×

เปิดนโยบายเศรษฐกิจ 6 พรรคการเมืองไม่เอา คสช.

07.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 MINS READ
  • ถือเป็นครั้งแรกที่ระดับแกนนำ 6 พรรคการเมืองสำคัญ มีโอกาสประกาศทัศนะและนโยบายด้านเศรษฐกิจ
  • 6 พรรคการเมืองเห็นตรงกันว่าการรัฐประหาร และการถดถอยทางการเมืองเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาเศรษฐกิจ

วันที่ 6 เดือนธันวาคม ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มีงานเสวนา ‘การปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้การเลือกตั้ง’ โดยมีตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมเสวนา 6 พรรคการเมือง ได้แก่

  1. จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ
  2. สมพงษ์ สระกวี ที่ปรึกษาพรรคเสรีรวมไทย
  3. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
  4. สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคภูมิใจไทย
  5. กิตติรัตน์ ณ ระนอง พรรคเพื่อไทย
  6. และธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

 

 

แม้การเสวนาดังกล่าวจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ยังไม่ปลดล็อกทางการเมืองของ คสช. แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ระดับแกนนำ 6 พรรคการเมืองสำคัญ ได้มีโอกาสประกาศทัศนะและนโยบายด้านเศรษฐกิจ

 

 

จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวย้อนถึงสภาพปัญหาโดยดูจากการดำเนินนโยบายและการบริหารประเทศ 4-5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่พบการปฏิรูปใดๆ แถมยังเสียโอกาส ศักยภาพของประเทศถอยหลัง มีความเหลื่อมล้ำมากยิ่งขึ้น เศรษฐกิจไทยโตเป็นอันดับต่ำสุดในอาเซียน ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยย่ำอยู่กับที่ และยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำรุนแรง สิ่งเหล่านี้ไม่มีอะไรที่เป็นการปฏิรูปชัดเจน มาตรการหลายอย่างซ้ำเติมปัญหาดังกล่าว เช่น การกระตุ้นช้อปช่วยชาติ ที่ผู้ได้ผลประโยชน์คือธุรกิจขนาดใหญ่ คนที่จ่ายเงินเป็นคนที่ไม่ต้องการจะจ่ายเงิน แต่ควรจะออมเงินด้วยซ้ำ นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องการท่องเที่ยวก็ยังไม่มีความยั่งยืน และยังมีปัญหาความไม่ระมัดระวังของผู้นำประเทศไทยในการพูด ที่พูดแต่ละทีนักท่องเที่ยวก็ลดลง เรามีปัญหาในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ระบบงบประมาณเสียวินัยอย่างร้ายแรง เช่น การโอนงบจากกระทรวงต่างๆ มาเป็นงบกลางแล้วใช้ตามใจชอบ ตรงนี้จะทำให้ระบบเสีย

 

 

ในเวทีเดียวกันนี้ จาตุรนต์ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาลประชาธิปไตยจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งต้องใช้ประโยชน์จากการมีนโยบายประชาธิปไตยที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมและกำหนดนโยบาย

 

สำหรับเรื่องใหญ่ๆ ทางเศรษฐกิจที่ต้องทำ จาตุรนต์เห็นว่าต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่นต่อระบบเศรษฐกิจไทย โดยทำในเรื่องที่เขา (นักลงทุน) ไม่เชื่อถือ เช่น หลักนิติรัฐ การเข้าไปแทรกแซงโดยรัฐ และเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองต้องช่วยกัน

 

ส่วนการส่งออกของไทยหลังๆ ที่เติบโตน้อยมาก ต้องเร่งเอา FTA 12 ฉบับที่ตกลงไว้แล้วกลับมาเจรจาอีกครั้ง

 

ขณะที่การท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ผ่านมา เมืองไทยในอนาคตจะมีคนมาเที่ยวเท่าๆ กับคนในประเทศ แต่ถ้าไม่มีความพร้อม ระบบคมนาคม ความปลอดภัย เราจะไปตันอยู่แค่ 35-40 ล้านคนต่อปี

 

ส่วนการดึงการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งต้องมีมาตรการอื่นๆ นอกจากมาตรการทางภาษี การจัดงบประมาณต้องจัดใหม่ กู้หลักวินัยการคลังกลับคืนมา เนื่องจากที่ผ่านมาเสียหายที่สุด มีทั้งตั้งงบประมาณกลางปี เอางบของ กสทช. มาใช้ดื้อๆ เป็นต้น

 

นอกจากนี้ยังต้องเตรียมรับสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ ดูแลเรื่องการผูกขาดอย่างจริงจัง และต้องกระจายรายได้โดยให้คนเข้าถึงทุน เข้าถึงความรู้ในการทำธุรกิจสมัยใหม่ เน้นสร้างรายได้ให้คนจำนวนมาก ไม่ใช่เอาเงินมาแจกแบบให้เปล่า

 

 

สมพงษ์ สระกวี ที่ปรึกษาพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ ประกาศด้วยความปีติว่า มีคนจนมาลงทะเบียน 14.5 ล้านคน เพิ่มจากต้นปีที่มี 11 ล้านคน แทนที่รัฐบาลจะตกใจแต่กลับปีติยินดี

 

ในเวลาเดียวกันประเทศไทยเผชิญปัญหาคนรวยที่สุด 1% ครอบครองทรัพย์สิน 66.9% เด็กไทย 6-8 แสนคนหลุดจากระบบการศึกษา เพียงเพราะผู้ปกครองไม่มีเงิน

 

“ผมอยู่ทางใต้ ยาง 3 กิโลฯ 100 บาท มีคำพูดว่าครอบครัวก็อด รถถูกยึด และลูกต้องออกจากโรงเรียน นี่คือปัญหาใหญ่ในรอบ 4-5 ปีของรัฐบาลอำนาจนิยม” สมพงษ์ กล่าว

 

ขณะที่นโยบายของพรรคเสรีรวมไทยมีความเข้มข้น รัฐบาลกำลังชื่นชมกับตัวเลขจีดีพีที่สวยหรู แต่พอไปดูภาคเกษตรกรรม สินค้าเกษตรที่เกี่ยวข้องกับประชากร 30 ล้านคน ตกต่ำยิ่งกว่าตกต่ำ

 

พรรคเสรีรวมไทยจึงเสนอการปฏิรูปเศรษฐกิจภาคเกษตรเร่งด่วน โดยระยะแรกเป็นตายอย่างไร ราคาสินค้าเกษตรจะต้องเพิ่มในระดับสมเหตุสมผล อาทิ ข้าว 1.5 หมื่นบาท/ตัน ยาง 60-80 บาท/กิโลกรัม ปาล์ม 4-4.50 บาท/กิโลกรัม โดยผ่านการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศ

 

ส่วนระยะยาวจะต้องเพิ่มศักยภาพของวัตถุดิบ เพิ่มมูลค่าวัตถุดิบที่มีอยู่ โดยจะไม่ขายวัตถุดิบอีกต่อไป เราจะไม่มาภูมิใจกับการเป็นแชมป์ส่งออกยางดิบ แต่จะเป็นแชมป์ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่ดีที่สุดของโลกให้ได้

 

 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เรื่องปัญหาเศรษฐกิจหลายปัญหาต้องยอมรับก่อนว่าเป็นปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาที่หลีกหนีได้ยาก เช่น แนวโน้มที่เกิดจากเทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจ ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความถดถอยทางการเมือง โครงสร้างสังคมที่ก้าวสู่ปัญหาสูงวัยอย่างรวดเร็ว ผู้บริหารไม่สามารถปรับแนวความคิดให้ทันกับยุคสมัย ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง และยังอยู่กับชุดความคิดเดิมๆ คือ คิดแบบอำนาจนิยม ต้องมีศูนย์รวมอำนาจให้ภาครัฐควบคุมเป็นสำคัญ และความสงบเรียบร้อยสำคัญกว่าสิ่งใดๆ จึงไม่สอดคล้องกับความสร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์ต้องการเสรีภาพ ตรงนี้สะท้อนว่าเขาไม่เข้าใจว่าสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกัน สุดท้ายก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า คือ ลด แลก แจก แถม ดังนั้นพรรคการเมืองต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่า จะทำให้ปัญหาเหล่านี้หมดไปจากประเทศได้ เราต้องยอมรับว่าปัญหามีอยู่จริง และมีหลักการที่ชัดเจน ถ้าเราทำได้ ก็จะทำให้การเลือกตั้งครั้งต่อไปเป็นการแข่งขันทางความคิด สามารถนำการเลือกตั้งไปสู่ประชาธิปไตยได้

 

 

อภิสิทธิ์ กล่าวถึงแนวคิดปฏิรูปเศรษฐกิจว่า ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจแบบเดิมๆ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป GDP โตทุกปี แต่หลายจังหวัดภาคใต้รายได้ลดลง 20-30%

 

สิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์จะทำคือ สร้างตัวชี้วัดใหม่ที่สะท้อนคุณภาพความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไป คำนึงถึงคนที่มีรายได้ปานกลาง-น้อยเป็นสำคัญ และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม

 

ขณะที่การทำโครงการเราเคยประเมินแต่ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและการเงิน แต่พรรคประชาธิปัตย์จะเสนอให้ประเมินผลกระทบต่อการกระจายรายได้ นั่นหมายความว่าทุกโครงการทำแล้วต้องรู้ว่าใครได้ ใครเสียอะไร

 

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การประกันรายได้ ย้ำว่าประกันรายได้ไม่ใช่ประกันราคา รวมถึงสวัสดิการยังจำเป็น

 

นอกจากนี้ยังต้องการขจัดการผูกขาด โดยกำหนดกติกาให้ชัดว่าจะใช้ทรัพยากรที่ถูกผูกขาดตรงนี้อย่างไร รวมถึงต้องกระจายอำนาจ และเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด

 

 

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ กลุ่มคนรุ่นใหม่ภูมิใจไทย กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจนั้น เมื่อดูโพลจะพบว่า ประชาชนต้องการให้ 1. แก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร 2. พัฒนาเศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยว 3. พูดจริงทำจริง พัฒนาจังหวัดท้องถิ่น และ 4. พัฒนาระบบขนส่งมวลชน การศึกษา พลังงานและสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดเป็นปัญหาที่คู่ประเทศไทยมาตลอด เราพยายามแก้แต่ไม่สำเร็จ วิธีการบริหารของภาครัฐที่ผ่านมาเน้นความคุ้มค่ามากกว่าให้โอกาส คนต่างจังหวัดถามตัวเองหลายครั้งว่าทำไมเราไม่มีถนนสี่เลน ซึ่งรัฐเลือกจะไปสร้างที่เมืองใหญ่ก่อน เนื่องจากมีรถเยอะกว่า รัฐบาลพยายามแก้หลายอย่างเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน แต่สุดท้ายยังไม่เคยเห็นคนรวยคนไหนเดือดร้อนเพราะภาษีเหล่านี้ แต่คนที่รับภาระคือคนชั้นกลางและคนชั้นล่าง นอกจากนี้การกระจายอำนาจในอดีตไม่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง นี่คือปัญหาที่ภูมิใจไทยมองเห็น และเป็นที่มาของความต้องการลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน

 

 

ขณะที่นโยบายปฏิรูปเศรฐกิจของพรรคภูมิใจไทย เสนอแนวคิด ‘Profit Sharing’ สินค้าเกษตร นำกำไรจากชาวนา โรงสี และผู้ส่งออกมาแบ่งในสัดส่วนเกษตรกร 70% โรงสี 15% และผู้ส่งออก 15%

 

โดยเมื่อเราทดลองเฉพาะราคาข้าวหอมมะลิ ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่า โรงสีเพิ่มขึ้น 20% ผู้ส่งออกมีรายได้ลดลง ผู้บรรจุข้าวถุงมีรายได้ลดลง ถ้าแนวคิดนี้เกิดเป็นนโยบายได้ เราจะหลุดจากวงจรแทรกแซงราคาโดยรัฐ

 

นอกจากนี้โอกาสที่ต่างกันในการเข้าถึงแหล่งทุนระหว่างชนชั้นกลางกับคนจน และการเข้าถึงการศึกษา ภูมิใจไทยจึงเสนอ ‘Thailand Sharing University’ ซึ่งคือการเรียนออนไลน์เป็นทางออกให้กับเด็กที่อยากจะเรียนในสิ่งที่ตัวเองชอบ

 

สิริพงศ์ ยังพูดถึงแนวคิด Sharing Economy โดยทุกคนต้องหารายได้ได้ในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน โดยเรามีหน้าที่มองหาโอกาสให้กับประชาชน กฎหมายที่เป็นอุปสรรคกับการทำมาหากิน ภูมิใจไทยจะแก้ไข

 

 

กิตติรัตน์ ณ ระนอง พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เราต้องให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้ ภาวะจนกระจุกรวยกระจายก็จะดีขึ้น และรักษาเสถียรภาพของราคาสินค้าเศรษฐกิจ การที่เราจะเห็นเศรษฐกิจที่ดีได้ การส่งออกยังเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องมีกลไกที่แข็งแรง กลไกของความไม่เป็นประชาธิปไตยให้ร้ายทุกประเด็นที่กล่าวมา ทั้งการส่งออก ประเทศคู่ค้าหยุดชะงัก การบูรณาการ หนีไม่พ้นการทำงานด้านเศรษฐกิจ หากภาครัฐออกกฎระเบียบและกฎหมายมากมายเราต้องลดทอนลง มิเช่นนั้นผู้ประกอบการธุรกิจก็จะดำเนินการได้ยาก เพราะติดขั้นตอนต่างๆ ของกฎหมาย ในขณะที่ภาคธุรกิจที่เขาทำงานอย่างไม่สนใจกฎหมายเขาก็ทำต่อไปโดยที่ไม่สนใจกฎระเบียบ ภาครัฐต้องจัดงบประมาณตัวเองให้เหมาะสมเพื่อสนับสนุนและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

 

 

ขณะที่นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ ต้องปลอดปล่อยพันธนาการทางเศรษฐกิจด้วยการปรับโครงสร้างราชการ เปลี่ยนจากผู้บังคับใช้อำนาจสู่ผู้อำนวยความสะดวก ส่งเสริมการแข่งขัน ลดกฎระเบียบที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามรัฐจำเป็นต้องแทรกแซงสินค้าเกษตรระดับหนึ่ง

 

 

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ทุกพรรคจะเสนอเรื่องที่ก้าวหน้า และค่อนข้างมองปัญหาและทางออกไปในทางเดียวกัน ปัญหาของไทยคือยิ่งโตยิ่งเหลื่อมล้ำ ถูกประเทศเพื่อนบ้านทิ้งห่าง กลุ่มทุนรายใหญ่ได้รับประโยชน์จากโครงการของรัฐ ทรัพยากรกระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ ซึ่งเราจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้เลย หากไม่พูดถึงและจัดการโครงสร้างบางอย่างที่กดทับสังคมอยู่ โครงสร้างดังกล่าวทำให้คนกลุ่มชนชั้นนำมีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองเหนือคนกลุ่มอื่น ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1. ทศวรรษ 2500 เป็นการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า 2. ทศวรรษ 2520 เป็นการผลิตเพื่อส่งออก และ 3. ทศวรรษ 2540 ใช้ Dual-Track คืออาศัยการส่งออกควบคู่การส่งเสริมการลงทุนภายในประเทศ ขณะนี้ทุกคนกำลังมองหาคลื่นลูกที่ 4 ในการผลักดันให้ประเทศพ้นกับดักรายได้ปานกลาง ซึ่งทุกวันนี้ตนยังไม่เห็นว่ามีใครที่เสนอเรื่องนี้อย่างชัดเจน

 

 

สำหรับนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ พรรคอนาคตใหม่เสนอให้ปลดล็อกการผูกขาดที่ดำรงอยู่ในประเทศไทยในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งทุนผูกขาดส่วนใหญ่นอนเตียงเดียวกับขุนทหาร เช่น ยกเลิกการผูกขาดภาคธนาคาร ซึ่งไทยเป็นประเทศที่ผูกขาดธนาคารมากที่สุดในโลก

 

นอกจากนี้ยังเสนอเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นสู่การจัดการตัวเอง และสร้างอุตสาหกรรมในไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย ภายใต้ 4 เงื่อนไข ได้แก่ 1) ต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีฐานการผลิตในเมืองไทย 2) สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ 3) เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และ 4) เป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในประเทศ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising