คริสติน ลาการ์ด (Christine Lagarde) ประธานธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ออกโรงเตือนเมื่อวันจันทร์ที่ 17 เมษายนว่า ความขัดแย้งบาดหมางระหว่างสหรัฐฯ กับจีน สองชาติมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพการค้าโลก เพิ่มอัตราเงินเฟ้อ และชะลอการเติบโตทำให้เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ
ความเห็นดังกล่าวมีขึ้นระหว่างที่ลาการ์ดขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ที่ Council on Foreign Relations ในนิวยอร์ก ซึ่งเธอระบุว่า ข้อมูลทางเศรษฐกิจย้อนกลับไปในช่วงทศวรรษที่ 1900 แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จะนำไปสู่อัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเสมอ
นอกจากนี้ลาการ์ดยังกล่าวว่า ต้นทุนมีแนวโน้มสูงขึ้นเนื่องจากประเทศต่างๆ หยุดหรือลดการค้าขายกับคู่แข่ง และแสวงหาสินค้าจากภายในประเทศหรือจากประเทศพันธมิตร ขณะที่การตัดขาดความสัมพันธ์อาจเป็นเรื่องยาก ตัวอย่างเช่น กรณีของยุโรปที่มีการพึ่งพาแร่ธาตุหายากจากจีนถึง 98% ซึ่งใช้ในโทรศัพท์มือถือและฮาร์ดไดรฟ์คอมพิวเตอร์ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ
ทั้งนี้ ลาการ์ดประเมินว่า หากห่วงโซ่อุปทานของโลกต้องแตกแยกตามเส้นแบ่งทางภูมิรัฐศาสตร์ ต้นทุนราคาผู้บริโภคอาจเพิ่มขึ้น 5% ในระยะใกล้ และ 1% ในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ลาการ์ดยังเตือนด้วยว่า สหรัฐฯ ไม่ควรเพิกเฉยต่อบทบาทของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินหลักของการค้าโลก โดยแม้ในขณะนี้จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากการท้าทายที่เกิดขึ้นกับสกุลเงินใดๆ ก็ตาม แต่กระนั้น จีน รัสเซีย และประเทศอื่นๆ ก็กำลังหาทางลด ละ เลิก การพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์ของสหรัฐฯ ที่รัฐบาลจีน รัสเซีย และอิหร่านมองว่า สหรัฐฯ พยายามใช้อิทธิพลที่มีในการครอบงำหรือบีบบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรลงโทษทางเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อรัสเซียหลังจากการรุกรานยูเครนเมื่อปีที่แล้ว
นอกจากนี้ ประธานธนาคารกลาง ECB กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกที่แตกเป็นเสี่ยงและมีประสิทธิภาพน้อยลงจะทำให้ธนาคารกลางควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ยากขึ้น และธนาคารกลางจะต้องการความช่วยเหลือจากผู้กำหนดนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะต้องหาทางควบคุมต้นทุนโดยการปรับปรุงประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทานและการอนุรักษ์พลังงาน
ลาการ์ดซึ่งรับตำแหน่งประธาน ECB ในปี 2019 หลังจากที่เพิ่งจะลงจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า เป้าหมายนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรปเริ่มจะเห็นผลในการต่อสู้กับเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศที่ใช้สกุลเงินยูโรหรือยูโรโซนบ้างแล้ว ยืนยันได้จากตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนมีนาคม ซึ่งปรับตัวลดลงแตะระดับ 6.9% ถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 1 ปี และลดลงจากระดับสูงสุดที่ 10.6% ในเดือนตุลาคม ปี 2022 ที่ผ่านมา กระนั้น สถานการณ์เงินเฟ้อของยุโรปก็ยังไม่สามารถวางใจได้ ตราบใดที่ยุโรปยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซีย
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ต้องรีบซื้อตุน? เหตุยุค ‘เงินเยน’ อ่อนค่าอาจจบแล้ว! หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ แผ่วกว่าคาด ดึงดอลลาร์อ่อน
- กูรูประเมิน ‘เงินวอน’ อาจแข็งค่าแตะ 1,100 วอนต่อดอลลาร์ปีหน้า แนะรีบช้อนซื้อช่วงไตรมาส 1 ปี 2023
- ธนาคารกลางจีนยืนนโยบาย ‘รักษาค่าเงินหยวน’ หวังคงเสถียรภาพตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
อ้างอิง: