วานนี้ (2 เมษายน) กนกนุช กลิ่นสังข์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นชี้แจงกรณีตัดงบประมาณสำหรับเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนในอาคารสูง ซึ่งถูกเสนอไว้ในปีงบประมาณ 2568 เพื่อลดความเสี่ยงกรณีเกิดแผ่นดินไหวที่กลายเป็นประเด็นในสังคม หลังมีการเผยแพร่คลิปในโลกโซเชียล ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร
กนกนุชระบุว่า ประชาชนหลายคนเข้าใจผิด เราให้ความสำคัญกับปัญหาแผ่นดินไหว ตนเองเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทย วันนั้นตนเองเป็นประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณางบประมาณปี 2568 ดังนั้นจึงต้องทำหน้าที่รายงานทุกโครงการที่คณะอนุกรรมการวิสามัญโยธาพิจารณาแล้วเสร็จ
“คณะอนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม เนื้อหาโครงการและ TOR ยังขาดวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน ไม่ได้อธิบายว่าจะนำผลประเมินมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างไร คณะกรรมการจึงเกรงว่าจะไม่เกิดประโยชน์” กนกนุชกล่าว
กนกนุชยังโชว์เอกสารหลักการและเหตุผลในการขอใช้งบประมาณ 9 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์ของโครงการที่ระบุแค่เพียงการจ้างที่ปรึกษา แบ่งเป็น งบบุคลากร 3.5 ล้านบาท หรือเกือบ 40% ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือน 3 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายในการสำรวจและวิเคราะห์ผล 2.4 ล้านบาท ค่าจัดทำรายงานประมาณ 7 หมื่นบาท
อีกทั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนเป็นเครื่องที่ไม่มีขาย ต้องประดิษฐ์ขึ้นมา การติดตั้งเครื่องต้องติดในอาคารสูงสังกัดกรุงเทพมหานคร ไม่ได้แจ้งเตือนล่วงหน้าว่าจะแผ่นดินจะไหว แต่เป็นเครื่องที่วัดการสั่นสะเทือน
การพิจารณางบประมาณเรานึกถึงความปลอดภัยของประชาชน เช่น โครงการติดตั้งไฟแสงสว่าง ก็ผ่านให้ในทุกโครงการที่เป็นความปลอดภัย รวมถึงการสร้างโรงพยาบาล ศูนย์อนามัย และโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร แต่เงินที่เราใช้มาจากภาษีของประชาชน การใช้ภาษีจะต้องเป็นไปด้วยความละเอียด รอบคอบ โปร่งใส
กนกนุชย้ำว่า ถ้าหากประชาชนที่ไม่เข้าใจหรืออยากทราบรายละเอียดสามารถตรวจสอบและติดต่อได้ที่สภาฯ ทุกวัน เชื่อว่าทุกท่านยินดีให้ความเข้าใจมากกว่าที่จะใช้การสื่อสารทางการเมือง มุ่งเน้นทำลายสภาฯ และความตั้งใจของ สก. ที่จะให้เกิดผลประโยชน์โดยทั่วกัน
ด้าน รศ.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลุกขึ้นชี้แจงว่า เครื่องมือดังกล่าวไม่ใช่เครื่องมือเตือนแผ่นดินไหว แต่เป็นเครื่องมือที่ให้รู้ว่าเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้นแล้วอาคารหลังนั้นจะแข็งแรงปลอดภัยพอหรือไม่
จึงเป็นเหตุผลว่าในโครงการดังกล่าวจะต้องจ้างที่ปรึกษาเพื่อไปวิเคราะห์โครงสร้างของอาคารหลังนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อแผ่นดินไหวแล้วจะได้ตอบว่า อาคารหลังนั้นจะต้องอพยพคนหรือไม่ ซึ่งอาจมีการสื่อสารหรืออธิบายได้ไม่ดีพอ หากครั้งหน้ามีการของบประมาณจะได้ชี้แจงมากขึ้น