×

จาก EARTH สู่ STARK บทเรียนหุ้นล้มละลายของไทย ด้วยปัญหาทุจริตภายใน

19.06.2023
  • LOADING...
EARTH STARK

ปมปัญหาของหุ้น STARK หรือ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น แม้จะไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนคาดหวังว่าจะเกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของวงการตลาดทุน 

 

การล้มละลายของกิจการ เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่นักลงทุนทุกคนต้องระมัดระวัง ส่วนการล้มละลายจากปัญหาฉ้อโกงนั้นหลายคนอาจมีคำถามว่า หน่วยงานต่างๆ หรือผู้ที่มีหน้าที่ตรวจสอบจะสามารถป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามได้หรือไม่ 

 

กรณีของ STARK อย่างที่ทุกคนพอจะทราบกันแล้วว่ามีสาเหตุมาจากการทุจริตภายใน ตัวเลขกำไรที่เคยสวยหรูช่วงปี 2563-2564 หรือแม้แต่ 9 เดือนแรกของปี 2565 ที่มีกำไรในระดับ 2 พันล้านบาท เป็นเพียงภาพลวงตาและความหลอกลวง เพราะในความเป็นจริงแล้ว STARK มีผลขาดทุนถึงปีละประมาณ 6 พันล้านบาทในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบหนักถึง 4.4 พันล้านบาท และมีความเสี่ยงอย่างมากที่บริษัทจะต้องล้มละลายไป 

 

สิ่งที่เกิดขึ้นกับ STARK เคยเกิดขึ้นกับบริษัทอย่าง บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ หรือ EARTH ซึ่งมีธุรกิจหลักคือเทรดดิ้งถ่านหิน เมื่อปี 2560 ปมปัญหามาจากการทุจริตภายในเช่นกัน โดยเป็นการปลอมแปลงใบตราส่งสินค้าทางเรือ (Bill of Lading – B/L) นำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซีย เพื่อนำมาเป็นหลักฐานในการกู้เงินจากธนาคารกรุงไทย 

 

จากตัวเลขในงบการเงินเฉพาะกิจการไตรมาส 1 ปี 2560 พบว่า EARTH มีหนี้สินจากการขอสินเชื่อกับธนาคารกรุงไทย 1.2 หมื่นล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 2.8 พันล้านบาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1.8 พันล้านบาท, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 350 ล้านบาท และยังมีหนี้หุ้นกู้ 2 ชุด รวม 5.5 พันล้านบาท รวมทั้งมีหนี้สินอื่นๆ โดยเฉพาะตั๋วเงินระยะสั้น (B/E) วงเงิน 2.9 พันล้านบาท

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการสร้างเจ้าหนี้เทียมคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2.6 หมื่นล้านบาท เพื่อให้บริษัทเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จของผู้บริหาร

 

ในช่วงที่บริษัทยังมีหุ้นอยู่ในตลาดก็เคยมีมูลค่าสูงถึง 3 หมื่นล้านบาท ก่อนที่จะต้องถูกเพิกถอนออกจากตลาดไป EARTH เข้าจดทะเบียนในตลาด mai เมื่อปี 2553 ผ่านวิธีการนำธุรกิจเข้ามาสวมทับหุ้น APC หรือเป็นวิธีการจดทะเบียนในตลาดทางอ้อมที่เรียกว่า Backdoor Listing 

 

ก่อนที่ปัญหาจะเกิดขึ้น ตัวเลขผลประกอบการทุกอย่างเป็นปกติ บริษัททำกำไรได้ปีละประมาณ 800-1,100 ล้านบาท ระหว่างปี 2556-2559 ก่อนที่จะพลิกมาขาดทุน 68 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2560 

 

แต่แล้วเมื่อวันที่ 11-12 พฤษภาคม 2560 ราคาหุ้น EARTH ดิ่งลงอย่างหนัก 2 วันติดต่อกัน ก่อนที่ผู้บริหารจะออกมายอมรับภายหลังว่าถูกบังคับขายจากโบรกเกอร์ เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่เอาหุ้นไปค้ำประกันเงินกู้กับโบรกเกอร์ เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจอื่น และยังมีเรื่องของธุรกรรมการซื้อ Futures ผ่าน Block Trade ด้วย ทำให้เมื่อราคาหุ้นตกลงต่ำกว่าหลักประกัน ก็ถูกแรงบังคับขายทุกราคา

 

หลังจากนั้นบริษัทก็มีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้กับสถาบันการเงินและหุ้นกู้คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 1 พันล้านบาท ร้อนถึง ก.ล.ต. ต้องสั่งให้ EARTH จัดให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ หรือ Special Audit เพื่อตรวจสอบรายการเงินจ่ายล่วงหน้าค่าสินค้าและเงินจองสิทธิในการซื้อสินค้าว่ามีจริงหรือไม่ 

 

ท้ายที่สุดแล้ว ก.ล.ต. ได้กล่าวโทษผู้บริหารพร้อมพวกรวม 17 คน ในความผิดฐานร่วมกันสร้างหนี้เทียมที่มีมูลค่าสูงถึง 2.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ราคาหุ้นดิ่งจาก 4.5 บาท เหลือ 0.37 บาทในเวลาประมาณ 4 เดือน ก่อนที่หุ้น EARTH จะถูกนำออกจากตลาดไปเมื่อเดือนกันยายน ปี 2562 

 

นอกจาก STARK และ EARTH ในอดีตที่ผ่านมาก็ยังมีอีกหลายบริษัทที่มีปัญหาในเรื่องการทุจริตภายใน เช่น บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น หรือ IFEC ที่มีปัญหาเรื่องการทุจริตการจัดซื้อทรัพย์สิน เช่น อาคารสำนักงาน รวมทั้งการซื้อขายโรงแรมดาราเทวี หรือกรณีของ บมจ.กรุ๊ปลีส หรือ GL ซึ่งมีปัญหาทุจริต เบียดบังทรัพย์สินของบริษัท และทำบัญชีไม่ถูกต้อง โดยทำธุรกรรมอำพรางผ่านบริษัทที่เกี่ยวข้องในต่างประเทศหลายแห่ง เป็นต้น 

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ได้ตั้งข้อสังเกตผ่านบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับประเด็นปัญหาธุรกรรมอำพรางที่มีผู้บริหารและผู้ถือหุ้นมาเกี่ยวข้องว่า อาจนำไปสู่วิกฤตศรัทธาในตลาดทุนและภาคการเงินได้ 

 

หากผู้บริหารมีเจตนาบิดเบือนตัวเลขหรือทุจริตในขณะที่ระบบการกำกับดูแลภายในล้มเหลว คณะกรรมการตรวจสอบไม่ทำหน้าที่ควบคุมและตรวจสอบดูแล คณะกรรมการบริษัทไม่ทำตัวเป็น ‘สติ’ ที่ดี ผู้ตรวจสอบบัญชีละเลยหรือร่วมมือกับผู้บริหารแล้ว แทบไม่มีทางที่คนภายนอกจะตรวจพบเจอก่อนที่จะสายเกินไปได้เลย

 

สิ่งที่ต้องติดตามต่อไปคือ STARK จะกลายเป็นเหมือนหุ้น EARTH ที่ต้องถูกเพิกถอนออกไปจากตลาดหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในมุมของ ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ มองว่า บริษัทน่าจะพยายามเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ เพราะปัจจุบันบริษัทยังมีสินทรัพย์ที่สำคัญต่อธุรกิจอย่างโรงงานผลิตสายไฟฟ้า เฟ้ลปส์ ดอด์จ อยู่ในมือ 

 

ขณะที่การเพิกถอนหุ้นออกจากตลาดนั้นส่วนตัวมองว่า เป็นการทำร้ายผู้ถือหุ้นมากกว่าเป็นการลงโทษบริษัทหรือผู้บริหาร ทั้งนี้ สิ่งที่หน่วยงานกำกับต้องเร่งติดตามอีกเรื่องหนึ่งคือ มาตรฐานของผู้ตรวจสอบบัญชีที่รับผิดชอบตั้งแต่ต้น เพราะโดยหน้าที่แล้วผู้ตรวจสอบบัญชีควรจะเห็นความผิดปกติก่อนที่งบการเงินจะออกมาถึงมือของผู้ลงทุนทั่วไป

 

ปมปัญหาของ STARK คงจะกลายเป็นอีกหนึ่งบทเรียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งทุกคนก็คงจะคาดหวังว่าจะไม่ต้องเผชิญกับความเสียหายในลักษณะเช่นนี้อีก 

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X