หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวจนมีผลกระทบสร้างความเสียหายกับทรัพย์สินของคนไทยจำนวน สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงออกประกาศว่าประกันมีการคุ้มครองอะไร และมีวิธีการดำเนินการอย่างไร
สมาคมประกันวินาศภัยไทย (Thai General Insurance Association: TGIA) ออกแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมา ขนาด 8.2 ความลึก 10 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 เวลา 13.20 น. ส่งผลให้เกิดการสั่นไหวในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย บริเวณภาคเหนือ ภาคกลาง รวมถึงกรุงเทพมหานคร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ติดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และขอส่งความห่วงใยให้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนทั่วไป พร้อมแนะนำให้เตรียมพร้อมรับมือกับภัยแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น
โดยขอให้ผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว โดยกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหว ได้แก่
- กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 หรือ กรมธรรม์ประเภท 2+ / 3+ (เฉพาะกรมธรรม์ที่ขยายความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติเท่านั้น)
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
- กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น
- กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
- กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง (Contract Work Insurance: CWI) ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว
กรมธรรม์ประกันภัยให้ความคุ้มจากแผ่นดินไหว มีดังนี้
ทั้งนี้ สมาคมฯ มีศูนย์ประสานงานระหว่างบริษัทประกันภัยและประชาชน เพื่อช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูลกรณีกรมธรรม์สูญหาย หรือรายละเอียดความคุ้มครองผ่านทางสื่อ Online บนเพจ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เบอร์สายด่วนของทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่อง
ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และภัยจากแผ่นดินไหวถือเป็นความเสี่ยงที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่สามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ด้วยการทำประกันภัย เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงิน โดยก่อนตัดสินใจซื้อควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดของข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจ เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยมากที่สุด
ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงขอแจ้งเตือนผู้เอาประกันภัย รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ในการพิจารณาเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดต่อระบบเศรษฐกิจและประชาชนโดยรวม ทั้งนี้ ธุรกิจประกัน วินาศภัยพร้อมที่จะยืนหยัดเคียงข้างผู้เอาประกันภัยในการร่วมบริหารความเสี่ยงในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤตไปได้ด้วยกัน
แนะวิธีเคลมประกันแผ่นดินไหวต้องทำอย่างไร?
1.แจ้งเหตุกับบริษัทฯ ประกันภัยทันที เมื่อเกิดความเสียหาย ให้ติดต่อแจ้งเหตุตามช่องทางของแต่ละบริษัทฯ ที่ทำประกันภัยทันที
2.บริษัทฯ รับแจ้งเหตุพิจารณาความเสียหายและคุ้มครอง
3.ผู้เอาประกัน เตรียมเอกสารให้พร้อม โดยกรอก Claim Form ภาพถ่ายความเสียหายใบเสร็จ ใบเสนอราคาค่าซ่อม เอกสารอื่นๆ เพิ่มเติม ตามที่บริษัทฯ ประกันภัยร้องขอ
4.พิจารณาอนุมัติ จ่ายค่าสินไหมทดแทน บริษัทฯ จ่ายค่าสินไหมทดแทนกับผู้เอาประกันภัย
ทั้งนี้ศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวของสมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมให้บริการคำแนะนำและความช่วยเหลือด้านประกันภัยทุกประเภท ได้แก่
- การตรวจสอบความคุ้มครอง ข้อมูลกรมธรรม์ประกันภัย
- การประสานงานกับบริษัทประกันภัยต่างๆ เพื่อให้สามารถติดต่อเคลมประกันภัย และได้รับความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็วและครบถ้วน
หากคุณหรือครอบครัวเป็นผู้ประสบภัยแผ่นดินไหว อย่าลืมดำเนินการดังนี้
- ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยและความคุ้มครอง
- ติดต่อสายด่วนของบริษัทประกันภัยที่ท่านทำประกันภัยไว้
- หากกรมธรรม์ประกันภัยของท่านสูญหาย และไม่แน่ใจว่าทำประกันภัยกับบริษัทใด ติดต่อสอบถามที่ สมาคมประกันวินาศภัยไทย
- โทร. 0 2108 8399 เวลา 08.30-16.30 น.
- Inbox Facebook: สมาคมประกันวินาศภัยไทย
คปภ. เตือนนายหน้าประกันภัย ห้ามบอกเลิกกรมธรรม์
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันชีวิต และสมาคมประกันวินาศภัย เร่งติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้บริษัทประกันภัยเตรียมพร้อมดำเนินการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
สำนักงานขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเอง หรือติดต่อบริษัทประกันภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้ และขอย้ำว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนโดยเร็ว ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ ช่องทาง Chatbot @OICConnect
นอกจากนี้ ตามที่ปรากฏว่ามีนายหน้าประกันวินาศภัยหลายแห่งมีพฤติกรรมการชำระเบี้ยประกันภัยให้กับบริษัทประกันวินาศภัย ในนามของผู้เอาประกันภัย พร้อมกับมีการทำข้อตกลงหรือสัญญากับผู้เอาประกันภัยให้ผู้เอาประกันภัยผ่อนชำระเบี้ยประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยไม่ผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยตามระยะเวลาที่กำหนด นายหน้าประกันวินาศภัยจะเป็นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยในนามผู้เอาประกันภัยกับบริษัท และเป็นผู้รับคืนเบี้ยประกันภัยจากบริษัท
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นการให้สินเชื่อ ซึ่งมิใช่หน้าที่ตามกฎหมายของนายหน้าประกันวินาศภัย และเป็นแบบสัญญาสำเร็จรูปที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้ล่วงหน้าให้ลูกหนี้หรือผู้เอาประกันภัย จะต้องมอบอำนาจในการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยให้กับเจ้าหนี้ หรือนายหน้าประกันวินาศภัย ซึ่งเป็นข้อตกลงหรือสัญญาแยกต่างหากอีกฉบับหนึ่งจากสัญญาประกันภัย
โดยผู้เอาประกันภัยไม่สามารถต่อรองหรือเจรจาก่อนเข้าทำข้อตกลงหรือสัญญา แม้จะกำหนดให้นายหน้าประกันวินาศภัยจะต้องได้รับการยืนยันการบอกเลิกจากผู้เอาประกันภัยก็ตาม หากพิจารณาจากสถานการณ์ในทางปฏิบัติแล้ว เงื่อนไขดังกล่าวอาจไม่เอื้ออำนวยให้ผู้เอาประกันภัยได้พิจารณาอย่างถี่ถ้วนหรือเป็นไปได้ยากที่จะได้รับการยืนยันจากผู้เอาประกันภัยได้อย่างชัดแจ้ง
รวมถึงไม่มีการกำหนดแนวทางการดำเนินการที่เป็นธรรมกับผู้เอาประกันภัย กรณีผู้เอาประกันภัยไม่ยืนยันการบอกเลิกข้อตกลงหรือสัญญาดังกล่าว จึงอาจมีลักษณะที่ทำให้ผู้เอาประกันภัยต้องเสียเปรียบ เกินสมควร ซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและต้องห้ามตามกฎหมาย ที่ไม่สามารถกำหนดไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาได้
ชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ.
“คปภ. ขอแจ้งเตือนว่า หากพบว่านายหน้าประกันภัย วินาศภัย มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในข้อตกลงหรือสัญญาให้สินเชื่อ และอาศัยเงื่อนไขดังกล่าว ในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย โดยท้ายที่สุดบริษัทได้ยุติความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย รวมถึงมีการคืนเบี้ยประกันภัยไปยังนายหน้าประกันวินาศภัย กรณีดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัย และเป็นความผิดอันมีโทษ ซึ่งนายหน้าประกันวินาศภัยที่กระทำความผิดอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้ ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัย และถือว่ามีพฤติกรรมที่มีลักษณะเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ในการทำหน้าที่ (Conflict of Interest) ของนายหน้าประกันวินาศภัย
ในฐานะผู้แทนของผู้เอาประกันภัย และที่สำคัญบริษัทประกันวินาศภัยยังคงต้องให้ความคุ้มครองต่อไปจนสิ้นอายุกรมธรรม์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือไปยังสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อให้แจ้งบริษัทสมาชิกที่เป็นนายหน้าประกันภัยที่เป็นคู่สัญญาให้รับทราบต่อไป ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงาน คปภ. หรือสายด่วน คปภ. 1186” ชูฉัตรกล่าว