×

3 ปี การเดิมพันอิสรภาพกับความบอบช้ำของ ‘เศรษฐกิจ (ชาว) เมียนมา’

17.04.2024
  • LOADING...

ไม่ว่าจะเป็นสงครามเมียนมาหรืออิสราเอลที่เกิดขึ้นในวันนี้ ขึ้นชื่อว่า ‘สงคราม’ ก็ไม่เคยส่งผลดี มีแต่ความสูญเสียเสมอ 

 

เป็นเวลากว่า 3 ปี นับตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2021 กองทัพเมียนมาที่นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาล ส่งผลให้ประเทศเข้าสู่เงามืดของเผด็จการ ท่ามกลางประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อสู้ แลกอิสรภาพเป็นเดิมพัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 


 

กระทั่งรายงานข่าวเริ่มร้อนแรงช่วงก่อนสงกรานต์ เมื่อทหารกลุ่มชาติพันธุ์ KNU และ PDF บุกเข้ายึดกองบังคับการยุทธวิธี และค่ายทหารเมียนมา 7 แห่งที่เมืองเมียวดี ก่อนที่จะบุกยึดค่ายผาซอง หรือกองพันทหารราบที่ 275 ซึ่งเป็นฐานที่มั่นใหญ่และแข็งแกร่งที่สุดของกองทัพเมียนมา โดยค่ายแห่งนี้อยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก เพียง 2 กิโลเมตร

 

THE STANDARD WEALTH ชวนติดตามสภาวะเศรษฐกิจภายใต้วิกฤตสงครามเมียนมา (ที่อาจเป็นเพียง) จุดเริ่มต้นของจุดจบ และในฐานะเพื่อนบ้านอาเซียน เราค้าขายอะไรกัน หากสงครามไม่จบในเร็ววันจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างกันแค่ไหน?

 

ภาพ: DoctorEgg / Getty images 

 

The Washington Post เผยแพร่รายงานกึ่งบทวิเคราะห์ Millions in Myanmar face economic ‘free fall’ due to war, U.N. finds อ้างอิงจากสรุปโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ที่ได้เข้าไปสัมภาษณ์ชาวเมียนมากว่า 12,600 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในการสำรวจที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมาในช่วงรัฐประหาร ว่าขณะนี้สงครามกลางเมืองที่เกิดขึ้นตลอดระยะเวลา 3 ปี กำลังกลืนกินเศรษฐกิจประเทศและผลักดันให้เมียนมาเข้าสู่สภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอย่างฉับพลัน

 

ชาวเมียนมาเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ทั้งค่าครองชีพ รายจ่ายภาคครัวเรือนที่ไม่เพียงพอ ส่งผลให้จำนวนชนชั้นกลางลดลงอย่างมาก เหลือเพียงครึ่งหนึ่งจากเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เกิดรัฐประหาร และอาจลดต่ำลงไปเรื่อยๆ

 

มากไปกว่านั้น ความยากจนเริ่มแพร่กระจายเป็นวงกว้าง ชาวเมียนมาเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศขยับเข้าใกล้ ‘เส้นความยากจน’ ที่แต่ละวันมีการใช้จ่ายเพียงแค่ 76 เซนต์เท่านั้น

 

ไม่เพียงแค่นั้น วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้นอาจไม่บ่อยนักที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจใน ‘ตลาดเกิดใหม่’ ที่กำลังมีอนาคตสดใสที่สุดแห่งหนึ่งของเอเชีย 

 

เพราะหากย้อนไปเมื่อหลายทศวรรษ ครั้งหนึ่งเมียนมาเริ่มเปิดการค้าเสรีและเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ตั้งแต่ปี 2011 ในช่วงเวลานั้นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) บันทึกไว้ว่า ในปี 2016 “เศรษฐกิจของเมียนมาเติบโตเร็วกว่านานาประเทศด้วยซ้ำไป”

 

สวนทางภาพปัจจุบันในขณะนี้ เศรษฐกิจของเมียนมากำลังถูกบีบแน่นจนใกล้ ‘ระเบิด’ และไม่มีข้อบ่งชี้ใดที่บอกได้ว่าจะสงครามจะยุติลงเมื่อไร หากไม่มีใครยื่นมือเข้ามาช่วยหรือมีการแทรกแซง   

 

แรงงาน ‘หลายแสนคน’ เดินทางออกนอกประเทศ

 

ปัจจุบันนอกจากค่าครองชีพสูง ค่าแรงในประเทศก็ซบเซาลง ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาก็พุ่งขึ้น สะท้อนภาพชัดครั้งใหญ่ เมื่อคนงานหลายแสนคนจำใจเดินทางออกนอกประเทศ ผู้คนหลายล้านคนในเมียนมาพบว่าตัวเองตกอยู่ในสภาวะไร้ซึ่งอิสระ ไม่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติ เนื่องจากสถานที่ทำงานถูกปิดหรือถูกทำลาย ท้ายที่สุดคือถูกบังคับให้หนีออกจากประเทศเพื่อเลี่ยงจากเหตุความรุนแรง 

 

โดยหากดู GDP ของเมียนมาเริ่มหดตัวประมาณ 18% ในปี 2021 เพราะเจอทั้งวิกฤตการเมืองภายใน และการแพร่ระบาดของโควิด ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

 

แม้เมื่อไม่นานมานี้ผู้นำทหารออกมาอ้างว่าเมื่อปี 2023 เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัว และ GDP จะเติบโต 4% ต่อปี แต่ในเดือนธันวาคม ธนาคารโลก (World Bank) คาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเมียนมาจะเข้าใกล้ระดับ 1% 

 

ภาพ: Claude LeTien / Getty image 

 

รายได้ต่ำ ชาวเมียนมากว่า 25% มีชีวิต ‘แขวนอยู่บนเส้นด้าย’ 

 

UNDP กล่าวอีกว่า ความทุกข์ทรมานที่ฝังรากลึกที่สุดของชาวเมียนมาอยู่ในพื้นที่ที่มีความขัดแย้งรุนแรงในรัฐกะยา พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกลุ่มกบฏต้องเผชิญกับการโจมตีทางอากาศโดยไม่เลือกปฏิบัติ ส่งผลให้รายได้ครัวเรือนลดลงกว่าครึ่งนับตั้งแต่ปี 2021 ซึ่งต่ำกว่ารัฐอื่นๆ อีกทั้งรายได้เฉลี่ยต่อหัวลดลงเหลือประมาณ 14 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งถือว่ายังน้อยกว่าที่องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดรายได้ขั้นต่ำที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต

 

ประชากร 25% มีชีวิตที่ ‘แขวนอยู่บนเส้นด้าย’ (hanging by a thread) และอยู่เหนือเส้นความยากจน ‘เพียงเล็กน้อย’ เท่านั้น

 

เมื่อความขัดแย้งทวีความรุนแรงมากขึ้น จึงนำมาสู่วิกฤตผู้คนพลัดถิ่น ชีวิตความเป็นอยู่ก็แย่ลง ที่สำคัญธุรกิจต่างๆ ปิดตัวลง และห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักในหลายพื้นที่ 

 

ขณะเดียวกัน กองทัพก็ไม่มีทีท่าว่าจะชะลอการปราบปราม โดย ริชาร์ด ฮอร์ซีย์ ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเมียนมาของกลุ่มวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศ (International Crisis Group) กล่าวว่า เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เศรษฐกิจเมียนมากำลังอยู่ท่ามกลางความอลหม่านของกองทัพ ที่ขวัญกำลังใจของทหารเองก็ย่ำแย่หลังกองทัพได้ประกาศเริ่มเกณฑ์ทหารใหม่

 

เมียนมากลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าอัฟกานิสถาน  

 

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงรายงานว่า กองทัพได้รับเงินทุนส่วนใหญ่จากการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และดำเนินธุรกิจสีเทา ผิดกฎหมาย หรือไร้การควบคุม โดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า เมื่อปีที่แล้วเมียนมากลายเป็นผู้ผลิตฝิ่นรายใหญ่ที่สุดของโลก แซงหน้าอัฟกานิสถาน  

 

“วันนี้เมียนมายังได้กลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางสแกมเมอร์ออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ดังนั้นแม้ว่าเศรษฐกิจในระบบจะล่มสลายแค่ไหน ซึ่งอาจต้องแลกมาด้วยความทุกข์ยาก กองทัพก็ยังมีหนทางที่จะจัดหาเงินทุนในการทำสงครามต่อไป” 

 

3 ปีรัฐประหาร กับการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (อาจไม่ช่วย?) 

 

จนถึงขณะนี้การคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังไม่มีผลให้กองทัพหวนกลับไปสู่เส้นทางประชาธิปไตยเท่าไรนัก

 

ประวัติศาสตร์ชี้ให้เห็นว่าสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับปรุงนโยบายการคว่ำบาตร ซึ่งผู้สังเกตการณ์ชาวเมียนมาถกเถียงกันมานานถึงประสิทธิผลของระบบคว่ำบาตรเมียนมาแบบเก่า 

 

โดยหลายคนสรุปว่า มีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อการตัดสินใจของรัฐบาลทหารที่กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่ผลจากแรงกดดันจากการคว่ำบาตร

 

อาเซียนงัดบทบาท ไม่ได้เมินสิทธิมนุษยชน   

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านอาเซียนเองก็ไม่ได้มองข้ามเรื่องของสิทธิมนุษยชน และพยายามงัดบทบาทด้วยการปฏิเสธเมียนมาที่จะขึ้นมาเป็นประธานอาเซียนในปี 2026

 

นอกจากนี้ กลุ่มภูมิภาคไม่น่าจะบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อเมียนมาในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกในการปรับปรุงสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยอย่างมีนัยสำคัญ ว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป

 

ส่องเศรษฐกิจเมียนมา

 

ปัจจุบันเมียนมามีประชากร 54.18 ล้านคน มีรายได้และมีจุดแข็งด้านทรัพยากรอย่างแหล่งก๊าซธรรมชาติ แร่โลหะ อัญมณี โดยมีประเทศที่ลงทุนในเมียนมาสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ จีน ฮ่องกง สหราชอาณาจักร และไทย โดยไทยมีมูลค่า 4,429.539 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีโครงการที่ยังดำเนินการอยู่ 104 โครงการ

 

IMF ระบุว่า ในปี 2023 GDP เมียนมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.49 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 6.81 ส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ที่ระดับ 1,228.54

 

ไทยค้าขายอะไรกับเมียนมา

 

สินค้าส่งออกที่สำคัญจากเมียนมามาไทย ได้แก่

  • ก๊าซธรรมชาติ (LNG) 
  • พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช
  • ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้
  • เนื้อสัตว์สำหรับการบริโภค
  • สัตว์น้ำ (สด) แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูป และกึ่งสำเร็จรูป
  • สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์
  • สัตว์มีชีวิตไม่ได้ทำพันธุ์
  • กาแฟ ชา และเครื่องเทศ 
  • สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ 

 

สินค้าที่ไทยส่งออกไปเมียนมา ได้แก่

  • น้ำมันสำเร็จรูป 
  • เครื่องดื่ม 
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 
  • เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เคมีภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ 
  • ข้าวสาลี และอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ
  • ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ 
  • เม็ดพลาสติก เหล็ก และเหล็กกล้า 
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล 

 

โดยมีการค้าชายแดนผ่าน 4 ด่านศุลกากรที่สำคัญ ได้แก่

  • ด่านสังขละบุรี/เจดีย์สามองค์-พญาตองซู
  • ด่านสิงขร-เมาตอง 
  • ด่านท่าเรือสะพานปลา (จ.ระนอง-เกาะสอง)
  • ด่านแม่สอด-เมียวดี (ที่กองกำลังกะเหรี่ยง KNU บุกยึดจังหวัดเมียวดีของเมียนมา ตรงข้าม อ.แม่สอด สำเร็จเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา)

 

ภาพ: filo / Getty image

 

เมียวดีสำคัญกับไทยแค่ไห

 

เมียวดีถือว่าเป็นประตูบานใหญ่สู่อาเซียน ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง โดยมีเมืองหลวงคือเมืองพะอัน เมียวดีมีชายแดนติดกับไทยที่ อ.แม่สอด จ.ตาก โดยมีแม่น้ำเมยกั้นอยู่ และเชื่อมด้วยสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา เป็นตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญ 

 

“ทางการเมียนมาจัดให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 จากด่านการค้า 15 แห่งในประเทศ เป็นเมืองสำคัญในการกระจายสินค้าจากไทยและภูมิภาคอินโดจีนไปยังเมืองต่างๆ ในเมียนมา”

 

จับตา ‘เศรษฐกิจแสนล้าน’ การค้าชายแดนไทย-เมียนมา 

 

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ที่ค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยน จึงมีนโยบายที่สามารถใช้เงินร่วมกันได้อย่างสะดวก ซึ่งเป็นเงินท้องถิ่นคือบาทกับจ๊าด โดย ธปท. ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลเมียนมา เรายังมีแต้มต่ออยู่

 

“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ขยายวงกว้าง กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามาสู้รบใกล้ชายแดนไทย ก็อาจทำให้ระบบโลจิสติกส์เริ่มมีปัญหา การค้าขายส่งสินค้าติดขัด ซึ่งเราค้าขายกันแต่ละปีมีมูลค่าถึงแสนล้าน ต้องติดตามสถานการณ์การค้าใกล้ชิด แม้ว่ามีเพียงบางบริษัทที่ถอนการลงทุนไปแล้ว”

 

โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ ปตท.สผ. (PTTEP) แจ้งว่า บริษัท Unocal Myanmar Offshore Company Limited (UMOC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ Chevron ได้แจ้งความจำนงถอนการลงทุนในโครงการยาดานา

 

หลังจากนี้สถานการณ์ในเมียนมาจะเป็นเช่นไรต่อไป หากสงครามยืดเยื้อนานวันมีแต่จะส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ หากผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหวต้องปิดกิจการลง แรงงานเมียนมาอาจไหลเข้าไทยมากขึ้นหรือไม่ คงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising