×

ประจักษ์ ชี้การเมืองของความไว้วางใจ คือปัจจัยการจัดการและรับมือกับวิกฤต รัฐ-ราชการต้องยอมปรับตัว

30.05.2020
  • LOADING...

งานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM ในวันที่สอง ในหัวข้อ A New Era of Nation States นิยามใหม่ของรัฐชาติหลังโควิด-19 โดย เกษียร เตชะพีระ, ทวิดา กมลเวชช และ ประจักษ์ ก้องกีรติ ดำเนินรายการโดย สุทธิชัย หยุ่น

 

​ประจักษ์กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้าอยู่กับสภาวะทางแพร่งในหลายเรื่องที่อาจร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา เป็นสภาวะทางแพร่งที่ไม่รู้ว่าจะลงเอยไปในทิศทางใด

 

​ทางแพร่งสำคัญประการหนึ่งที่นักรัฐศาสตร์กำลังเผชิญคือการตอบคำถามว่า ชนิดของระบอบการเมืองส่งผลต่อประสิทธิภาพในการรับมือกับโรคระบาดหรือไม่ เพราะมีคนจำนวนมากที่ยกตัวอย่างประเทศจีน เพื่อบอกว่าระบอบอำนาจนิยมสามารถรับมือกับโรคระบาดได้ดีและเด็ดขาดกว่า ขณะที่ประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกากลับล้มเหลวในการรับมือจนมีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจำนวนมาก

 

​ประจักษ์ตอบว่า แม้ระบอบการปกครองจะมีความเกี่ยวข้องกับระดับของความสำเร็จในการรับมือกับวิกฤตอย่างไม่อาจปฏิเสธได้ แต่ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวในการอธิบายความสำเร็จ เพราะประเทศจีนก็เผยให้เห็นตัวอย่างของจุดอ่อนแบบระบอบอำนาจนิยมที่ไม่มีเสรีภาพของการไหลเวียนข้อมูลข่าวสารจนนำไปสู่วิกฤต ขณะที่กรณีของสหรัฐอเมริกาก็ไม่ใช่ตัวอย่างที่พิสูจน์ว่าประชาธิปไตยล้มเหลว เพราะประชาธิปไตยภายใต้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ เป็นประชาธิปไตยที่ถูกปู้ยี้ปู้ยำเสียจนแทบไม่เหลือความเป็นประชาธิปไตยอีกแล้ว

 

​ประจักษ์เห็นว่ารัฐที่จะสามารถรับมือกับวิกฤตโรคระบาดได้ดีจำเป็นต้องมี 3 องค์ประกอบไปพร้อมๆ กันคือ 1. ระบอบประชาธิปไตยที่มีคุณภาพ 2. ระบบราชการของรัฐที่มีประสิทธิภาพ และ 3. ผู้นำที่ดี เมื่อมีองค์ประกอบครบทั้ง 3 ด้านเท่านั้นจึงจะนำไปสู่การรับมือกับวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประชาธิปไตยอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ ต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ ที่ช่วยให้ประชาธิปไตยทำงานได้ ขณะเดียวกันรัฐแบบอำนาจนิยมก็ไม่ใช่คำตอบ

 

​ประจักษ์ชี้อีกว่า New Normal ที่เกิดขึ้นหลังโควิด-19 คือการรื้อฟื้นแนวคิดแบบรัฐสวัสดิการ ที่ก่อนหน้านี้เคยถูกมองว่าเป็นแนวคิดเพ้อฝันหรือสุดโต่ง แต่ในปัจจุบันเมื่อระบบทุนนิยมตลาดเสรีสุดโต่งหรือลัทธิเสรีนิยมใหม่พิสูจน์ให้เห็นว่าได้ทำให้มนุษย์ไม่มีความมั่นคงในชีวิต เพราะรัฐไม่ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทางสวัสดิการสังคม ทุกคนต้องเอาตัวรอดด้วยตนเอง จึงทำให้โจทย์เรื่องการสร้างรัฐสวัสดิการกลายเป็นสิ่งที่เมกเซนส์และถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในพื้นที่สาธารณะทั้งจากฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา เช่น การสร้างระบบ Universal Basic Income

 

​ส่วนข้อโต้แย้งในสังคมว่าเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สิทธิเสรีภาพและความมั่นคงปลอดภัยทางด้านสุขภาพจะอยู่ที่ตรงไหน ประจักษ์ตอบว่า แม้ในทุกช่วงวิกฤตอาจทำให้ประชาชนยอมสละเสรีภาพและสิทธิในบางส่วนของตนเองไป แต่การสละสิทธิและเสรีภาพนั้นควรเป็นไปอย่างจำกัดและชั่วคราว ไม่ใช่เป็นไปในลักษณะของการเขียนเช็คเปล่าให้ผู้มีอำนาจไปใช้ตามอำเภอใจโดยไม่มีระยะเวลากำหนด การจะทำให้รัฐมายุ่งกับสิทธิและเสรีภาพของพลเมืองอย่างจำกัดและชั่วคราวได้ ต้องทำให้เป็นสัญญาประชาคมที่ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ และภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขและระยะเวลาด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้อยู่ในอำนาจการตัดสินใจของฝ่ายบริหารฝ่ายเดียว  

 

​ประจักษ์ทิ้งท้ายด้วยการชี้ให้เห็นความสำคัญของการเมืองของความไว้วางใจ (Trust Politics) ว่าเป็นปัจจัยที่จะช่วยให้การบริหารจัดการและรับมือกับวิกฤตทำได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการจะสร้างการเมืองของความไว้วางใจได้ ภาครัฐและระบบราชการต้องยอมปรับตัวโดยการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมและภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและทำงานร่วมกัน ไม่ใช่รวมศูนย์อำนาจและแย่งบทบาทไว้ทำเองทุกเรื่อง 

 

ขณะเดียวกันการเมืองของความไว้วางใจก็ต้องการผู้นำที่มีคุณสมบัติของความเห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมมนุษย์คนอื่นๆ มากกว่าที่จะต้องการผู้นำที่แข็งกร้าว ซึ่งถูกพิสูจน์ให้เห็นในหลายรัฐว่าเป็นคุณสมบัติที่ล้มเหลวในการจัดการวิกฤต 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

 


ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X