×

โควิด-19 เร่งไทยเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล รัฐต้องบูรณาการ ธุรกิจต้องปรับ คนต้องพัฒนา

31.05.2020
  • LOADING...

เริ่มต้นเซสชันบ่ายของวันสุดท้ายสำหรับ THE STANDARD ECONOMIC FORUM ด้วยหัวข้อ ‘Digital Transformation เมื่อไวรัสบังคับให้โลกหมุนไว เราจะชนะได้อย่างไร’ ภายใต้การร่วมเสวนาของ สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน), อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด และ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี สุทธิชัย หยุ่น เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

 

เปิดฉากการเสวนาผ่านมุมมองของสมชัยต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) ในไทย โดยระบุว่า เป็นที่พูดถึงมาอย่างน้อย 4-6 ปีแล้ว แต่โควิด-19 กระตุ้นและบังคับให้ต้องปรับตัวเร็วขึ้น โดยมองว่าความปกติวิถีใหม่ (New Normal) ควรจะเป็นความปกติที่ควรทำมานานแล้ว

 

เทคโนโลยีมีความพร้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะในแง่ของอุปกรณ์ที่ราคาถูกลง หรือโครงข่ายที่พัฒนาขึ้นมาถึงระดับ 5G ที่มีคุณสมบัติด้านความเร็ว ความหน่วงต่ำ (Low Latency) และมีขอบเขตมหาศาล (Mass Scale)

 

ความพร้อมทั้งแง่เทคโนโลยีและพฤติกรรมนี้ ไทยมีความพร้อมมากขึ้น และเปิดโอกาสให้กระบวนการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization) เกิดได้มากขึ้น

 

โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลช่วยเหลือความสะดวกสบาย ลดต้นทุนได้อย่างมหาศาล และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สมชัยชี้ว่า โควิด-19 ทำให้เห็นความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านตรงนี้ว่าจำเป็นต่อการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) และการปรับโมเดลธุรกิจแบบใหม่ โดยเขาเชื่อว่า ทุกคนจำเป็นต้องเผชิญกับความกลัว เพื่อเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับพฤติกรรมใหม่

 

เพื่อการรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ต้องปรับ เช่นเดียวกับภาครัฐ หากจะผลักดันให้เกิดไทยแลนด์ 4.0 ขึ้นนั้น ภาครัฐต้องมีการบูรณาการการทำงานและแผนให้มากขึ้น เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้สนับสนุนมากกว่าผู้ควบคุมด้วยการแก้ไขกฎหมายให้พร้อม และต้องใช้ทรัพยากรที่เข้าถึงให้เกิดประโยชน์มากที่สุด

 

ในมุมมองของการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อภิรัตน์เห็นความสำคัญในการเริ่มจากตัวบุคคลผ่านการเปลี่ยนวิธีคิด (Mindset) และต้องท้าทายสภาพที่เป็นอยู่ (Status Quo) ความปกติใหม่ (New Normal) อันเป็นความเปลี่ยนแปลงจากโควิด-19 กระตุ้นให้ความท้าทายเหล่านี้เกิดขึ้นโดยไม่หยุดเพียงแค่เรื่องของดิจิทัล แต่ยังรวมไปถึงการทำงาน จนทำให้เห็นภาพของการทำงานจากบ้าน (Work from Home) และเห็นว่าประสิทธิภาพไม่เสียไป

 

อย่างไรก็ตาม ความปกติใหม่บางอย่างจะอยู่ถาวรและบางอย่างจะหายไป โดยในส่วนหลังอาจมองได้ว่าเกิดขึ้นจากความกลัวหรือโดนบังคับ แต่หากมีทางแก้อย่างวัคซีนขึ้นแล้ว ก็จะหมดไป เพราะความปกตินี้มีคุณค่า (Value) น้อยกว่าแรงเสียดทาน (Friction) ในทางกลับกัน หากคุณค่ามากกว่าแรงเสียดทาน ก็จะทำให้พฤติกรรมนั้นๆ คงดำเนินต่อไป

 

สำหรับขั้นต่อไป อภิรัตน์ระบุว่า ภายใต้สถานการณ์อย่างโควิด-19 ภาคธุรกิจต้องเข้าใจและตามความรู้สึกอ่อนไหว (Sentiment) ให้ทัน ว่าผู้บริโภครู้สึกอย่างไรในช่วงนี้ การเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่าสิ่งอื่นๆ (Preference) ว่าเขาจะเลือกอะไร อย่างโจทย์หลักในปัจจุบัน อย่างความปลอดภัยหรือความหรูหรา และพฤติกรรม โดยส่วนหนึ่งต้องเข้าใจว่าความปกติใหม่ไม่ได้เท่ากันทุกคนและทุกที่ เมื่อเข้าใจส่วนนี้ ธุรกิจก็ต้องปรับเปลี่ยนในระดับหลัก (Core) อย่างการเอาฉากมากั้นระหว่างโต๊ะในร้านอาหารที่เป็นการทำเพื่อให้ธุรกิจหลักดำเนินไปได้ หลังจากนั้นจึงมาขยายธุรกิจเดิมไปหาโอกาสใหม่ (Adjacent) และใช้เทคโนโลยีสร้างโอกาสธุรกิจใหม่ด้วยโมเดลธุรกิจใหม่ (New Business Model) 

 

โควิด-19 ปลุกให้ตระหนักความสำคัญว่าแรงงานใหม่ๆ จะสร้างรายได้ให้ไทยในฐานะประเทศสูงวัยได้อย่างไร โดยคำตอบหนึ่งอาจมาจากเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) และสตาร์ทอัพ ซึ่งจะข้ามผ่านไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีคิด พัฒนาบุคคล พัฒนาทักษะ แล้วจึงเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี ก่อนยกตัวอย่างว่าไทยถือเป็นศูนย์กลางการแพทย์ และเราสามารถพัฒนาระบบการแพทย์ระยะไกล (Remote Medication) ได้

 

ด้านธนวัฒน์เห็นด้วยกับผู้ร่วมเสวนาอีกสองท่านในประเด็นความพร้อมและประเด็นคุณค่ากับแรงเสียดทาน ก่อนคาดการณ์ว่า โควิด-19 ผลักให้เกิดระบบผสม (Hybrid) ไม่ว่าจะในที่ทำงานหรือสถานศึกษา เนื่องจากเห็นถึงความเป็นไปได้ในการลดความจำเป็นทางกายภาพลง (Physicality) และเทคโนโลยีสามารถทำให้เราติดตาม เก็บข้อมูลของ Engagement ได้ จนทำให้ขอบเขตของโลกเสมือนจับเข้าได้กับทุกอุตสาหกรรม โดยยกตัวอย่างโรงพยาบาลใช้ Chatbot เพื่อประเมินอาการของประชาชนได้โดยไม่ต้องเสี่ยงติดเชื้อจากการเดินทางไปหาหมอถึงที่

 

แม้ถูกตั้งคำถามจากผู้ดำเนินรายการว่า ทิศทางอาจไม่ได้อยู่แค่ระบบผสม แต่อาจไปทางใดทางหนึ่งเลย อภิรัตน์ยังคงยืนยันเช่นเดิม พร้อมขยายเพิ่มเติมว่า เวลาคิดจินตนาการภาพใหม่ (Reimagine) อาจจะต้องไปให้สุดทาง เพื่อเข้าใจขีดความสามารถของเทคโนโลยี แต่ในแง่ของการใช้อาจอยู่กลางๆ แบบระบบผสมไปก่อน

 

ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล อภิรัตน์ได้เน้นย้ำความสำคัญของความเชื่อใจและความปลอดภัยบนดิจิทัลด้วย

 

เทคโนโลยีใหม่ๆ เอื้อต่อการเรียนรู้และสร้างทักษะใหม่ (Reskill) ทำให้โอกาสของภาคธุรกิจมีมหาศาลมาก ในส่วนของ SMEs และสตาร์ทอัพ มีความไวในการปรับตัวรับมากกว่าบริษัทใหญ่ๆ แต่อาจขาดปัจจัยด้านธุรกิจ 

 

สำหรับความท้าทายจากอัตราการว่างงาน ธนวัฒน์มองว่า ทุกคนต้องมี Growth Mindset เพื่อเรียนรู้ทุกอย่าง ไม่ใช่รู้ทุกอย่าง (Learn it all not know it all) ดังนั้น การพัฒนาทักษะทางดิจิทัลเพื่อป้อนเข้าตลาดมีความสำคัญและยังตอบโจทย์ภาคธุรกิจด้วย

 

เมื่อเริ่มต้นช่วงการถามตอบ (Q&A) นั้น ธนวัฒน์กล่าวถึงคำถามประเด็นความมั่นคงทางไซเบอร์ว่า เทคโนโลยีสามารถยกระดับความมั่นคงของบริษัทได้ผ่านระบบรับรองความถูกต้อง (Authenticate) และผู้ประกอบการจำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้ไม่ต่างไปจากการลงทุนติดกล้องวงจรปิด ในส่วนการใช้งาน ผู้บริโภคต้องตระหนักว่าข้อมูลของตัวเองมีค่าและจำเป็นต้องตรวจสอบการมอบความยินยอม (Consent) ทุกครั้ง

 

อภิรัตน์ได้ตอบคำถามเพิ่มเติมถึงการเปลี่ยนผ่านองค์กรว่า ต้องทำให้สะดวกและเป็นมิตร เพื่อเอื้อต่อการก้าวข้าม พร้อมเข้าใจว่า คนในองค์กรอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ Early adopter, Early follower และ Late follower โดยการมาของโควิด-19 ทำให้คนกลุ่มสามขยับตัวมาอยู่ในกลุ่มสองมากขึ้น นอกจากนี้องค์กรต้องเปลี่ยนตัวเองให้ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมากขึ้น

 

ผู้บริหารจากเอสซีจีรายนี้ได้ยังมองอีกว่า ปัจจุบันไทยมีทรัพยากรมนุษย์พอและไม่พอ โดยเราจำเป็นต้องขยายมุมมองให้กว้างกว่าการฝึกอบรมที่เป็นทางการ (Formal training) หรือปริญญา (Degree) เท่านั้น การทำเช่นนี้จะช่วยให้เห็นคนที่มีความสามารถมากขึ้น

 

ช่วงท้ายของการเสวนาปิดลงด้วยคำถามจากผู้ชมถึงความสำคัญที่ภาครัฐ เอกชน และประชาชน ควรเริ่มทำเพื่อดูดซับเทคโนโลยีให้มากขึ้น ทางธนวัฒน์ชี้ว่า ทุกส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อการพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้มีความพร้อมในการรับมือความไม่แน่นอน ขณะเดียวกันอภิรัตน์มองว่า ภาคประชาชนสามารถพัฒนาความรู้ได้ผ่านทางออนไลน์ และเพิ่มทักษะการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น ส่วนสำหรับภาครัฐเองควรลดต้นทุนเทคโนโลยีอย่าง 5G เพื่อสร้างแต้มต่อและให้การสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising