×

Easy e-Receipt 2.0 ลดหย่อนค่าซื้อสินค้า-ค่าบริการ ตามจำนวนจ่ายจริง สูงสุด 50,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม – 28 กุมภาพันธ์ 2568

24.12.2024
  • LOADING...
Easy e-Receipt

วันนี้ (24 ธันวาคม 2567) คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการมาตรการ 
Easy e-Receipt 2.0 ซึ่งเป็นการขยายผลจากมาตรการเดิม Easy e-Receipt เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในปี 2568 โดยให้ผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล) หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง และสูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะที่ได้รับ e-Tax Invoice หรือ e-Receipt เท่านั้น

 

ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เห็นผลตอบรับที่ดีเยี่ยมจากมาตรการ Easy e-Receipt ในช่วงต้นปี 2567 จึงเดินหน้าสานต่อความสำเร็จนี้ เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอร่างกฎกระทรวง ฉบับที่ .. (พ.ศ. ….) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ออกมาตรการ Easy e-Receipt 2.0 ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

 

  1. ให้หักลดหย่อนค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในประเทศ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 – วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568 ได้สูงสุด 50,000 บาท ดังนี้ 
  • 1.1 หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ 
(e-Tax Invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐาน หรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน และ
  • 1.2 หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมี e-Tax Invoice แบบเต็มรูป หรือ e-Receipt เป็นหลักฐาน
    • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
    • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียน
ต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

 

ทั้งนี้ ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตามข้อ 1.2 ก็ได้
 

 

  1. กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้
  • ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร
  • ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
  • ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร
  • ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

 

เปิดลิสต์สินค้า ‘ไม่รวมมาตรการ’

 

โดยค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง

 

  • ค่าซื้อสุรา เบียร์ และไวน์
  • ค่าซื้อยาสูบ
  • ค่าซื้อน้ำมัน ค่าซื้อก๊าซ และค่าบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ
  • ค่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ (รถจักรยานยนต์ รวมถึงรถจักรยานที่ติดเครื่องยนต์) และค่าซื้อเรือ 
  • ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
  • ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการ และผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ
  • ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
  • ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และค่าที่พัก
โรงแรม ค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

 

ย้ำ e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (เลขประจำตัวประชาชน) ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วย

 

ปิ่นสาย สุรัสวดี อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า ‘มาตรการ Easy e-Receipt 2.0’ จะช่วยสนับสนุนการบริโภคภายในประเทศในช่วงต้นปี 2568 ซึ่งจะเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวได้ตามเป้าหมาย โดยคาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 70,000 ล้านบาท

 

 

ภาพ: seng kui Lim / 500px / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X