×

กูรูเผย 10 แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2022 เตือนนักลงทุนตั้งรับจีนโตช้า-กับดักหนี้-เงินเฟ้อจากพลังงานสะอาด

04.01.2022
  • LOADING...
Economic Outlook 2022

เว็บไซต์ข่าวหนังสือพิมพ์ Financial Times เผยบทวิเคราะห์ 10 ทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2022 โดยมีเป้าหมายเพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกเตรียมพร้อมตั้งรับและเผชิญกับความท้าทายที่จะมาถึง โดย รูเชียร์ ชาร์มา (Ruchir Sharma) หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุนในตลาดโลกของฝ่ายบริหารจัดการการลงทุน Morgan Stanley ซึ่งระบุชัดเจนว่านักลงทุนควรใส่ใจกับเทรนด์เศรษฐกิจดังกล่าวในปีที่การระบาดของโควิดยังมีผลต่อการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจโลก แม้จะไม่ได้เปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ก็เป็นหนึ่งในตัวการหลักที่กระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายสิ่ง

 

ทั้งนี้ หัวหน้านักกลยุทธ์ของ Morgan Stanley ประเดิมเทรนด์เศรษฐกิจโลกด้วยแนวโน้มประชากรโลกที่ลดลงเนื่องจากโควิด ทำให้คู่รักและสามีภรรยาทั่วโลกหมดความต้องการหรือลดความอยากที่จะมีลูก เพราะไม่อยากเห็นเด็กๆ ต้องมาเผชิญกับโลกในยุคล็อกดาวน์ ซึ่งจำนวนประชากรโลกที่ลดลงจะทำให้การขยายตัวเติบโตทางเศรษฐกิจโลกลดลงตามไปด้วย โดยขณะนี้พบว่ามี 51 ประเทศแล้วที่มีจำนวนประชากรในวัยแรงงานลดลง เพิ่มขึ้นมา 17 ประเทศจากปี 2000

 

เทรนด์เศรษฐกิจที่ 2 ก็คืออัตราการเติบโตของจีนที่ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอัตราการเกิดที่ลดน้อยลง ทำให้รัฐบาลจีนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายที่สุดขึ้น โดยตัวเลขที่ปี 2021 ชี้ว่าอัตราการโตของเศรษฐกิจจีนคิดเป็น 1 ใน 4 ของ GDP โลก ซึ่งลดลงก่อนเกิดวิกฤตการระบาดที่เศรษฐกิจจีนคิดเป็น 1 ใน 3 ของ GDP โลก และท่าทีของจีนก็เริ่มส่งสัญญาณชัดเจนจากนโยบายที่เน้นการพึ่งพาการเติบด้วยตนเอง กลายเป็นการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น อาจเรียกได้ว่าหมดยุคที่เศรษฐกิจจีนจะเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกต่อไป

 

ส่วนเทรนด์ที่ 3 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือกับดักหนี้ที่พอกพูนสั่งสมมาตลอดในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา และการระบาดของโควิดก็ทำให้ระดับหนี้ของหลายประเทศทั่วโลกพุ่งทะยานอย่างรวดเร็ว โดยมีปัจจัยหลักมาจากภาครัฐที่เดินหน้ากู้เงินมหาศาลเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดในช่วงล็อกดาวน์ ในจำนวนนี้มีถึง 25 ประเทศ ครอบคลุมสหรัฐอเมริกาและจีน ที่มีระดับหนี้สูงกว่า GDP มากกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ แต่หลายประเทศอาจไม่สามารถหยุดก่อหนี้ได้ เพราะไม่อยากเสี่ยงกับภาวะล้มละลายในภาคธุรกิจจนนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจล่ม

 

ด้านเทรนด์ที่ 4 ที่ต่อเนื่องมาจากช่วงปลายปี 2021 ก็คืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ด้วยจำนวนวัยทำงานที่ลดลง รัฐกระตุ้นการใช้จ่ายแบบสุดตัว และหนี้สาธารณะที่พอกพูน ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มมากขึ้น กระนั้น ในมุมมองของชาร์มากล่าวว่า เงินเฟ้อในครั้งนี้อาจไม่เหมือนกับภาวะเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษที่ 1970 อย่างที่ใครหลายคนหวั่นเกรง เนื่องจากในปี 2022 รัฐบาลหลายประเทศมีแนวโน้มจะหาหนทางลดการใช้จ่ายของตนลงได้ และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและดิจิทัลจะทำให้ต้นทุนราคาถูกลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระวังก็คือราคาของสินทรัพย์ในตลาดการเงินที่ขยายตัวจนมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจโลกถึง 4 เท่า

 

เทรนด์ที่ 5 คือ Greenflation หรือภาวะเงินเฟ้อจากกระแสรักษ์สิ่งแวดล้อม เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ส่งผลให้ราคาพลังงานสะอาดมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากนโยบายสีเขียวเพื่อสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลประเทศต่างๆ สวนทางกับการลงทุนในเหมืองถ่านหินและน้ำมันที่จะลดน้อยลง ผลลัพธ์ที่ได้ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อในพลังงานสะอาด ซึ่งรวมถึงแร่โลหะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Green Metals อย่างทองแดงและอะลูมิเนียม โดยมีแนวโน้มว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์สีเขียวมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1973

 

เทรนด์ที่ 6 คือความย้อนแย้งในเรื่องของผลิตผลหรือผลงาน โดยชาร์มาอธิบายว่า ความย้อนแย้งดังกล่าวก็คือการที่ทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่าการปรับตัวนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้งานในช่วงโควิดระบาดไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มผลผลิตหรือผลงานแต่อย่างใด และยิ่งดิจิทัลทำให้ชั่วโมงการทำงานของคนเพิ่มมากขึ้น หมายความว่าสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ก็ยิ่งทำให้ผลงานของคนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

 

เทรนด์ที่ 7 คือ Data Localization ซึ่งหมายถึงการเก็บรักษาข้อมูลต้องอยู่ภายในภูมิภาคหรือประเทศเดียวกันกับที่ที่ข้อมูลนั้นเกิดขึ้น ชาร์มาอธิบายว่า เนื่องจากการระบาดทำให้การเคลื่อนย้ายไหวเวียนทางการค้า ผู้คน และการเงินติดขัดไปหมด ยกเว้นข้อมูลข่าวสาร อันเป็นผลจากความก้าวหน้าของโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้รัฐบาลหลายชาติหวั่นเกรงว่าวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตจะไปไกลกว่าที่รัฐบาลจะควบคุมได้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ในช่วงปี 2022 จะเห็นรัฐบาลออกมาตรการสกัดขัดขวางไม่ให้ข้อมูลไหลเวียนข้ามพรมแดนได้อย่างง่ายดาย โดยมีรัฐบาลจีน อินเดีย และซาอุดีอาระเบียที่เริ่มดำเนินการแล้ว

 

ด้านเทรนด์ที่ 8 คือ ภาวะ ‘ฟองสบู่หดตัว’ (Bubble Deflation) นักลงทุนหลายคนอาจกังขา เพราะดูจะเป็นเทรนด์ที่สวนทางกับยุคฟองสบู่ในปัจจุบันที่ปรากฏให้เห็นแทบจะในสินทรัพย์ทุกอย่าง โดยเฉพาะในกลุ่มเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และคริปโตเคอร์เรนซี อย่างไรก็ตาม ชาร์มาชี้ว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาราคาของสินทรัพย์ในตลาดทั้งหมด รวมถึงตัวที่มีฟองสบู่ชัดเจนต่างปรับตัวลดลงเฉลี่ย 35 เปอร์เซ็นต์จากระดับสูงสุด เป็นสัญญาณว่าฟองสบู่กำลังหดตัว กระนั้นข่าวดีก็คือภาวะฟองสบู่หดตัวดังกล่าวมักจะคัดกรองให้ผู้ที่แข็งแกร่งแท้จริงเหลือรอดเท่านั้น

 

สำหรับเทรนด์ที่ 9 คือ นักลงทุนรายย่อยชะลอความร้อนแรงในการลงทุน หลังจากที่แห่แหนเข้ามาลงทุนอย่างอุ่นหนาฝาคั่งในช่วงปีที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดทั่วโลกอยู่ในภาวะคึกคักที่สุดในรอบ 13 ปี โดยชาร์มากล่าวว่า นักลงทุนรายย่อยในปี 2022 จะเริ่มคิดรอบด้านและรอบคอบในการลงทุนมากขึ้น แม้ว่าตลาดจะมีความเสี่ยงน้อยลงก็ตาม เพราะไม่อาจกู้ยืมเงินมากลงทุนได้ง่ายๆ เหมือนที่ผ่านมา

 

และเทรนด์ที่ 10 ซึ่งเป็นเทรนด์สุดท้ายก็คือ เศรษฐกิจจริงยังคงมีความสำคัญ โดยคำว่าเศรษฐกิจจริงของชาร์มานี้หมายถึงเศรษฐกิจที่จับต้องได้ หรือ Physical Economy หลังจากที่เศรษฐกิจ Metaverse ทำให้ใครหลายคนหันไปเห่อกระแสโลกเสมือน โดยชาร์มากล่าวชัดเจนว่า ต่อให้เทคโนโลยีอนาคตเลิศล้ำแค่ไหน ความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติของมนุษย์ไม่เคยลดลง ยกตัวอย่างเช่นรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาแทนที่น้ำมัน ซึ่งแม้จะทำให้การใช้น้ำมันลดลง แต่การใช้แร่อย่างทองแดง (Copper) จะเพิ่มสูงขึ้นแทน และที่สำคัญต่อให้มีโลกอวตาร แต่ทุกการอวตารก็คือมนุษย์ ดังนั้นโลกที่ขาดแคลนมนุษย์ซึ่งเท่ากับเป็นการขาดแคลนแรงงาน ทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น แม้ในงานที่ระบบอัตโนมัติสามารถเข้ามาทำงานได้ก็ตาม แต่ก็ไม่อาจแทนที่แรงงานคนได้ทั้งหมด

 

อ้างอิง:


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X