาวะถดถอยของสหรัฐฯ ในปี 1990, 2001 และ 2007 

 

เช่นเดียวกับ Google Trends ก็ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือวัดที่คล้ายกัน โดยก่อนหน้านี้การค้นหาคำว่า ‘ภาวะถดถอย’ ได้พุ่งสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติสหรัฐฯ ประกาศว่าเป็นช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ เผชิญภาวะถดถอย และการค้นหาคำว่า ‘ภาวะถดถอย’ ก็เพิ่มขึ้นอีกครั้งตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

 

8. ภาคเทคโนโลยีชะลอตัว

นอกเหนือจากรายงานสถานการณ์แรงงานของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ แล้ว Bloomberg ยังได้ติดตามบริษัทเทคโนโลยีที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับการชะลอการจ้างงาน โดยพบว่าตัวเลขดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

 

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Amazon กล่าวว่า ได้ปลดพนักงาน 100,000 ตำแหน่งในไตรมาสปัจจุบัน และได้เพิ่มตำแหน่งงานในอัตราที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 

 

ขณะที่ Mark Zuckerberg ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Meta Platforms Inc. ระบุกับพนักงานว่า ตนมองว่าอาจเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising