ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เตรียมชงคณะรัฐมนตรีวันนี้ (28 เมษายน) กรณีต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิวไปอีก 1 เดือน จนถึงสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ไฟเขียวทยอยผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เป็น 4 ระยะ ทบทวนทุก 14 วัน ด้าน บล.เอเซีย พลัส เตือนโควิด-19 ยังอยู่ อาจทำให้เกิด Sell in May สถิติบอกดัชนีฯ ลงเฉลี่ย 2% แนะเน้นเก็บหุ้น Defensive เป็นหลัก
ประเด็นที่ประชาชนคนไทยทั้งประเทศให้ความสนใจในช่วง 1-2 วันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ว่ารัฐบาลจะมีแนวทางอย่างไรที่หลังการผ่อนคลายแล้วจะยังคงสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ ทั้งนี้เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หลังจากที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน มาได้เกือบครบ 1 เดือนเต็มในวันที่ 30 เมษายนที่จะถึงนี้
ชงคณะรัฐมนตรีต่ออายุ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว อีก 1 เดือน (1-31 พฤษภาคม 2563)
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่าการประชุม ศบค. วานนี้ (27 เมษายน) เห็นควรให้ขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักรออกไปอีก 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 โดยมาตรการตามข้อกำหนดที่ยังคงไว้ประกอบด้วย
1. ควบคุมการเดินทางเข้าราชอาณาจักรทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ โดยขยายการห้ามอากาศยานเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราวออกไปอีก 1 เดือน
2. ห้ามบุคคลออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00-04.00 น.
3. งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดโดยไม่มีเหตุจำเป็น
4. งดการดำเนินกิจกรรมคนหมู่มาก โดยห้ามประชาชนเข้าไปในพื้นที่หรือสถานที่ซึ่งมีคนจำนวนมากไปทำกิจกรรมร่วมกันหรือเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด-19 เป็นการชั่วคราว
เตรียมผ่อนปรนล็อกดาวน์เป็น 4 ระยะ ทบทวนทุก 14 วัน
สำหรับแนวทางดำเนินการต่อไปคือการผ่อนปรนมาตรการต่างๆ ควรเกิดขึ้น แต่คำนึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นหลัก และคง 50% ของการทำงานที่บ้าน (Work from Home) โดยพิจารณาจากกิจกรรมที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเป็นอันดับแรก ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัย กิจกรรมนั้นต้องเว้นระยะห่างทางสังคม วัดอุณหภูมิในสถานที่ประกอบการ ล้างมือ บริการเจลล้างมือ จำกัดการให้บริการ และมีแอปพลิเคชันติดตามด้วย (หากเป็นไปได้) เพื่อการใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสม
ที่ประชุมได้หารือการควบคุมหรือผ่อนคลายโดยมีการประเมินทุก 14-15 วัน ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ ได้เสนอแนวทางการผ่อนปรนภายหลังการขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน-เคอร์ฟิว แบ่งประเภทธุรกิจเป็น 4 เกรด
1. จำเป็นในชีวิตประจำวัน เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก เป็นที่โล่งแจ้ง สวนสาธารณะ
2. เป็นสถานประกอบการขนาดเล็ก สนามออกกำลังกายกลางแจ้ง
3. พื้นที่ปิด มีคนจำนวนมาก
4. พื้นที่เสี่ยงสูง เช่น สนามมวย สถานบันเทิง พื้นที่คนแออัด
ดังนั้นการผ่อนปรนจะแบ่งเป็น 4 ระยะคือ ระยะแรก 25% ระยะสอง 50% ระยะสาม 75% และระยะสี่ 100% โดยทุกระยะใช้เวลาทบทวน 14 วัน เพื่อรอดูการใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงมาตรการควบคุมโรค เพราะหากไม่ได้ผลอาจปิดได้
โดยนายกรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการในการแบ่งเกรดกิจการต่างๆ และแบ่งช่วงเวลา โดยการผ่อนคลายการเปิดกิจการต้องเลือกกิจการที่สามารถเปิดพร้อมกันได้เหมือนกันและเปิดทั้งหมดทั้งประเทศ โดยมอบหมายให้ สศช. และคณะที่ปรึกษาหารือในรายละเอียดช่วงบ่ายนี้เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีวันนี้ (28 เมษายน)
“มาตรการต่างๆ คุยกันอย่างละเอียดถึงขนาดพื้นที่ นำเรื่องสาธารณสุขมาพูดคุย การจัดกิจกรรม แอปพลิเคชันต่างๆ หรือกล้อง CCTV ต้องให้คณะทำงานพูดคุยในรายละเอียด ไม่ใช่เรื่องเร่งรีบ แต่ต้องมั่นใจ และเมื่อผ่อนปรนแล้ว ถ้าดีก็เปิด ถ้าไม่ดีก็ปิดได้”
ส่วนกรณีที่มีการเลื่อนวันหยุดในเดือนพฤษภาคมทั้งหมดนั้น กระทรวงวัฒนธรรมได้นำเสนอในที่ประชุม ศบค. เนื่องจากเป็นช่วงที่มีวันหยุดค่อนข้างมาก และหากมีวันหยุดติดต่อกันหลายวันอาจเกิดการเคลื่อนย้ายคน ซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงได้ เรื่องนี้เป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรี ซึ่งวันนี้กระทรวงวัฒนธรรมจะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
เอเซีย พลัส เตือนโควิด-19 กระตุ้น Sell in May สถิติชี้ SET ลงเฉลี่ย 2%
บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่าความคาดหวังกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินการ โดยถูกสะท้อนในตลาดหุ้นมาในระดับหนึ่งแล้ว หลังจากที่ SET Index ฟื้นตัวขึ้นมาเร็วและแรงกว่า 30% จากจุดต่ำสุดของปีจนใกล้เคียงกับระดับเป้าหมายทางพื้นฐานที่ฝ่ายวิจัยประเมิน 1,264 จุด (ระดับ P/E ที่ 17.4 เท่า) ทั้งยังต้องเผชิญกับงบไตรมาส 1/63 ที่มีโอกาสหดตัวแรง ถ่วงดัชนีตลาดหุ้นให้มีโอกาสย่อตัวลงเหมือนกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์
ขณะเดียวกันปัญหาโควิด-19 ที่ยังอยู่อาจเป็นการตอกย้ำให้เกิดเหตุการณ์ Sell in May ซ้ำรอยในอดีตที่เดือนพฤษภาคมตลาดหุ้นไทยมักจะปรับตัวลงแรงเสมอ เฉลี่ยลดลงราว 2% และเป็นการปรับตัวลงถึง 8 ใน 10 ปี
โดยมี 3 ปัจจัยหลักๆ ที่มักจะเกิดขึ้นซ้ำๆ ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ Sell in May อยู่เสมอ
1. เดือนพฤษภาคมเป็นช่วงประกาศงบบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสแรก หากออกมาต่ำกว่าคาดก็มีโอกาสที่จะถูก Sell on Fact ได้ ยิ่งไปกว่านั้น ในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคาดว่ากำไรบริษัทจดทะเบียนในปีนี้น่าจะทำจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 2 ทำให้ตลาดหุ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 อาจไม่คึกคักมากนัก
2. เดือนพฤษภาคมเป็นเดือนที่เม็ดเงินลงทุนต่างชาติมักจะไหลออกจากหุ้นไทยมากที่สุด เฉลี่ยสูงถึง 1.65 หมื่นล้านบาท
3. เนื่องจากเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยขึ้นเครื่องหมาย XD และจ่ายปันผลงบปี 2562 เกือบหมดแล้ว กว่า 408 ใน 488 บริษัท (คิดเป็น 83% ของบริษัทที่ประกาศจ่ายปันผล) ทำให้นักลงทุนมีการโยกเงินกลับประเทศบางส่วน รวมถึงก่อนขึ้นเครื่องหมาย XD ยังได้มีการเก็งกำไรหุ้นแล้ว จึงไม่มีแรงซื้อที่เข้ามาหนุนตลาดเหมือนกับเดือนที่ผ่านๆ มา
แนะกลยุทธ์เลือกลงทุนหุ้น Defensive ราคา Laggard
บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่ากลยุทธ์การลงทุนจึงแนะนำให้เตรียมรับมือกับความผันผวนของตลาด โดยการเลือกลงทุนหุ้น Defensive ราคา Laggard อย่าง BTSGIF, EA ซึ่งราคาหุ้นทั้งสองยัง Laggard กว่ากลุ่ม และมี Valuation ที่น่าสนใจดังนี้
BTSGIF เป็นกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ผันผวนต่ำ ราคายัง Laggard กว่ากลุ่มที่ปรับตัวขึ้นได้ร้อนแรงในช่วงก่อนหน้า มีความโดดเด่นทางพื้นฐาน จากราคาหุ้น ณ ปัจุบันยังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีอยู่มากถึง 27% (Discount Book Value) พร้อมกับคาดหวังปันผลได้สูงถึง 8.8% ต่อปี (ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ฯ)
EA ทิศทางกำไรปกติไตรมาส 1/63 คาดเติบโตได้ดีทั้ง YOY และ QOQ จากโรงไฟฟ้าโซลาร์ที่จะผลิตไฟได้มากขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซันและได้รับผลบวกจากภัยแล้ง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ความเข้มแสงมากกว่าปกติ รวมถึงยังรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าลมหนุมาน 260 MWe เต็มปี (เริ่มผลิตเต็มที่ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/62 เป็นต้นมา) หนุนภาพทั้งปี 2563 คาดกำไรปกติเติบโต 8.9%YOY มาอยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท ทำ New High อีกครั้ง อีกทั้งเป็นหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ราคา Laggard กลุ่มฯ ถือเป็นโอกาสลงทุน
ติดตามข่าวสารการลงทุนเพิ่มเติมได้ที่ www.efinancethai.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์