×

ย้อนรอย ‘สงครามค่าเงินบาท’ สมรภูมิที่ไทยพ่ายยับ แม้ข้าศึกล่าถอย ชนวนเหตุสู่มหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่

02.07.2021
  • LOADING...
ค่าเงินบาท

หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2540 ‘พัง’ อย่างราบคาบ คือ การโจมตีค่าเงินบาทจากบรรดา ‘เฮดจ์ฟันด์’ ที่จ้องหาโอกาสการทำกำไรจากทุกสินทรัพย์ที่พอจะมีช่องทางในการสร้างความมั่งคั่ง 

 

ในปี 2540 ชื่อของ ‘จอร์จ โซรอส’ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นสำหรับคนไทย เพราะเขาคือตัวการสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเปลี่ยนนโยบายการเงิน โดยเฉพาะนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน จากอัตราแลกเปลี่ยนแบบ ‘คงที่’ มาเป็นแบบ ‘ลอยตัว’ จวบจนทุกวันนี้ 

 

THE STANDARD WEALTH พาย้อนไปดู ‘สงครามค่าเงินบาท’ ครั้งประวัติศาสตร์ที่ดุเดือดรุนแรงสุดเท่าที่ ‘ไทย’ เคยเผชิญ โดยสมรภูมิครั้งนั้น ในบางช่วงเราคิดว่าเป็นฝ่ายชนะ แต่ท้ายสุดกลับต้องพ่ายแพ้อย่างหมดสภาพ สาเหตุเป็นเพราะอะไร ลองมาวิเคราะห์ไปพร้อมๆ กัน

 

อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความตอนที่แล้วว่า ‘จุดเริ่มต้น’ ของวิกฤตเศรษฐกิจไทยปี 2540 หรือทั่วโลกรู้จักในนาม ‘วิกฤตต้มยำกุ้ง’ เกิดจาก ‘เป้าหมายอันยิ่งใหญ่’ ของไทยที่จะขึ้นเป็น ‘ศูนย์กลางทางการเงิน’ ในภูมิภาคอินโดจีน 

 

แต่ด้วยความพร้อมที่ยังไม่เพียงพอและการดำเนินนโยบายที่ขาดความรอบคอบ ทำให้ไทยดันตัวเองเข้าสู่มหาวิกฤตทางเศรษฐกิจ ซึ่งนับเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์ไทย 

 

หนึ่งในความผิดพลาดที่สำคัญ คือ การดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งละเลยต่อหลักการ Impossible Trinity หรือ ทฤษฎีการเงินที่ไม่สามารถทำพร้อมกันทั้ง 3 ด้านได้ คือ

 

  1. การเปิดเสรีการเงิน โดยปล่อยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้า-ออกประเทศได้อย่างเสรี

 

  1. การใช้ดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อควบคุมเงินเฟ้อหรือความร้อนแรงของเศรษฐกิจในประเทศ

 

  1. การใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (ยึดติดกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ)

 

 

ช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่ทำให้ไทยตกเป็นเป้าถูก ‘โจมตีค่าเงิน’ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มแสดงความอ่อนแอออกมาให้เห็นอย่างเด่นชัด ปัญหาต่างๆ ถูกตอกย้ำโดย ‘มูดี้ส์’ บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชื่อดังของโลก ที่ประกาศ ‘ลดเครดิตเรตติ้ง’ ในส่วนของหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทยลงเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 

 

หลังไทยถูกหั่นเครดิตเรตติ้งลง เงินทุนต่างชาติก็เริ่มไหลออกอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง ทำให้ ธปท. ต้องเริ่ม ‘ขาย’ เงินตราต่างประเทศที่อยู่ในรูปของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศออกไป เพื่อพยุงค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเกินกว่ากรอบที่กำหนดไว้

 

ช่วงเดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2539 ธปท. ได้ขายเงินตราต่างประเทศออกราว 1.8 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับช่วง 6 เดือนแรกของปี ที่เป็นฝายซื้อสุทธิเงินตราต่างประเทศ 2.04 พันล้านดอลลาร์ 

 

ข่าวลือลดค่าเงิน กดดันเงินทุนไหลออก

เดือนธันวาคม 2539 การไหลออกของเงินทุนต่างชาติเริ่มหนักขึ้น ประกอบกับช่วงเวลานั้นเริ่มมีข่าวลือว่า ธปท. อาจปรับปรุงระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้ยืดหยุ่นมากขึ้นโดยการลดค่าเงิน (ยอมให้เงินบาทอ่อนค่า) ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ 

 

เวลานี้เองที่ทำให้นักลงทุนและเหล่าบรรดา ‘เฮดจ์ฟันด์’ หรือกองทุนบริหารความเสี่ยง เริ่มเล็งเห็นว่า เงินบาทที่ถูก ธปท. กำหนดอัตราคงที่ไว้ที่ราวๆ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ถือเป็นระดับที่แข็งค่าเกินกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ไทยเริ่มตกอยู่ในจอเรดาห์ของเหล่าเฮดจ์ฟันด์

 

อย่างไรก็ตาม แรงกดดันของค่าเงินบาทในช่วงเวลานั้นยังไม่ได้เกิดจากการโจมตีค่าเงิน แต่เกิดจากความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนที่ลดน้อยถอยลง จึงเริ่มเห็นการ ‘ถอนการลงทุน’ ของผู้ลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้ ธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงิน โดยขายเงินดอลลาร์ออกมาราว 4.88 พันล้านดอลลาร์ เพื่อพยุงค่าเงินบาทให้อยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

 

เปิดศักราชปี 2540 ‘เฮดจ์ฟันด์’ เริ่มปฏิบัติการโจมตีค่าเงิน

ความจริงแล้วเมื่อเปิดปี 2540 มา สถานการณ์ค่าเงินบาทดูเหมือนจะดีขึ้น เพราะนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาลงทุน ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลที่มักจะมีเงินลงทุนจากต่างชาติเข้ามาในช่วงต้นๆ ของทุกปี 

 

แต่สัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2540 เกิดข่าวลือเกี่ยวกับค่าเงินบาทอีกครั้ง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มปฏิบัติการ ‘โจมตี’ ค่าเงินบาท โดยเหล่าเฮดจ์ฟันด์เปิดฉากโจมตีเงินบาทตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 30 มกราคม 2564 ซึ่งเป็นวันที่ ธปท. รายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน

 

ตลาดเงินในวันนั้นปั่นป่วนตั้งแต่เช้า จน ธปท. ต้องออกมาปฏิเสธกระแสข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยทำพร้อมๆ กับการเข้าไปแทรกแซงตลาดเงินด้วยการกว้านซื้อเงินบาทจากต่างชาติที่พากันเทขายออกมา 

 

ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน สถานการณ์ดูเลวร้ายลงมากขึ้น หลังจากที่ ธปท. ได้รายงานตัวเลขการขาดดุลของรัฐบาลในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ ที่มียอดขาดดุลราว 5.4 หมื่นล้านบาท ทำให้นักเก็งกำไรค่าเงินยิ่งโจมตีเงินบาทหนักขึ้น 

 

วันนั้น ธปท. กรำศึกค่าเงินตลอดทั้งวัน จนสถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติในช่วงสิ้นวันทำการ แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ ธปท. ไม่อาจวางใจได้ จึงได้จัดทีมมอนิเตอร์เฝ้าระวังสถานการณ์ตลอดทั้งคืน ทั้งในตลาดลอนดอนและตลาดนิวยอร์ก ซึ่งก็ได้เข้าไปแทรกแซงค่าเงินตามความจำเป็น เพื่อให้เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ 

 

สถานการณ์ในวันนั้น ทำให้ ธปท. ต้องขายเงินดอลลาร์ออกมาราว 1.49 พันล้านดอลลาร์

 

รุ่งเช้าวันถัดมา (31 มกราคม) การโจมตีรอบใหม่เปิดฉากขึ้นอีกครั้ง ธปท. จึงต้องเข้าไปแทรกแซงเพิ่มเติมและใช้เงินสำรองฯ เพื่อดูแลสถานการณ์ไปอีกราวๆ 2.2 พันล้านดอลลาร์ 

 

การโจมตีค่าเงินบาทยังเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 3 สัปดาห์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ 2540 สาเหตุที่ทำให้เหล่าเฮดจ์ฟันด์มั่นใจว่าจะชนะศึกครั้งนี้ได้ เพราะความเปราะบางทางเศรษฐกิจแสดงตัวให้เห็นเด่นชัดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงิน ปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่จวนเจียนจะระเบิด ที่สำคัญยังมีข่าวลืออย่างหนาหูเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท อีกทั้งค่าเงินดอลลาร์ในช่วงเวลานั้นก็แข็งค่าต่อเนื่องจนแตะระดับสูงสุดรอบ 4 ปี 

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เหล่านักเก็งกำไรฮึกเหิมในการกรำศึกครั้งนี้ คือ ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2540 มูดี้ส์ออกมาระบุเพิ่มเติมว่า จะทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของหนี้ระยะยาวของไทย ซึ่งคำประกาศของมูดี้ส์ยิ่งโหมให้แรงโจมตีค่าเงินบาทหนักมากขึ้น ยังผลให้ ธปท. ต้องเข้าไปดูแลค่าเงินบาทด้วยการขายเงินดอลลาร์ออกมาเพิ่มอีก 1.07 พันล้านดอลลาร์ 

 

ด้วยข่าวลือเกี่ยวกับการลดค่าเงินที่หนาหู ชวนให้นักเก็งกำไรยึดเป็นช่องทางในการโจมตีค่าเงินบาท ทำให้ ธปท. ต้องออกแถลงการณ์ลายลักษณ์อักษร พร้อมแจงเหตุผลอย่างชัดเจนว่า จะไม่ใช้วิธีการลดค่าเงินในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ โดยให้เหตุผลว่าการลดค่าเงินจะยิ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจที่รุนแรงขึ้น 

 

ประกอบกับมีข่าวเชิงบวกเกี่ยวกับการรักษาวินัยการคลังที่เข้มงวดมากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงเวลานั้นเห็นชอบที่จะตัดลดงบค่าใช้จ่ายลงราว 1 แสนล้านบาท ในขณะที่ค่าเงินดอลลาร์เริ่มอ่อนค่าลงมาบ้าง จึงทำให้สถานการณ์ในตลาดเงินไทยเริ่มดูดีขึ้น ช่วงนี้เริ่มเห็นเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในประเทศ ในขณะที่ ธปท. เริ่มเข้ามาเป็นผู้ซื้อเงินดอลลาร์บ้างแล้ว ตกประมาณ 1.52 พันล้านดอลลาร์ 

 

อย่างไรก็ตาม หากดูสถานการณ์โดยภาพรวมช่วง 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์) ของปี 2540 ธปท. ได้ใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เพื่อปกป้องค่าเงินบาทจากเหล่าเฮดจ์ฟันด์ไปราวๆ 7.8 พันล้านดอลลาร์ ทำให้ฐานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2540 ลดลงมาเหลือเพียง 3.81 หมื่นล้านดอลลาร์ ในขณะที่ยอดคงค้างในสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสูงขึ้นเป็น 1.22 หมื่นล้านดอลลาร์  

 

‘แบงก์ชาติ’ ประชุมทีมวางกลยุทธ์สู้ศึกค่าเงินระลอกใหม่

ศึกค่าเงินบาทระลอกแรกที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2540 ทำให้ ธปท. ต้องประชุมผู้บริหารเพื่อวางกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการ Defend ค่าเงินบาท ซึ่งการประชุมครั้งนี้มีขึ้นเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2540

 

ผลประชุมในวันนั้นได้ข้อสรุปเกี่ยวกับการจัดเตรียม ‘กระสุน’ หรือ ‘สภาพคล่อง’ ของเงินทุนสำรองฯ เพื่อเอาไว้ต่อกรกับเฮดจ์ฟันด์ ดังนี้

 

  1. เรื่องที่สามารถดำเนินการภายใน ธปท. ได้เอง ให้ดำเนินการก่อน
  2. หากมีช่องทางที่สามารถนำสินทรัพย์ของธนาคารเป็นหลักประกันในการเสริมสภาพคล่องได้โดยไม่เป็นที่สังเกตของตลาด ก็ให้ดำเนินการในลำดับถัดไป
  3. การกู้ยืมจากสถาบันการเงินภายนอก ซึ่งอาจไม่สามารถเก็บเป็นความลับได้ ให้ทำเป็นทางเลือกสุดท้าย

 

จะเห็นว่าการดำเนินการทุกอย่างของ ธปท. ถูกปิดเป็นความลับทั้งหมด ทุกความเคลื่อนไหวกระทำอย่างเงียบเชียบ เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าศึกหรือเหล่าเฮดจ์ฟันด์รู้ว่ากระสุนหรือสภาพคล่องที่ ธปท. มีไว้สำหรับสู้ศึกครั้งนี้เหลืออยู่เท่าไร 

 

การประชุมในวันดังกล่าวมีข้อถกเถียงกันด้วยว่า ควรหรือไม่ที่จะรักษาอัตราแลกเปลี่ยนเอาไว้เช่นเดิม ในเมื่อเริ่มสูญเสียเงินทุนสำรองฯ ไปแล้วจำนวนมาก จนแทบจะไม่เหลือกระสุนที่จะนำไปใช้ในการดูแลค่าเงิน และการประชุมในครั้งนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมต่างเข้าใจสถานการณ์ดีกว่า ‘ศึกครั้งนี้ยังไม่จบ’

 

บรรยากาศตลาดเงินในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2540 ดูจะคลายแรงกดดันไปได้บ้าง แต่ก็มีการโจมตีค่าเงินบาทเข้ามาเป็นระลอกๆ 

 

กระทั่งช่วงปลายเดือนเมษายน ต่อเนื่องถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 การโจมตีระลอกใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นอย่างจริงจัง เริ่มมีการปล่อยข่าวลือรอบใหม่เกี่ยวกับการขยายกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ รวมไปถึงข่าวลือที่ว่า นายกรัฐมนตรี (พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ) จะเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเอง 

 

หลังข่าวลือดังกล่าวแพร่สะพัดออกไปอย่างรวดเร็ว แรงโจมตีค่าเงินบาทก็เริ่มต้นทันที โดยเหล่าเฮดจ์ฟันด์พากันเทขายเงินบาทออกมาในตลาด Spot พร้อมกับทำธุรกรรม Swap Sell-buy หรือการขายเงินดอลลาร์รับซื้อเงินบาทในตลาดฟิวเจอร์ วิธีการนี้ไม่ต่างจากการวางเดิมพันว่าอนาคตเงินบาทจะอ่อนค่าลง ซึ่งถ้าเป็นไปตามที่พวกเขาคาดการณ์ไว้ ก็จะทำกำไรได้อย่างมหาศาล ดังนั้นส่วนกลยุทธ์ที่ ธปท. นำมาใช้ในช่วงเวลานั้น คือ เข้าไปรับซื้อเงินบาทแล้วเทขายเงินดอลลาร์ออกมา เพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่เหล่าเฮดจ์ฟันด์ต้องการ

 

ศึกรอบนี้เหล่าเฮดจ์ฟันด์เลือกโจมตีเงินบาทในช่วงหลังจากที่ตลาดกรุงเทพฯ ปิดทำการไปแล้ว พูดแบบชัดๆ ก็คือ สมรภูมิถูกโยกไปอยู่ในต่างประเทศแทน 

 

โดยคืนวันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เกิดแรงขายเงินบาท (ซื้อดอลลาร์) จำนวนมากในตลาดลอนดอน ทำให้ค่าเงินบาทพุ่งสูงกว่าค่ากลางที่กำหนดไว้ 10-12 สตางค์ และแรงขายนี้ยังมีต่อเนื่องในตลาดนิวยอร์กด้วย แน่นอนว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้นักลงทุนทั่วไปพากันตื่นตระหนก

 

เช้าวันที่ 9 พฤษภาคม 2540 เวลาประมาณ 07.00 น. ค่าเงินบาทเริ่มที่จะสูงกว่าค่ากลางที่กำหนดไว้ราว 4-5 สตางค์ และในอีกครึ่งชั่วโมงถัดมา ค่าเงินก็สูงขึ้นไปอีกราว 9-10 สตางค์ ธปท. จึงต้องเข้าไปแทรกแซงตลาดทั้งในสิงคโปร์และฮ่องกง เพื่อควบคุมความปั่นป่วนที่เกิดขึ้น 

 

การเข้าดูแลของ ธปท. ทำให้สถานการณ์เริ่มกลับสู่ภาวะปกติได้บ้าง แต่ทว่า ธปท. ก็ต้องใช้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศในการเข้าดูแลค่าเงินไปถึง 6.08 พันล้านดอลลาร์ นับเป็นการใช้ ‘กระสุน’ จำนวนมากในการกรำศึกคืนนั้น 

 

ช่วงระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคม 2540 (ตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์) ธปท. ได้รายงานสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี ซึ่งต่อมา พล.อ. ชวลิต ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน โดยยืนยันว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และไม่มีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างวันที่ 10-11 พฤษภาคมนี้เอง ฝ่ายปฏิบัติการของ ธปท. ซึ่งก็คือขุนพลด่านหน้าที่ทำหน้าที่สู้ศึกค่าเงินบาทในสมรภูมิ ได้จัดทำรายงานถึงผู้บริหารระดับสูง โดยลำดับเหตุการณ์เกี่ยวกับการโจมตีค่าเงินบาททั้งหมดที่เริ่มมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 

 

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า การโจมตีค่าเงินบาทมีความรุนแรงขึ้น สถานการณ์ล่าสุดก่อให้เกิดความสูญเสียที่มากขึ้นต่อเงินสำรองทางการที่ใช้สำหรับดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาท จนในขณะนั้นเงินสำรองฯ ได้ลดต่ำลงกว่าที่ต้องใช้หนุนหลังการออกธนบัตรแล้ว จึงจำเป็นที่จะต้องพิจารณาขีดจำกัดในการเข้าแทรกแซงเพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินว่าจะมีขอบเขตสูงสุดเท่าใด จึงจะถึงจุดที่ต้องพิจารณาความเหมาะสมของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนั้น 

 

ฝ่ายปฏิบัติการยังเสนอด้วยว่า ก่อนที่เงินทุนสำรองฯ จะเหลือ ‘ศูนย์’ ธปท. ต้องพิจารณาความเหมาะสมของระบบอัตราแลกเปลี่ยนตะกร้าเงิน และทบทวนแนวทางการรักษาเสถียรภาพเงินบาทอย่างจริงจัง พร้อมกับการทำ Swap กับธนาคารกลางอื่น หรือการกู้เงินจากตลาดโดยตรงด้วย เพื่อเตรียมทรัพยากรทางการเงินไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

 

รายงานฉบับนี้เปรียบเสมือนการ ‘ส่งคำถาม’ เชิงนโยบายไปยัง ผู้ว่าการ ธปท. และผู้บริหารระดับประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องในขณะนั้น เพื่อตัดสินใจว่าจะยังสู้ศึกครั้งนี้ต่อไปหรือไม่ โดยบันทึกฉบับนี้นับเป็นฉบับแรกที่ระบุอย่างชัดเจนว่า นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบเดิมใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว 

 

ปรับกระบวนยุทธ์ ดึงธนาคารกลางชาติพันธมิตรร่วมสู้ศึกค่าเงิน

 

ในระหว่างที่ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน เหล่านักเก็งกำไรก็เริ่มกลับมาโจมตีค่าเงินบาทอีกครั้งในระหว่างวันที่ 12-15 พฤษภาคม 2540

 

โดยเช้าวันที่ 12 พฤษภาคม 2540 แรงขายเงินบาทเริ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ถึงกับหนักมาก ในวันนั้น ธปท. ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงมากนัก ทำให้เงินบาทขยับขึ้นไปแตะระดับ 25.91 บาทต่อดอลลาร์ สูงกว่าค่ากลางซึ่งกำหนดไว้ที่ 25.85 บาทต่อดอลลาร์

 

เช้าวันถัดมา 13 พฤษภาคม 2540 ที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ตกลงกันว่าจะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทอย่างต่อเนื่อง โดยให้ฝ่ายปฏิบัติการเข้าไปดูแล 2 รอบ ซึ่งรอบแรกจำกัดวงเงินดูแลไว้ประมาณ 300 ล้านดอลลาร์ เพื่อหยั่งเชิงดูว่ามีแรงต้านมากน้อยแค่ไหน

 

รอบที่สอง ให้แทรกแซงเพื่อลดแรงกดดันจากการเทขายเงินบาท ขณะเดียวกันในรอบนี้ที่ประชุมได้ขอความช่วยเหลือไปยังธนาคารกลางฮ่องกงให้เข้ามาช่วยแทรกแซงค่าเงิน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามข้อตกลงที่มีอยู่ โดยการดึงธนาคารกลางประเทศอื่นๆ เข้ามาช่วย จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน ซึ่งธนาคารกลางฮ่องกงจะเป็นตัวแทนของ ธปท. ในการแทรกแซงเงินบาทที่ตลาดฮ่องกง

 

ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้เช้าวันนั้นค่าเงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้น แต่ช่วงบ่ายก็กลับมาอ่อนค่าลงอีกครั้ง ทำให้ธนาคารกลางฮ่องกงต้องเข้ามาแทรกแซงเป็นเงินกว่า 500 ล้านดอลลาร์ ศึกในครั้งนี้แม้จะได้พันธมิตรอย่างธนาคารกลางฮ่องกงมาร่วมรบ แต่ดูเหมือนคู่ต่อสู้ไม่ได้เกรงกลัวแต่อย่างใด 

 

คืนวันที่ 13 พฤษภาคม 2540 ฝ่ายปฏิบัติการของ ธปท. หารือร่วมกันเพื่อประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งได้ข้อสรุปว่า สถานการณ์ปัจจุบันน่าห่วงใยมากและเข้าขั้นวิกฤต เพราะการโจมตีค่าเงินในรอบนี้มีขนาดที่ใหญ่ขึ้น และจำนวนธุรกรรมที่มีก็สูงมากขึ้น เข้าใจว่าเป็นความพยายามของเหล่าเฮดจ์ฟันด์ที่ต้องการเผด็จศึกไทยให้ได้โดยเร็วที่สุด โดยประเด็นที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงมากขึ้น คือ ข่าวลือที่มีอย่างต่อเนื่องจากทั้งนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และความแตกแยกทางการเมืองของไทยในเวลานั้น

 

 

สงครามครั้งสุดท้าย ข้าศึกล่าถอย แต่กระสุนไทยหมดเกลี้ยง 

วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ถือเป็นวันที่ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. จะไม่มีทางลืม โดยผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการของ ธปท. ได้เสนอทางเลือกเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไว้ 3 ทาง ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมเห็นชอบให้เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทในวงเงิน 5 พันล้านดอลลาร์ และยอมให้อัตราแลกเปลี่ยนสูงกว่าค่ากลางได้ประมาณ 5-10 สตางค์ 

 

ที่ประชุมในวันนั้นยังระบุด้วยว่า หากจำนวนเงินดังกล่าวยังไม่เพียงพอ ให้รีบหารือกับผู้บริหารโดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังตกลงกันว่าจะขอให้ธนาคารกลางประเทศใกล้เคียง เช่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ร่วมมือกันสู้กับนักเก็งกำไรด้วย 

 

สถานการณ์ในวันนั้นเป็นไปตามที่คาดการณ์เอาไว้ แรงขายเงินบาท/ซื้อดอลลาร์เริ่มโหมเข้ามา กดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนลงเรื่อยๆ แต่ ธปท. ยังไม่เข้าแทรกแซง จนกระทั่งอัตราแลกเปลี่ยนขยับขึ้นไปแตะ 26.10 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งในเวลานั้นไทยได้รับความช่วยเหลือจากธนาคารกลางสิงคโปร์ที่เริ่มเข้ามาช่วยแทรกแซง

 

ช่วงเวลาราว 16.30-17.30 น. ของวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. ประชุมร่วมกันอีกครั้ง ผลจากการหารือ คือ ยังคงให้สู้ศึกอย่างต่อเนื่อง เพื่อคุมอัตราแลกเปลี่ยนให้กลับเข้ามาอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้ โดยไม่จำกัดวงเงินการเข้าแทรกแซง เรียกได้ว่าเป็นคำสั่ง ‘บุก’ เต็มอัตราศึก

 

ผลการประชุมในเย็นวันนั้น ทำให้ ธปท. เข้าสู้ศึกอย่างเต็มที่และต่อเนื่องตลอดทั้งคืน โดยเริ่มตั้งแต่สมรภูมิในตลาดลอนดอนและต่อด้วยตลาดนิวยอร์ก ซึ่ง ธปท. ใช้เงินในการแทรกแซงช่วงคืนวันนั้นผ่านตลาด Spot ไปกว่า 9.05 พันล้านดอลลาร์ ตลาดล่วงหน้า 400 ล้านดอลลาร์ และตลาด Swap อีก 600 ล้านดอลลาร์ ทั้งหมดนี้นับเป็นเม็ดเงินมหาศาลที่ใช้ในการแทรกแซงค่าเงิน และก็ทำให้ค่าเงินบาทปิดตลาดนิวยอร์กคืนวันนั้นเป็นไปตามเป้าหมายที่ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. บัญชาการไว้ที่ 25.85-25.90 บาท 

 

หากรวมเงินที่ต้องใช้ในการป้องกันค่าเงินบาทตลาดทั้งกลาวันและกลางคืนของวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ทาง ธปท. ได้ใช้เงินไปกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 2.5 แสนล้านบาท นับเป็นศึกที่ใช้กระสุนมากที่สุดและ ‘แพงที่สุด’ ในประวัติศาสตร์ของไทย หรืออาจเรียกได้ว่าแพงที่สุดในประวัติศาสตร์โลกก็ได้

 

ต่อมาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2540 ธปท. ยังสามารถต่อกรกับเหล่านักเก็งกำไรได้อยู่ โดยใช้วิธีทำสัญญา Swap จำนวนมหาศาล พร้อมกับสั่งการไปยังธนาคารพาณิชย์ ไม่ให้ปล่อยเงินบาทให้กับสถาบันการเงินต่างประเทศ ยกเว้นจะมีธุรกรรมที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหวังจะตัดช่องทางของเหล่าเฮดจ์ฟันด์ในการกว้านหาเงินบาทมาถล่มขายในตลาดเงิน 

 

มาตรการของ ธปท. ให้ผลที่ดี เพราะทำให้เงินบาทในตลาดหายากขึ้น ส่งผลให้ค่าเงินกลับมาแข็งค่าอย่างรวดเร็วจนมาอยู่ที่ระดับ 25.20 บาทต่อดอลลาร์ และยังเปิดโอกาสให้ ธปท. มีจังหวะสะสมกระสุนหรือตุนเงินสำรองฯ เพิ่มเติม โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในช่วงนี้ เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.5 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 14 พฤษภาคม 2540 มาอยู่ที่ 7.3 พันล้านดอลลาร์ ในวันที่ 16 พฤษภาคม 2540 ขณะที่การโจมตีของเหล่าเฮดจ์ฟันด์เริ่มหยุดลง

 

มองผิวเผินแบบนี้ ดูเหมือน ธปท. จะเป็นผู้ชนะศึก เพราะทำให้เหล่านักเก็งกำไรล่าถอยออกไป แต่มีผู้เปรียบเทียบศึกในครั้งนี้ว่า แม้ฝ่ายตรงข้ามจะพ่ายแพ้ศึกในรอบนี้ เพราะนายพลบาดเจ็บจนต้องถอนทัพไป แต่ฝั่งของ ธปท. ก็แทบจะไม่เหลือไพร่พลในการรบแล้ว เนื่องจากเงินทุนสำรองฯ ที่ใช้ในการสู้ศึกแทบไม่เหลืออยู่เลย

 

โดยสรุปแล้วก่อนศึกใหญ่ครั้งนี้จะเริ่มขึ้น ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2540 เงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงเวลานั้นมีจำนวน 2.42 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่หลังผ่านสมรภูมิรบอันดุเดือด เงินทุนสำรองฯ ก็ลดลงเหลือเพียง 2.5 พันล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2540

 

ธปท. ยอมจำนน ‘ยกธงขาว’ แพ้ภัยตัวเอง

อย่างที่เกริ่นไปว่าศึกครั้งนี้ฝ่ายไทยเหมือนจะเป็นผู้ชนะ แต่ด้วยกระสุนที่หมดไปกับการกรำศึกหนัก ทำให้ทางการไทยต้องหารืออย่างจริงจังถึงนโยบายที่ควรต้องเดินต่อหลังจากนี้ 

 

ในระหว่างที่ ธปท. กรำศึกหนัก โดยเฉพาะสมรภูมิรบวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งเฝ้าดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เริ่มเห็นท่าไม่ดี จึงได้ส่งจดหมายมายัง พล.อ. ชวลิต ในวันเดียวกันนั้น โดยระบุคำแนะนำผ่านจดหมายอย่างชัดเจนว่า ไทยควรต้องลดค่าเงินลง 10-15% พร้อมทำนโยบายการเงินและการคลังที่ตึงตัวขึ้น จนกระทั่งวันที่ 22 พฤษภาคม 2540 ทาง IMF ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาหารือกับทางการไทย แต่ก็ยังไม่ได้นำไปสู่การตัดสินใจใดๆ ในช่วงเวลานั้น

 

อย่างไรก็ตาม หลังจบศึกในคราวนั้น บรรยากาศความรุนแรงทางการเงินเริ่มสงบลง การโจมตีค่าเงินเริ่มจางไป แต่ความสงบที่ว่านี้เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ไม่ถึงหนึ่งเดือน เพราะหลังจากนั้นเงินบาทเริ่มถูกกดดันอีกครั้ง โดยเฉพาะวันที่ 19 มิถุนายน 2540 หลังปรากฏข่าวการลาออกของ ‘อำนวย วีรวรรณ’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในขณะนั้น 

 

ข่าวดังกล่าวโหมให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนเริ่มลดลงอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นฝั่งของนักลงทุนไทยเองที่ไม่เชื่อมั่นว่าทางการจะควบคุมเงินบาทเอาไว้ได้ จึงเริ่มเห็นนักธุรกิจไทยพากันไปขายเงินบาทแลกซื้อเงินดอลลาร์ 

 

แม้ว่าหลังจบศึกค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 จะทำให้ ธปท. มีช่วงเวลาในการสะสมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมาบ้าง แต่โดยรวมๆ แล้วก็ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 6-7 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะดูแลค่าเงินท่ามกลางสภาวะที่คนแห่กันมาขายเงินบาทอย่างถล่มทลายได้ ฟางเส้นสุดท้ายจึงขาดสะบั้น ธปท. จำต้องยกธงขาว ประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 นับเป็นวันที่จารึกในประวัติศาสตร์ว่า ‘ไทย’ ได้เข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว 

 

สมรภูมิค่าเงินในครั้งนั้นถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ ‘นักเศรษฐศาสตร์’ หยิบมาใช้เพื่อวิเคราะห์และเรียนรู้จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งทีมข่าว THE STANDARD หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้บริหารนโยบายและผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ยังไม่ลืมบทเรียนจากวิกฤตในคราวนั้น

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • รายงานผลการวิเคราะห์และวินิจฉัยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตทางเศรษฐกิจ จัดทำขึ้นโดยคณะกรรมการศึกษาและเสนอแนะมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบการเงินของประเทศ (ศปร.) 
  • หนังสือ 72 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising