×

โลกหลังโควิด-19 เมื่อโลกาภิวัตน์ไม่จางหาย แต่ทำธุรกิจยากขึ้น ไทยต้องปรับตัวอย่างไร

29.05.2020
  • LOADING...

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ทั่วโลกออกมาตรการปิดประเทศ การส่งออกที่เป็นภาคหลักของไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย หลายคนจึงมีคำถามว่า โลกาภิวัตน์จะเจอทางตันหรือไม่ ไทยจะต้องทำการค้าหรือทำธุรกิจกับทั่วโลกหลังโควิด-19 อย่างไร

 

เป็นที่มาของหัวข้อ ‘ซัพพลายเชนโลก การค้าระหว่างประเทศ และโลกาภิวัตน์ที่กำลังกลายพันธุ์’ ในงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM โดย สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เล่าว่า การเปลี่ยนแปลงและผลกระทบจากโควิด-19 ส่งผลให้ไทยต้องปรับตัวหลายด้าน ส่วนหลักจะแบ่งเป็น จตุปัจจัย (4 ข้อ) และเบญจวิถี (5 ข้อ)

 

ทั้งนี้ จตุปัจจัยหรือสิ่งที่ไทยเราต้องเร่งคิดคือ 1. เราจะสร้างความยืดหยุ่นให้มากขึ้นและมากกว่าที่ผ่านมาได้อย่างไร ขณะเดียวกันต้องควบคู่ไปกับ 2. การสร้างอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันรูปแบบการกระจายการผลิตในแบบเดิมก่อนโควิดอาจไม่ตอบโจทย์ ต้องเร่งคิดว่าจะ 3. กระจายการผลิตอย่างไรให้ภาคการผลิตและธุรกิจของไทยเคลื่อนไหวไ้ด้อย่างรวดเร็ว และ 4. ต้องทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

 

ขณะที่เบญจวิถีจะแบ่งเป็น 1. Cost Management การคุมต้นทุนให้ยืดหยุ่นแต่มีประสิทธิภาพ 2. Marketing Management ซึ่งต้องจับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้ามาตีโจทย์ให้ชัดเจน และปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเสมอ 3. Financial Management ยิ่งช่วงที่ผ่านมาเห็นธนาคารกลางต่างๆ ระดมเงินเพื่อช่วยเศรษฐกิจ ดังนั้น ปัญหาคือจะบริหารเงินนี้อย่างไร 4. Innovation Management การบริหารจัดการนวัตกรรมต้องชัดเจนมากขึ้น และ 5. HR Management เมื่อคนเป็นกุญแจที่สำคัญที่สุด หัวใจหลักคือ การสร้างคนเก่งให้เพียงพอต่อการพัฒนา นอกจากนี้ไทยต้องบริหารภาพลักษณ์ของประเทศในระดับภาครัฐ​ องค์กรต่างๆ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์และคนในชาติ 

 

ด้าน ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF กล่าวว่า จุดแข็งของประเทศไทยยังเป็นการท่องเที่ยว สาธารณสุข และอุตสาหกรรมอาหาร ที่ต้องหาทางพัฒนาต่อยอด แต่เรื่องที่น่ากังวลตอนนี้คือ การใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีของไทยจะพัฒนาอย่างไร เพราะทั่วโลกแต่ละประเทศมีแนวทางในการใช้เทคโนโลยีที่ต่างกัน เช่น จีนใช้ข้อมูลกับเทคโนโลยีอย่างเปิดกว้าง อาทิ การใช้ AI สแกนใบหน้า ซึ่งการใช้ข้อมูลเหล่านี้ก็เพื่อแลกกับการพัฒนาด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีไปด้วย  

 

ดังนั้น ไทยควรต้องเลือกและหาวิธีที่เหมาะสมกับประเทศ ซึ่งภาคเอกชนเริ่มแล้วที่จะจัดการข้อมูล (Clean Data Base) ให้ไม่ซ้ำซ้อนและใช้ต่อยอดได้ จึงนำมาสู่คำถามว่า ไทยควรมีฐานข้อมูลตรงกลางที่รัฐเปิดให้เอกชนใช้เพื่อพัฒนาต่อยอดหรือไม่ และทำอย่างไรได้บ้าง 

ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า สุดท้ายนี้มองว่า โลกาภิวัตน์ไม่ตาย และไทยอาจต้องมีโมเดลที่รัฐสนับสนุนให้ธุรกิจไทยสามารถออกไปต่างประเทศได้ง่ายขึ้น เช่น อาจจัดตั้งองค์กรที่สนับสนุนภาคธุรกิจผ่านการบุกตลาดต่างประเทศร่วมกันเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้ภาคเอกชนมีข้อมูลเพื่อปรับใช้กับธุรกิจ รวมถึงมีอำนาจการต่อรองในการทำธุรกิจกับต่างชาติได้มากขึ้น 

 

 

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising