×

ย้อนดู 4 นโยบายเศรษฐกิจพรรค ‘เพื่อไทย’ ในวันที่ไร้เงา ‘ก้าวไกล’ หากได้เป็นรัฐบาล ใครจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง?

04.08.2023
  • LOADING...
นโยบายเศรษฐกิจ เพื่อไทย

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ย้อนดู 4 นโยบายด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยผ่านคอนเซปต์ ‘เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส’ หวังกระตุ้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ให้เติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน การันตีเงินเดือนเด็กจบใหม่ 25,000 บาทต่อเดือน
  • มุมมองภาคเอกชนที่มีต่อนโยบายเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล และมั่นใจฝีมือแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ‘เศรษฐา ทวีสิน’
  • ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลใหม่ให้เร็วที่สุด หวังช่วยเหลือความเปราะบางธุรกิจ SME พร้อมเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วนต่อพรรคเพื่อไทยหากจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จ

แม้ ‘พรรคก้าวไกล’ และ ‘พรรคเพื่อไทย’ ประกาศแยกทาง พร้อมทั้งฉีก MOU ไปเป็นที่เรียบร้อย อีกทั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ก็ชัดเจนแล้วว่าอาจไม่ได้เห็นหน้าตารัฐบาลชุดใหม่ได้ในเร็ววัน เหตุจากการเลื่อนโหวตนายกรัฐมนตรีออกไปอย่างไม่มีกำหนด แต่สัญญาณการจัดตั้งรัฐบาลขั้วใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นยังคงตกเป็นของพรรคเพื่อไทย THE STANDARD WEALTH ชวนย้อนดู 4 นโยบายเศรษฐกิจมหภาคของพรรคเพื่อไทยในวันที่ไม่มีพรรคก้าวไกล หากเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล ใครจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง

 

สแกน 4 หัวใจนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

 

นโยบายพรรคเพื่อไทย ภาพรวมยึดหลักการบริหารประเทศด้วยคอนเซปต์ ‘เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส’ และวางเป้าหมายไว้ว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ GDP จะต้องเติบโตเฉลี่ยอย่างต่ำปีละ 5% และย้ำแนวคิด ‘รดน้ำที่ราก’ เพื่อให้ต้นไม้งอกงามทั้งต้น

 

หากดูไส้ในเฉพาะด้านเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยกำหนด 4 ประเด็น ดังนี้

 

1. นโยบายเพิ่มรายได้ภาคแรงงานและการจ้างงาน

 

โดยเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาทต่อวัน นโยบายนี้ ‘ไม่ได้ใช้แรงงานเป็นตัวประกัน’ แต่จะทำให้เศรษฐกิจโตขึ้น และแบ่งผลกำไรเหล่านี้กลับไปให้ภาคแรงงาน โดยการตกลงร่วมกันของไตรภาคี (นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) ตามหลัก ‘ทุนนิยมที่มีหัวใจ’ 

 

ภายใต้หลักการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะพิจารณาจาก 

  • การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) 
  • ผลิตภาพแรงงาน (Productivity)
  • อัตราเงินเฟ้อ (Inflation)

 

พร้อมทั้งเพิ่มเงินเดือนวุฒิปริญญาตรี เริ่มต้นที่ 25,000 บาทต่อเดือน ภายในปี 2570 รวมไปถึงข้าราชการ

 

2. ทุกครอบครัวต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 20,000 บาทต่อเดือน

 

โดยการทำงานนั้นจะเริ่มจากการสำรวจครัวเรือนทั่วทั้งประเทศเพื่อตรวจสอบรายได้และศักยภาพของประชาชนก่อน เพื่อให้ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงพร้อมกับการสร้างรายได้ผ่านมาตรการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย 1 ครอบครัว 1 Soft Power (OFOS)

 

หากรายได้ของครัวเรือนต่ำกว่า 20,000 บาท ก็จะเติมให้ถึง 20,000 บาทต่อเดือน จนกระทั่งครอบครัวมีรายได้เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ผู้รับสิทธิจะต้องลงทะเบียนผ่านแพลตฟอร์ม Learn to Earn เพื่อเสริมทักษะและหางาน และเพื่ออัปเดตข้อมูลทุก 6 เดือนเข้าระบบ

 

3. เงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ทุกคนใช้จ่ายใกล้บ้าน 4 กิโลเมตร

 

หลักการง่ายๆ คือ คนไทยทุกคนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปจะมี ‘กระเป๋าเงินดิจิทัล’ (Digital Wallet) ที่มีอายุการใช้งาน 6 เดือน สำหรับจับจ่ายใช้สอยสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตที่ไม่เกี่ยวข้องกับอบายมุข เงินดิจิทัลนี้จะใช้จ่ายได้เฉพาะกับร้านค้าชุมชนและบริการที่อยู่ในรัศมี 4 กิโลเมตร ส่วนในพื้นที่ห่างไกลจะพิจารณาเป็นกรณี เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคไปพร้อมกับการกระจายรายได้ในชุมชน ขณะเดียวกันร้านค้าสามารถนำเงินดิจิทัลมาแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารได้ ถือเป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลระยะยาว โดยพรรคเพื่อไทยตั้งเป้ายกระดับประเทศเข้าสู่การเป็นศูนย์กลาง FinTech

 

ทีมกุนซือด้านเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่คุ้นหน้าคุ้นตากันดี ได้แก่ กิตติรัตน์ ณ ระนอง, เผ่าภูมิ โรจนสกุล,

พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช,

ศุภวุฒิ สายเชื้อ, ปานปรีย์ พหิทธานุกร และ เศรษฐา ทวีสิน ในฐานะที่ปรึกษาและแคนดิเดตนายกฯ

 

4. สร้างประเทศด้วยนวัตกรรมและดิจิทัลผ่านเขตธุรกิจใหม่ (New Business Zone)

 

เขตเศรษฐกิจพิเศษและสิทธิประโยชน์ในการลงทุนที่รัฐบาลปัจจุบันได้ทำมา เป็นแค่คำพูดการตลาดที่จับต้องไม่ได้ และปัญหาหลักของประเทศไม่ได้ถูกแก้ไข การแก้กฎหมายช้าและทำไม่ได้จริง แต่พรรคเพื่อไทยจะเปลี่ยนทั้งหมดให้เป็นโอกาสด้วยกุญแจ 3 ดอก ด้วยการสร้างเขตธุรกิจใหม่ เพื่อ ‘ดึงเงินนอก ปลุกเงินใน เปลี่ยนเงินที่หลับใหล เป็นเงินที่สร้างเงิน’

 

โดยกำหนดเขตธุรกิจใหม่ 4 แห่งนำร่อง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และหาดใหญ่ ขับเคลื่อน Start-up และ SMEs สู่การสร้างรายได้ใหม่ให้แก่ประชาชน

 

นอกจากนี้ยังมีการสร้างแรงจูงใจทางภาษีให้เกิดการลงทุนในธุรกิจสมัยใหม่ เช่น ดิจิทัล เทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เทคโนโลยีการแพทย์ (MedTech) เพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพให้เศรษฐกิจภูมิภาค 

 

เขตธุรกิจใหม่รวมถึงธุรกิจห้างร้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ล้วนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ของคนที่หลั่งไหลเข้ามาทำงานมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในจังหวัดที่เป็นเขตธุรกิจใหม่ แต่จังหวัดข้างเคียงก็จะได้รับประโยชน์อย่างถ้วนหน้า

 

เอกชนมองนโยบายดิจิทัลมาถูกทาง พร้อมหนุน ‘เศรษฐา ทวีสิน’

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทีมเศรษฐกิจที่จะมาขับเคลื่อนพรรคเพื่อไทยมีจุดแข็งและมีประสบการณ์ แต่ก็ต้องดูกันอีกทีว่าโครงสร้างของแต่ละกระทรวงด้านเศรษฐกิจจะกระจายไปอยู่ที่พรรคร่วมหรืออยู่ในมือของพรรคเพื่อไทย 

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยทราบดีถึงการทำงาน ซึ่งสิ่งที่ห่วงขณะนี้ มองว่าการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนโดยรวมหนี้ในระบบ เช่น กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ และหนี้สหกรณ์อื่นๆ ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันอยู่ที่ 90.6% นั้น ความเป็นจริงแล้วยังไม่ได้รวมหนี้ที่อยู่นอกระบบจริงๆ เข้ามา ตรงนี้น่าห่วงเพราะมีเกือบ 20% ของระบบ ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลใหม่จะต้องเดินหน้าแก้ไขสิ่งที่กดทับกำลังซื้อของคนในประเทศ 

 

ส่วนนโยบายพรรคเพื่อไทยที่คิดว่าน่าสนใจและจะทำให้โมเมนตัมเศรษฐกิจทั้งประเทศเกิดขึ้นได้เร็วคือ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ถือเป็นระบบควบคุมการใช้จ่ายเงินได้ดี เพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดที่ผ่านมาคือ ต่อให้แจกเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สุดท้ายประชาชนอาจนำเงินส่วนนี้ไปใช้จ่ายในเรื่องการผ่อนรถ จ่ายหนี้อื่นๆ เงินไม่ได้เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อการสร้างงานสร้างเงิน แต่เป็นภาคของการใช้จ่ายมากกว่า 

 

จึงหวังว่านโยบายนี้จะสำเร็จ เพราะใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ แม้มีหลายฝ่ายมองว่าเป็นการสร้างหนี้เพิ่ม ซึ่งก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำแล้วคุ้ม เกิดโมเมนตัมเศรษฐกิจมหภาคก็ถือว่าดีต่อระบบ เพราะฉะนั้นนโยบายนี้ก็ขึ้นอยู่กับฝีมือที่ต้องมีความแม่นยำ การควบคุมอย่างตรงจุด ตรงตามเป้าหมายที่สุด

 

ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ชี้ ต่างชาติยังมองไทยเป็นฮับ EV ห่วงนักลงทุนอุตสาหกรรมใหม่อ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมือง

 

นักลงทุนต่างชาติยังมองไทยเป็นฮับ EV

 

ส่วนเรื่องสัญญาณการลงทุนจากต่างชาติก็ต้องดูรายประเทศ อย่างจีนมีการลงทุนอย่างแน่นอนในเรื่องห่วงโซ่อุปทานยานยนต์ไฟฟ้า EV เข้ามาต่อเนื่อง ส่วนญี่ปุ่นเข้าใจการเมืองไทยเพราะมีการลงทุนในไทยกว่า 40 ปี แต่ที่น่ากังวลคือกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ กลุ่มเทคโนโลยีชั้นสูง พลังงานสะอาด และเทคโนโลยีด้านความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่มาจากฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งกลุ่มนี้จะมีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์การเมืองมากกว่านักลงทุนเอเชียอย่างจีนหรือญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยเองก็อยากได้มาทดแทนอุตสาหกรรมเดิม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมก็ต้องการปรับโครงสร้างเพื่อยกระดับเทคโนโลยีขั้นสูง

 

“ทั้งนี้ สถานการณ์การเมืองยังไม่กระทบนักลงทุนที่จะเข้ามา เพราะไม่ว่าจะสหรัฐฯ หรือยุโรปต่างก็ต้องการย้ายฐานการผลิตและมองมาที่ไทย ทำให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะไทยที่จะตอบโจทย์มาก เพราะมีความพร้อมเรื่องพลังงานหมุนเวียนและมีการสนับสนุนธุรกิจจากภาครัฐ ซึ่งส่วนตัวก็เชื่อมั่นในฝีมือทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย” เกรียงไกรกล่าว

 

ด้าน ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย มองว่า นโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท และค่าแรง 600 บาท ของพรรคเพื่อไทยนั้น ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถทำได้ แต่ต้องเป็นไปอย่างเกื้อกูล พร้อมกับการบูรณาการโครงสร้างเศรษฐกิจ และที่สำคัญต้องสามารถต่อยอดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ไม่อยากให้เป็นลักษณะจุดประทัด ต้องดูโครงสร้างเศรษฐกิจควบคู่ไปด้วย

 

ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รอรัฐบาลใหม่ช่วยปลดล็อกความเปราะบางธุรกิจ SME

 

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยมองทีมเศรษฐกิจเพื่อไทยมีประสบการณ์ พร้อมเสนอ 5 มาตรการเร่งด่วน

 

ขณะที่ แสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า เศรษฐา ทวีสิน เป็นผู้ที่มีความเหมาะสม มีความรู้ในเรื่องเศรษฐกิจ น่าจะมีความเข้าใจปัญหาเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ดี สร้างความเชื่อมั่นเรื่องการค้าการลงทุน ในขณะที่ภาพรวมนโยบายพรรคเพื่อไทยก็มีประสบการณ์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ส่วนนโยบายภาค SME นั้นอาจยังไม่ชัดเจนมากนัก ดังนั้นหากพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จก็อยากให้เร่งแก้ไข 5 มาตรการเร่งด่วน คือ

 

  1. มาตรการปลุกเศรษฐกิจฐานราก กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น

 

  1. มาตรการแก้ไขปัญหาต้นทุน SMEs และค่าครองชีพประชาชน โดยโฟกัสไปที่การปฏิรูปโครงสร้างพลังงาน

 

  1. มาตรการเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ SMEs และฟื้นฟูหนี้ NPL สร้างแต้มต่อดอกเบี้ย SMEs และการส่งเสริมให้เกิดกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา SMEs

 

  1. มาตรการยกระดับทักษะขีดความสามารถ SMEs และภาคแรงงาน บ่มเพาะนวัตกรรม ดึงแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบ 

 

  1. มาตรการแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคของ SMEs

 

“เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าภาค SME เปราะบางด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย เศรษฐกิจของไทย ผู้ประกอบการรายย่อยก็เผชิญต้นทุนทั้งราคาพลังงาน ค่าแรง ค่าครองชีพ มิติอื่นๆ ล้วนมีผลต่อภาค SME เช่น หนี้ครัวเรือน การจัดตั้งรัฐบาลที่ล่าช้า”

 

หอการค้าหวังนโยบายเพื่อไทยเข็น GDP โต 5%

 

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า จากการพบปะ เศรษฐา ทวีสิน มองว่าพรรคเพื่อไทยมุ่งไปที่นโยบายยกระดับฐานราก เกษตร ยกระดับรายได้ และมุ่งเน้นนวัตกรรม เทคโนโลยีมาปรับใช้ หวังว่านโยบายของพรรคเพื่อไทยจะทำให้ GDP โตถึง 5%

 

ปิดท้ายด้วย วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย นายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผยว่า หาก เศรษฐา ทวีสิน เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ก็มองในแง่ธุรกิจและเศรษฐกิจถึงความถนัดและนำการบริหารได้ดี ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าจะพรรคร่วม พรรคฝ่ายค้าน หากไปด้วยกันได้ การบริหารเศรษฐกิจและการเมืองจะเดินหน้าได้ราบรื่น ท้ายที่สุดก็จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นการลงทุน

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising