×

ECOLIFE หนทางใหม่ของการลดขยะพลาสติก สนุก ง่าย และวัดผลได้จริง

10.07.2019
  • LOADING...
ECOLIFE

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ถ้าถามว่าทำอย่างไรให้คนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างแรกคือต้องง่าย สองคือต้องทำให้รู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วม วัดผลให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และคนรู้สึกว่าทำแล้วได้ประโยชน์
  • วิธีใช้งานแอปพลิเคชัน ECOLIFE คือ เปิดแอปฯ พร้อมมองหา QR Code ของ ECOLIFE สำหรับร้านต่างๆ สแกน QR Code ที่มีรูปน้องหมี ซึ่งตัวการ์ตูนในแอปฯ จะโตขึ้น แล้วผู้ใช้งานจะได้รับ ECO POINT ซึ่งสามารถใช้ในการแลกของหรือแลกรับส่วนลดจากร้านค้าที่ร่วมรายการได้
  • สุดท้ายสิ่งที่ท็อปและนุ่นทำคงจะไม่มีผลลัพธ์ที่จับต้องได้ ถ้าไม่มีร้านที่มีเครือข่าย หรือศูนย์การค้าเข้ามาร่วมด้วย ซึ่งทั้งคู่หวังว่าสิ่งที่ทำอยู่จะแสดงให้หน่วยงานรัฐเห็นผล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการออกกฎหมาย หรือหามาตรการที่จริงจังในการจัดการกับขยะพลาสติกต่อไป

คุณเคยลองนับดูหรือไม่ ว่าในหนึ่งวัน มือของคุณสัมผัสพลาสติกทั้งหมดกี่ชิ้น มีสักกี่ชิ้นที่คุณใช้งานมันเกินหนึ่งครั้ง แล้วมีอีกกี่ชิ้นที่คุณทิ้งลงถังขยะโดยที่ยังไม่ได้แม้แต่จะใช้ทำอะไรเลย

 

ในโลกสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยผลิตภัณฑ์จากพลาสติก เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลาสติกได้กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญของชีวิตเราทุกคน พลาสติกกลายมาเป็นเหมือนเพื่อนสนิทที่มีโอกาสได้เจอหน้ากันอยู่บ่อยๆ ในแต่ละวันผลิตภัณฑ์จากพลาสติกเหล่านี้มักจะแวะเวียนมาให้เราได้พบเจอ ทักทาย และบอกลากันอย่างไม่ขาดสาย มันเป็นเหมือนเพื่อนที่เราพึ่งพาได้อยู่เสมอ เราจะเรียกเพื่อนคนนี้มาใช้งานเมื่อไรก็ได้ พอไม่ต้องการแล้วก็แค่บอกลากันไป ทิ้งมันไว้ในถังขยะ ดูเหมือนว่าเราจะรักเพื่อนคนนี้มาก จนกระทั่งวันหนึ่งที่เราต้องใจสลายเมื่อพบกับความจริงที่ว่า ทุกๆ ครั้งที่เราโบกมือลาพลาสติกอย่างไม่แยแส คือทุกๆ ครั้งที่สัตว์ทะเลต้องทนทรมานจากขยะพลาสติก ทุกๆ ครั้งที่ปะการังถูกทับถมด้วยขยะ และคือทุกๆ ครั้งที่ระบบนิเวศถูกทำลาย

 

ทุกวันนี้ หลายๆ ประเทศทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับการลดขยะพลาสติกมากขึ้นเรื่อยๆ และทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างก็พยายามรณรงค์ให้ผู้คนเห็นความสำคัญของการลดขยะพลาสติกทั้งในระดับครัวเรือน และระดับองค์กรอย่างจริงจัง 

 

อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ในหลายๆ ภาคส่วนก็ยังไม่เกิดผลลัพธ์ใดๆ ที่ชัดเจน โดยเฉพาะในประเทศไทยที่หลายๆ กลุ่มหรือองค์กรยังคงไม่ได้ให้ความสนใจกับการลดขยะพลาสติกมากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่ขยะพลาสติกยังคงถูกทิ้งอย่างต่อเนื่องในปริมาณมากจนยากที่จะเพิกเฉยได้

 

เมื่อวันสิ่งแวดล้อมโลกที่ผ่านมา นุ่น-ศิรพันธ์ วัฒนจินดา และ ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร คู่รักนักสิ่งแวดล้อม กล้าที่จะนำเสนอวิธีการใหม่ที่แตกต่างออกไป วิธีการที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนในโลก วิธีการที่จะทำให้ทุกคนสามารถลดขยะพลาสติกได้ง่ายๆ และบอกลาเพื่อนรักพลาสติกของเราได้อย่างเป็นมิตร นอกจากจะไม่ต้องเสียอะไรแล้ว ทุกๆ คน ทุกๆ ภาคส่วน ทุกๆ สิ่งมีชีวิต รวมถึงสิ่งแวดล้อมกลับจะมีแต่ได้กับได้ 

 

THE STANDARD ขอพาทุกคนไปพบกับแอปพลิเคชัน ECOLIFE หนทางใหม่ของการลดขยะพลาสติก ที่ไม่ได้แค่ให้ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย แต่สนุก ง่าย และวัดผลได้จริง

พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เขาถูกสร้างขึ้นมา เราควรใช้เขาให้คุ้มกับไอเดียที่ทำให้เขาเกิดมา เขาเกิดมาแล้วเขาอยู่ได้ 400 กว่าปีนะ ใช้เขาให้คุ้มค่าหน่อยเถอะ

ECOLIFE

 

แอปพลิเคชันนี้เริ่มต้นอย่างไร

ท็อป: เริ่มต้นจากความอยากของผมก่อน อยากทำ ก็เลยไปขอเงินภรรยา (หัวเราะ) 

 

ถ้าถามว่าทำอย่างไรดีให้คนสามารถทำอะไรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างแรกคือต้องง่าย สองคือต้องทำให้รู้สึกสนุกและอยากมีส่วนร่วมด้วย ต่อมาคือเราต้องการวัดผลให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสุดท้ายคือมันน่าจะดีนะถ้าเกิดคนมาช่วยกันทำดีเพื่อสิ่งแวดล้อมแล้วได้ประโยชน์ตอบแทนไปเลย 

 

โดยเรามีแนวคิดว่าอยากให้คนไทยได้รู้จักสัตว์ของไทย ดังนั้นเราเลยเอาสัตว์ต่างๆ ที่อยู่ในป่า ในธรรมชาติ และในเมืองไทย มาวาดเป็นตัวละครทั้งหมด ส่วนตัวละครที่เอามาชูโรงมี 5 ตัว เป็นสัตว์ที่มีอยู่จริงที่อาศัยอยู่ที่ขั้วโลก แต่น้ำแข็งที่ขั้วโลกกำลังละลายเขาก็เลยต้องอพยพย้ายมาอยู่บ้านเรา พอมาอยู่บ้านเรา สัตว์ต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยก็ช่วยกันลดขยะพลาสติกเพื่อทำให้สภาพแวดล้อมดีขึ้น เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อโลกใบนี้ดีขึ้น เราก็จะส่งพวกเขากลับบ้านได้

 

ECOLIFE

 

ECOLIFE มีวิธีการใช้งานอย่างไร

นุ่น: วิธีการใช้งานก็คือเปิดแอปพลิเคชัน ECOLIFE แล้วก็ไปหา QR Code ของ ECOLIFE สำหรับร้านนั้นๆ สมมติว่าวันนี้เราพกกระบอกน้ำมา พอไปถึงร้านเราก็บอกพนักงานว่าวันนี้เราไม่เอาแก้ว พอกดปุ่มที่เขียนว่า Scan ก็จะมีรูปของประเภทพลาสติกให้เลือก เราก็เลือกรูปแก้ว เลือกปุ๊บมันก็จะเป็นกล้อง แล้วเราก็ไปสแกน QR Code ที่มีรูปน้องหมีที่เขามีให้ที่ร้าน พอสแกนปุ๊บ พื้นที่มันจะเพิ่มขึ้น ตัวการ์ตูนในแอปฯ ของแต่ละคนมันจะโตขึ้น โหลดมาครั้งแรกก็จะได้ไข่มา พอเริ่มลดการใช้พลาสติก ไข่มันก็จะเริ่มแตกออกมาเป็นตัวอ่อน ลดอีกสองสามครั้งก็จะโตกลายเป็นตัวเต็มวัย พอได้หนึ่งตัวมาสะสมแล้วก็จะได้ไข่ฟองใหม่มา แต่เราก็จะไม่รู้หรอกว่าลูกของเราตัวต่อไปจะออกมาเป็นตัวไหน มันจะเป็นการสุ่ม เหมือนการเลี้ยงทามาก็อตจิให้โตนั่นแหละ แค่การให้อาหารของตัวละครในนี้ก็คือการลด Single-use Plastic

 

ท็อป: ตอนนี้คอลเล็กชันจะแบ่งเป็น Forest, Sea, Field และ Wetland ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่อยู่ในบ้านเรา ตอนแรกแต่ละตัวในคอลเล็กชันจะยังเป็นเงาอยู่ แล้วตัวละครที่ยังไม่ได้ปรากฏโฉมก็คือสัตว์ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นจริงๆ ถ้าเราสะสมพื้นที่สะสมตัวละครไปเรื่อยๆ ตัวละครที่เราได้มาแล้วก็จะโผล่เป็นสีขึ้นมา แล้วมันจะมีแรร์ไอเท็มด้วยนะ เช่น ช่วงต้นปีที่ผ่านมาเป็นปีหมู เราเลยทำตัวละครหมูทอง เป็นหมูที่ใส่สร้อยทอง ถือทองเต็มไปหมด เพื่อให้คนที่ใช้ในช่วงปีใหม่ หรือในอนาคตเราอาจจะไปเข้าร่วมกับที่บางที่เพื่อสร้างตัวละครให้กับสถานที่นั้น สมมติว่าถ้าคุณมาใช้บริการสถานที่นั้นไปเรื่อยๆ คุณอาจจะได้แรร์ไอเท็มที่มันเกิดจากการดีไซน์ให้กับสถานที่นั้นเป็นพิเศษด้วย

 

นุ่น: ทุกครั้งที่เราสแกนลดขยะ เราก็จะได้คะแนน ECO POINT มา ซึ่งจะจำกัดอยู่ที่ 10 ครั้งหรือ 10 คะแนนต่อวัน เพราะว่ามันจะมีระบบ Redeem จากผู้สนับสนุนของเราที่ให้นำคะแนนมาแลกของได้ อย่างสตาร์บัคส์หรือโอโตยะ ร้านเหล่านี้ที่เข้ามาร่วมกับเรา ก็สามารถใช้ ECO POINT ในการแลกของหรือแลกรับส่วนลดได้ เพราะฉะนั้น ECO POINT ก็จะมีค่ามาก เลยจำกัดว่าไม่เกิน 10 คะแนนต่อวัน แต่ถ้าอยากช่วยกันลดขยะเพื่อให้ตัวละครมันโตขึ้นจะลดกี่ครั้งก็ได้

 

คิดว่าปัญหาของสังคมไทยที่ทำให้คนยังใช้พลาสติกกันอยู่คืออะไร

ท็อป: มันคือความเคยชิน เมื่อก่อนนี้ตอนที่ผมเด็กๆ มันก็ยังไม่ได้มีพลาสติกเยอะมากขนาดนี้ ยิ่งรุ่นพ่อรุ่นแม่เราก็ยิ่งไม่ได้มีขนาดนี้ ย้อนกลับไปรุ่นยายเมื่อก่อนเขาก็ถือตะกร้ากัน แต่พอมันเกิดความเคยชิน ผลิตภัณฑ์พลาสติกต่างๆ ก็มีออกมาจนเยอะเกินไป แล้วปัญหาสำหรับบ้านเรา ณ เวลานี้คือพอใช้เยอะเกินไป ในขณะที่การจัดการยังไม่ดีพอ มันก็เลยกลายเป็นปัญหาสะสม พอเป็นปัญหาสะสมสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ รุ่นเราเห็นปัญหา แต่รุ่นเด็กกว่าเราจะเป็นคนรับเคราะห์ แล้วถ้ายังไม่มีการทำอะไรเลย สุดท้ายเคราะห์นี้ก็จะมีต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ไม่จบไม่สิ้น

 

Single-use Plastic ถ้าแปลจริงๆ ก็คือพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งก็คืออะไรก็ตามที่คุณใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งไปซึ่งมีหลายประเภท แต่ 4 ประเภทที่เราเห็นว่าคนใช้เยอะและเป็นปัญหามากที่สุดก็คือ หนึ่งถุงพลาสติก สองคือหลอด สามคือแก้ว และสี่ก็คือช้อนส้อมพลาสติกนี่แหละ อย่างเวลาเราไปซื้อเครื่องดื่มมันจะมีทั้งแก้ว ฝาปิด หลอด ทิชชู แล้วก็ถุงพลาสติก ส่วนมากยังไม่ได้ใช้งานให้คุ้มค่าเลย ดูดแป๊บเดียวก็ทิ้งหมดแล้ว พลาสติกพวกนี้มันส่งผลระยะยาว เพราะมันมีอายุที่จะอยู่บนโลกนี้ได้เป็นร้อยปี ก็เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเรามาลด 4 ประเภทนี้ก่อนที่เป็นประเภทหลักๆ เพราะว่ามันเป็นขยะที่เยอะแล้วก็จัดการลำบาก

 

นุ่น: เราพยายามพูดตลอดว่า พลาสติกไม่ใช่ผู้ร้าย แต่เขาถูกสร้างขึ้นมา เราควรใช้เขาให้คุ้มกับไอเดียที่ทำให้เขาเกิดมา เขาเกิดมาแล้วเขาอยู่ได้ 400 กว่าปีนะ ใช้เขาให้คุ้มค่าหน่อยเถอะ แล้วเราก็ไม่ได้บอกว่าใครถือถุงพลาสติกแล้วเป็นคนเลว เพราะเรากินชานมไข่มุกมันก็มีวันที่จังหวะนั้นไม่รู้จะไปหาหลอดสเตนเลสจากที่ไหน ถ้าจำเป็นมันก็ต้องใช้ แต่ถ้าวันไหนมันไม่จำเป็นก็แค่ลดสักหน่อย คิดดูว่าถ้าเราลดแค่คนละสองถุง ภาพรวมของคนทั้งโลกมันก็ลดได้เยอะมากแล้ว อยากให้มองภาพรวมเพราะถ้าเรามองแค่ตัวเองมันก็จะลดได้แค่สองถุง

 

ECOLIFE

 

ECOLIFE เข้าถึงผู้คนได้อย่างไร

นุ่น: จริงๆ แล้วการใช้ Single-use Plastic โดยเฉพาะพวกถุงพลาสติกส่วนใหญ่อยู่ที่ตลาด ซึ่งตลาดพวกนี้เวลานุ่นลงพื้นที่นุ่นรู้เลยว่าคุณป้าทุกคนเขาก็มีใจอยากช่วยนะ แต่จะให้ไปบอกลูกค้าว่า ป้าไม่ให้ถุงนะ มันก็ยาก เขาก็เลยบอกว่าแอปฯ เราเหมือนเป็นเครื่องจูงใจให้คนอยากจะเริ่มลดจากตัวเขาเอง 

 

ความน่ารักก็คือในช่วงที่เราเปิดตัว มีคนที่เชียงใหม่บอกว่า พี่ หนูอยากใช้แต่ที่เชียงใหม่ไม่มีสักร้านที่ร่วมกับแอปฯ เลย เราก็บอกว่า ถ้าอย่างนั้นหนูก็ไปหามานะว่าร้านไหนน่าสนใจ แล้วหนูก็ไปชวนเขามา เพราะนุ่นเชื่อว่าเราจะมีร้านที่เรารู้จัก ร้านประจำที่จริงๆ เจ้าของร้านเขามีใจแต่ข่าวสารอาจจะไปไม่ถึง ก็เลยบอกให้เขาไปติดต่อมาเลย เดี๋ยวทำโค้ดส่งไปให้ ไม่มีค่าใช้จ่ายอะไร เราอยากเป็นเครื่องมือแล้วก็คอยสนับสนุนทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นตลาด ร้านค้า หรือว่าโรงเรียน เพื่อที่สุดท้ายเราจะได้มีข้อมูลที่จะทำให้คนทั้งประเทศเห็นว่า ถ้าเราช่วยกันมันลดได้จริงๆ นะ

 

ถ้าตลาดหรือโครงการไหนสนใจจะเข้าร่วม ตอนนี้จะมีเพจกลางคือเฟซบุ๊ก ECOLIFE app แค่อินบ็อกซ์เข้ามา เราจะมีแอดมินรอตอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นยูสเซอร์ที่มีปัญหาในการใช้งาน หรือร้านค้าที่อยากเข้าร่วมก็ทักเข้ามาได้เลย จริงๆ โครงการต่างๆ เราก็สนใจนะ อย่างเช่น โครงการวิ่งที่มีการแจกแก้ว ซึ่งหลายๆ ที่เราก็เริ่มเห็นว่ามีการพยายามทำให้การวิ่งมันกรีนมากขึ้น แบบนี้เราอยากไปร่วมด้วย เพราะเราเชื่อว่าทำบ่อยๆ คนจะค่อยๆ เปลี่ยน เราไม่เชื่อเรื่องของการทำใหญ่ทีเดียวแล้วเดี๋ยวคนก็ลืม เราพยายามบอกว่า ECOLIFE มันคือการทำทุกๆ วัน

 

ท็อป: ไม่อยากอัปเปอร์คัต พยายามแย็บไปเรื่อยๆ (หัวเราะ)

 

หลายคนมองว่าการใช้ชีวิตแบบ ECO เป็นเรื่องยาก มีวิธีการพูดกับคนเหล่านี้อย่างไร

ท็อป: ไม่ต้องพูด แค่ทำ ทำเลย ทำให้เห็น เริ่มต้นจากการทำเอง อย่างเช่น ผมมีขยะอยู่หนึ่งกอง ผมก็แยกหนังสือพิมพ์ แยกขวดแชมพูหรืออะไรที่เป็นพลาสติกไว้เป็นสามสี่ถัง ขวด แก้ว กระป๋องอลูมิเนียม อะไรก็ตามที่ขายได้ก็แยกเอาไว้ แล้วผมก็เอาไปขาย แล้วก็ให้แม่บ้านเห็นว่าเราเอาไปขาย เขาก็ไปด้วยแล้วก็เห็นเลยว่าได้เงิน หลังจากนั้นเขาก็ทำตาม การทำให้เห็นนี่แหละดีกว่าการที่คอยพูดด้วยซ้ำ

 

เว็บไซต์ชื่อ ecolifeapp.com มีขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าแต่ละวันในการช่วยกันลดขยะ เราลดกันไปได้กี่ชิ้นแล้ว ให้เห็นกันแบบเรียลไทม์ได้เลย นับจำนวนได้เลยว่ากี่ชิ้น แล้วขยะแต่ละประเภทลดลงไปได้เท่าไร คนที่เข้ามาดาวน์โหลดวันนี้มีเท่าไร ซึ่งตอนนี้ก็มีคนดาวน์โหลดแล้วสองหมื่นกว่าคน ลดไปได้เกือบสามแสนชิ้นแล้ว

 

จุดเด่นของ ECOLIFE คืออะไร

ท็อป: แอปฯ นี้มันเป็นแอปฯ ที่อยากจะให้ทุกคนวินวิน ร้านค้าก็ได้ลดต้นทุน คือถุงพลาสติก แก้ว หรือหลอด ของพวกนี้มันมีต้นทุนในการซื้อมาทั้งนั้น ถ้าไม่ต้องแจก คุณก็จะลดต้นทุนตรงนี้ลงไปได้ เจ้าของตลาด เจ้าของสถานที่ คุณก็ต้องจัดการกับขยะ งบประมาณที่ลงไปในส่วนนี้มันก็จะลดน้อยลง สภาพแวดล้อมกับสถานที่มันก็จะสะอาดสะอ้าน ดูดียิ่งขึ้น พร้อมๆ กับคนก็จะรู้สึกดีถ้าเรามีแคมเปญแบบนี้ ภาครัฐที่จะต้องมาดูจัดการ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเขต จังหวัด หรือว่าในส่วนของประเทศ งบประมาณที่คุณจะต้องลงไปในส่วนนี้มันก็อาจจะลดน้อยลง เอางบไปทำอย่างอื่น เอาไปปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวไหม ไปทำสวนสาธารณะที่อยู่ในชุมชนไหม หรือว่าไปให้การศึกษา ทำให้เด็กๆ ได้มีการศึกษาที่ดีขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้นไหม

 

นุ่น: ผู้ใช้ก็ได้ความสนุก ได้ตุ๊กตามาสะสม ได้ช่วยลดขยะพลาสติก แล้วก็ได้ ECO POINT มาแลกของ หรือว่าแลกเป็นส่วนลดจากร้านค้าที่เข้าร่วมก็ได้นะคะ

 

ท็อป: โมเดลแบบนี้ทั่วโลกก็ยังไม่มีนะ เราก็หวังว่าถ้าในอนาคตต่อไป ถ้ามันทำให้ประเทศนี้ดีขึ้น มันอาจจะไปประเทศอื่นต่อๆ ไปที่ที่มีปัญหาอย่างนี้เหมือนกันได้

 

สุดท้ายมันจะไม่เกิดผลอะไรมาก ถ้าไม่มีร้านที่มีเครือข่าย หรือศูนย์การค้าที่สามารถออกนโยบายให้ร้านที่อยู่ในเครือได้เข้ามาร่วมกับเรา คุณจะทำแคมเปญอะไรอยู่เราก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้ เราไม่ได้จะเข้าไปเปลี่ยนแคมเปญหลัก แต่เราทำเพื่อที่จะช่วยกันวัดผล แล้วผมก็อยากที่จะให้ผลนี้ส่งไปถึงคนที่ดูแลประเทศของเราต่อไป ให้เขาเห็นว่ามีคนที่ร่วมกันทำได้ขนาดนี้จริงๆ ให้เขามีความมั่นใจมากขึ้นจากผลที่พวกเราช่วยกัน ว่ามันสามารถออกกฎหมายในเรื่องนี้ได้ แล้วปัญหาปลายทางมันก็จะลดน้อยลงไปในที่สุด

 

สนใจศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ecolifeapp.com

หรือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ ECOLIFE ได้ผ่านทาง www.facebook.com/ECOLIFEapp

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X