เปิดโจทย์เศรษฐกิจและความคาดหวังต่อ ‘วิทัย รัตนากร’ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ TDRI มองเป็นโอกาสใหม่ให้ ธปท. ทบทวนนโยบายการเงิน ให้รองรับกับเศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมเตือนทำนโยบายผิดพลาด กระทบทั้งประเทศ ขณะที่ CIMB แนะผู้ว่าฯ ธปท. ต้องเป็น ‘ผู้นำฝ่าคลื่น’ ไม่ใช่แค่ผู้รักษาเสถียรภาพ
วานนี้ (22 สิงหาคม) พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เสนอชื่อ ‘วิทัย รัตนากร’ ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติเป็นบุคคลที่สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ลำดับที่ 25 คนที่ 22’
โดยพิชัยยัง ‘คาดหวัง’ ว่า ผู้ว่าฯ ธปท. คนต่อไปขับเคลื่อนหลายประเด็น โดยเฉพาะในส่วนของสถาบันการเงินและเรื่องแก้หนี้ พร้อมทั้งยืนยันว่า การดำเนินนโยบายการเงินของ ธปท. ‘จะเป็นอิสระ’ กระนั้น ธปท. ‘ก็ต้องทำงาน’ ให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
โดยจะให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้ประมวลเหตุการณ์ทั้งหมดมาประกอบ และพิจารณาจากทั้งเหตุการณ์ปัจจุบันอย่าง นโยบายภาษีสหรัฐฯ เพื่อกำหนดนโยบาย โดยจะไม่ไปคิดแทนล่วงหน้า ส่วนการหารือเรื่องกรอบเงินเฟ้อขอดูเหตุผลและข้อจำกัดก่อน
แนะแบงก์ชาติ Rethink นโยบายการเงิน รองรับโลกเศรษฐกิจยุคใหม่
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ควรใช้โอกาสนี้ทบทวนและประเมินความเหมาะสมของนโยบายการเงินในปัจจุบัน ทั้งในมิติของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ค่าเงินบาท และบทบาทการประสานงานกับนโยบายการคลัง
“ผมไม่ได้หมายความว่า (ธปท.) ควรเร่งลดดอกเบี้ยหรือแทรกแซงค่าเงินโดยตรง แต่ผู้ว่าใหม่ซึ่งไม่ใช่ลูกหม้อของแบงก์ชาติ อาจนำมุมมองใหม่เข้ามา ตั้งคำถามและคิดใหม่ (Rethink) เกี่ยวกับเส้นทางที่ควรเดินต่อไป แต่ต้องมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และเน้นผลลัพธ์ที่จับต้องได้”
“นโยบายต้องไม่ใช่แค่ถูกทางวิชาการ แต่ต้องเห็นผลจริงในภาคปฏิบัติ” ดร.นณริฏ ย้ำ
นอกจากนี้ ดร.นณริฏ ยังตั้งความหวังว่าผู้ว่าคนใหม่จะกล้าคิดกล้าทำในเรื่อง ‘Unconventional’ มากขึ้น เช่น การมีบทบาทเชิงรุกในการจัดการปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เรื้อรัง และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อย่างสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งหากทำได้อาจเป็นกลไกเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว
ดร.นณริฏ เสริมอีกว่า การดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากการตัดสินใจผิดพลาดในระดับสถาบันการเงินอาจสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อทั้งระบบเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่เฉพาะรายบุคคล
นอกจากนี้ ในเชิงสถาบัน ดร.นณริฏ มองว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่ ธปท. มีผู้ว่าที่ไม่ได้มาจากสาย ‘เทคโนแครต’ โดยตรง และเป็นโอกาสที่จะปรับสมดุลของ DNA ภายในองค์กรเพื่อให้เกิดพลังผสานและตอบโจทย์ความท้าทายในปัจจุบันได้อย่างแท้จริง
“เราต้องเร่งหาคำตอบว่า ประเทศไทยจะเดินไปทางไหน โดยเฉพาะในช่วงที่ความเห็นทางนโยบายแตกต่างหลากหลายเช่นนี้ ทั้งแบบ Conventional และ Unconventional การ Rethink นโยบายที่มีอยู่จึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น” ดร.นณริฏ ทิ้งท้าย
‘ลงจากหอคอย สู่ท้องทุ่ง’ เพื่อฟังเสียงจากรากหญ้า
ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB Thai) โพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม Facebook เกี่ยวความคาดหวังต่อบทบาทของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่ คือ ‘วิทัย รัตนากร’ โดยชี้ว่าถึงเวลาแล้วที่ ธปท. จะต้อง “ลงจากหอคอย สู่ท้องทุ่ง” เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากประชาชนในระดับรากหญ้าอย่างแท้จริง
ดร.อมรเทพ ระบุว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกเปราะบาง หนี้ครัวเรือนสูง และภาคการผลิตต้องการการฟื้นตัว บทบาทของผู้ว่าฯ ธปท. จึงไม่ใช่เพียงผู้รักษาเสถียรภาพเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำที่มีความกล้าในการ ‘ฝ่าคลื่นใหญ่’ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน โดย ดร.อมรเทพ มองว่า วิทัยมีจุดแข็งในฐานะผู้บริหารที่เคยผ่านการพลิกฟื้นสถาบันการเงินมาแล้วหลายแห่ง เช่น ธนาคารอิสลามและธนาคารออมสิน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการบริหารทรัพยากรจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในมุมมองของ ดร.อมรเทพ ผู้ว่าฯ คนใหม่ควรมีคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้:
- เปิดใจรับฟังเสียงประชาชน: ธปท. ควร ‘เปิดประตูหอคอย ฟังเสียงบ้านนา’ และประเมินนโยบายการเงินโดยคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนตัวเล็ก, SME และผู้มีรายได้น้อย ไม่ใช่เพียงแค่มองตัวเลขทางสถิติอย่างเงินเฟ้อหรือ GDP เท่านั้น แต่ต้องเชื่อมโยงอัตราดอกเบี้ยเข้ากับ ‘ชีวิตจริง’ ของคนไทย
- สร้างสมดุลระหว่างเสถียรภาพและนวัตกรรม: นอกจากการดูแลเรื่องเสถียรภาพแล้ว ธปท. ต้องกล้าที่จะ ‘เปิดพื้นที่’ ให้เทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ เช่น ดิจิทัลแบงก์ ได้เติบโตควบคู่ไปกับกรอบการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง เพื่อให้ระบบการเงิน ‘ทั้งปลอดภัยและไม่ล้าสมัย’
- สื่อสารอย่างจริงใจ: ความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางเกิดจาก ‘ความไว้วางใจ’ ที่ประชาชนรู้สึกได้ ผู้ว่าฯ คนใหม่จึงควรสื่อสารด้วยภาษาที่คนทั่วไปเข้าใจง่าย กล้าบอกความจริง และกล้าฟังเสียงที่หลากหลาย เพื่อให้ประชาชนรู้สึกว่า ธปท. ‘อยู่ข้างเขา’
- กล้าตัดสินใจเพื่ออนาคต: ในบางครั้งนโยบายที่ถูกต้องอาจไม่เป็นที่นิยมในระยะสั้น แต่มีความจำเป็นเพื่อปูทางสู่เศรษฐกิจที่มีศักยภาพในระยะยาว ผู้ว่าฯ ต้องมีความกล้าที่จะตัดสินใจเพื่ออนาคตของประเทศ
- ดำรงความเป็นอิสระ: ดร.อมรเทพเน้นย้ำถึง ‘ความเป็นอิสระ’ ของธนาคารกลางอย่างแท้จริง โดยไม่เอนตามแรงกดดันทางการเมืองหรือกลุ่มผลประโยชน์ใดๆ ซึ่งความอิสระนี้คือการยืนอยู่บนหลักวิชาและข้อมูลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนทั้งประเทศ
ดร.อมรเทพ ทิ้งท้ายว่า บทบาทของผู้ว่าฯ ธปท. ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากวิทัยสามารถยืนหยัดด้วยความโปร่งใส เปิดใจ และกล้าตัดสินใจอย่างเป็นธรรม ประเทศไทยก็อาจจะได้ผู้นำที่ ‘ใช่จริงๆ’ ในเวลาที่จำเป็นที่สุด
ชาติศิริเชื่อผู้ว่าฯ แบงก์ชาติคนใหม่ เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน
ขณะที่ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL เชื่อว่า การขึ้นมาดำรงตำแหน่ง ‘ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย’ ของ ‘วิทัย รัตนากร’ น่าจะเห็นการแก้หนี้ครัวเรือนมากขึ้น ทำให้เป็นประโยชน์ต่อลูกหนี้จำนวนมาก
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงให้เห็นว่า สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมเครือ) ในไตรมาส 1 ปี 2568 หดตัวอยู่ที่ 1.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน นับเป็นการหดตัว 3 ไตรมาสติดต่อกัน และหดตัวหนักกว่าไตรมาส 4 ปี 2567 ที่หดตัวอยู่ที่ 0.4% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่ยังอยู่ในระดับสูง
โดยยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL) ไตรมาส 1 ปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.48 แสนล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.9% โดยปัจจัยหลักมาจากสินเชื่อ SMEs และสินเชื่อที่อยู่อาศัย