×

ศุภณัฐชี้ ค่าเยียวยาเหตุแผ่นดินไหวต่ำเกินไป ไม่สอดคล้องความจริง มองเพดานสูงสุดเกือบ 5 หมื่น คงต้องสภาพเหมือนตึก สตง.

โดย THE STANDARD TEAM
24.04.2025
  • LOADING...
ศุภณัฐ มีนชัยนันท์

วันนี้ (24 เมษายน) ที่อาคารรัฐสภา ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส. กทม. พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจ กล่าวถึงการติดตามความคืบหน้าเงินเยียวยาประชาชนจากเหตุแผ่นดินไหว โดยระบุว่า เมื่อวันอังคาร (22 เมษายน) นายกรัฐมนตรีได้เรียกหน่วยงานมาสั่งการให้ไปประเมินราคาให้สอดคล้องกับค่าความเสียหายจริง

 

ส่วนของคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจมีการติดตาม เรื่องกระบวนการการยื่นขอเยียวยาต่างๆ ที่ผ่านมา ที่มีการขอเอกสารมากเกินไป หรือต้องแจ้งความก่อน แบบฟอร์มที่มากเกินไปและไม่เปิดให้ยื่นแบบออนไลน์ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ในขณะเดียวกัน ฝั่งเจ้าหน้าที่เอง ก็ต้องดำเนินงานด้านเอกสารและต้องเดินทางมาประเมินหน้างาน โดยทั้งสองฝั่ง ค่าดำเนินการอย่างต่ำก็ 1,000-2,000 บาทแล้ว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือจำนวนเงินที่ได้รับเยียวยาต่ำเกินไป 

 

“เงินที่รัฐบาลให้มาสนับสนุนเพียงแค่ค่าวัสดุ อย่างเดียว ค่าแรงไม่ได้ให้ ซึ่งค่าวัสดุก็มองแล้วว่าเป็นราคาที่ต่ำเกินไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องเอาเข้ากรรมาธิการเพื่อดูว่าที่มาที่ไปต้องเป็นอย่างไร และสามารถที่จะปรับได้หรือไม่เพื่อสะท้อนค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประชาชนให้สอดคล้องกันมากยิ่งขึ้น”

 

นอกจากนี้ เงินเยียวยาอาจจะต้องรวมถึงค่าแรงบางส่วนด้วย และจะต้องกำหนดขั้นต่ำ การที่ประชาชนยื่นเรื่องไปแล้วได้เงินเยียวยากลับมาเพียง 41 บาท 75 บาท ก็อาจจะไม่ตอบโจทย์กับค่าดำเนินการที่จะต้องเสียไป 

 

สำหรับจำนวนเงินเยียวยาสูงสุด 49,500 บาทนั้น ศุภณัฐกล่าวว่า เห็นบางคนเสียหายเป็นแสนแต่ได้รับเงินเยียวยาเพียงไม่กี่พัน ฉะนั้นความเสียหายที่จะได้รับเงินเยียวยา 49,500 บาท ก็คงจะต้องมีสภาพเหมือนตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แต่เชื่อว่าความตั้งใจของสภาผู้แทนราษฎรที่ตั้งไว้ 49,500 บาท คืออยากให้รัฐบาลได้จ่ายจริงสำหรับคนที่เสียหายหนัก แต่เมื่อหลักเกณฑ์ไปออกโดยรัฐบาลหรือออกโดยหน่วยงาน กลายเป็นว่าไปกดราคาเหล็กลงมา สุดท้ายการจ่ายจริงอาจไม่ตรงกับเป้าประสงค์ที่ทางสภาฯได้ออกผ่าน พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 มาตรา 30 เรื่อง การฟื้นฟูจากเหตุแผ่นดินไหว ไปก่อนหน้านั้น 

 

ส่วนยอดตกค้างที่ยังไม่ยื่น ศุภณัฐกล่าวว่า วันสุดท้ายจะอยู่ที่วันที่ 27 เมษายนนี้ ซึ่งทางกรรมาธิการจะขอขยายเวลาอีกสัก 1 เดือนได้หรือไม่ เพราะประชาชนบางส่วนยังไม่ทราบข่าว แต่ถ้าขยับเวลาไม่ได้ก็ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ แต่ถ้าเร่งประชาสัมพันธ์ก็ขัดกันที่ว่าเงินเยียวยาไม่สอดคล้อง กับความเสียหายทำให้ประชาชนหลายคนเปลี่ยนใจว่าไม่ยื่นแล้ว ฉะนั้น รัฐบาลต้องให้ความมั่นใจว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ได้ทันตามเวลาหรือไม่ หรือหากปรับเปลี่ยนภายหลังจะสามารถเยียวยา ย้อนหลังได้หรือไม่

 

ศุภณัฐยังกล่าวถึงการจ่ายเงินเยียวยาที่อาจจะไม่ทันกรอบเวลาช่วง 3 เดือนเพราะมีจำนวนเคสมากถึง 30,000-40,000 เคสว่า ความโชคร้ายอย่างหนึ่งคือต้องให้เจ้าหน้าที่โยธาฯ ลงไปดูพื้นที่จริงในแต่ละบ้าน ทำให้กว่าจะนัดได้วุ่นวายเกินไป ส่วนตัวคิดว่าหากดูในภาพรวมจากภาพหลักฐานต่างๆ แล้วก็ให้ถ่ายวิดีโอส่งมาเพิ่มเติม เพราะหลายคนซ่อมไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็มาดูจากวิดีโอที่เขาส่งมา และดูว่าใช่หลังเดียวกันไหม สำหรับคนที่เสียหายไม่เยอะ เจ้าหน้าที่ไม่จำเป็นจะต้องไปพิสูจน์ถึงหน้างาน เช่น เมื่อเห็นภาพรวมแล้วมองว่าค่าใช้จ่ายไม่เกิน 2,000 บาท ก็ให้เยียวยาได้เลยจากการดูวิดีโอ แต่หากค่าเสียหายเกิน 2,000 บาท ก็อาจจะต้องลงไปพิสูจน์ จะลดระยะเวลาของเจ้าหน้าที่ไปได้ส่วนหนึ่ง เช่น เขตจตุจักร คนยื่นเยอะมากประมาณ 5,000 เคส ซึ่งหากไม่ใช้คนอื่นเข้ามาช่วย จะได้รับการพิจารณานาน แต่ในบางเขต เช่น เขตบางเขน มีเคสแค่ไม่กี่ร้อย การพิจารณาก็ทัน

 

ศุภณัฐยังกล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการนำเข้าพิจารณาในชั้นกรรมาธิการแล้ว ก็มีการยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานต่างๆ ส่วนการตรวจสอบสาเหตุตึก สตง. ถล่ม สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นผู้รับผิดชอบเป็นหลัก ส่วนใครมีข้อมูลอะไรก็ส่งกันเข้ามา เพราะเรามีคณะทำงานร่วมกันอยู่แล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising