หุ้นที่ครั้งหนึ่งเคยมีมูลค่ามากที่สุดติด 1 ใน 20 ของตลาดหุ้นไทยอย่าง EA หรือ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ ซึ่งเคยมีมูลค่ามากถึง 3.6 แสนล้านบาท ในวันนี้กลับมีประเด็นทุจริตโดยผู้บริหารระดับสูงและผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ อมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ รวมทั้ง พรเลิศ เตชะรัตโนภาส ผู้ถือหุ้น EA คือบุคคลที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. กล่าวโทษว่าร่วมกันทุจริต และได้รับผลประโยชน์รวมกันมากถึง 3.46 พันล้านบาท
สิ่งที่เกิดขึ้นกับ EA กำลังซ้ำเติมวิกฤตศรัทธาที่กำลังเกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทย ทั้งจากปมทุจริตที่เกิดขึ้นกับหุ้นหลายตัว และจากความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อการเติบโตของธุรกิจในไทย
ก่อนที่จะเกิดเคสทุจริตของผู้บริหาร EA หุ้นไทยก็กำลังอยู่ในช่วงระส่ำระสายไม่น้อย ผลตอบแทนของดัชนี SET ลดลงกว่า 20% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางการตั้งคำถามจากนักลงทุนว่าอนาคตของหุ้นไทยอยู่ตรงไหน ในเมื่อบ้านเรามีแต่ ‘อุตสาหกรรมเก่า’ (Old Economy)
ผลที่เกิดขึ้นคือ ตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยไปกว่า 3 แสนล้านบาท ขณะที่นักลงทุนในประเทศค่อยๆ หนีหุ้นไทยไปหาหุ้นต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งสะท้อนจากจำนวนกองทุนรวมในไทยที่มีนโยบายลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศที่มีสัดส่วนเกินครึ่งของกองทุนรวมทั้งหมดตั้งแต่ปี 2564
แต่นอกจากเรื่องของอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่อาจจะขาด ‘อุตสาหกรรมใหม่’ (New Economy) อีกปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญไม่แพ้กันคือเรื่องของธรรมาภิบาลหรือบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียน
โดยเฉพาะในยุคที่หุ้นที่เคยมีมูลค่าหลายหมื่นหรือหลายแสนล้านบาท และได้รับการการันตีจากหน่วยงานภายนอกว่ามี ‘เรตติ้งดี’ กลับไม่สามารถการันตีได้ว่าบริษัทเหล่านั้นดีจริงอย่างที่ควรจะเป็น
ตลท. ชี้ CG Report ใช้จับคนทุจริตไม่ได้
จากกรณีที่มีการตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือของรายงานการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน (CG Report) ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งการประเมิน CG Report เป็นการประเมินโดย IOD ที่เน้นประเมินเรื่องการทำหน้าที่ของบอร์ดในการกำกับดูแล หรือด้าน CG เป็นหลัก และเพิ่มการประเมินข้อมูลด้าน ‘E’ สิ่งแวดล้อม และ ‘S’ สังคมตั้งแต่ปี 2566 ว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่นั้น
ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อธิบายกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทาง IOD ประเมินจากข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ เช่น 56-1 One Report รายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เผยแพร่ผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เว็บไซต์บริษัท เป็นต้น ซึ่งไม่สามารถสะท้อนคัดกรองได้ว่าตัวผู้บริหารของบริษัทจะทำการทุจริตได้ เพราะเป็นเรื่องของบุคคลที่ตั้งใจจะหาช่องโหว่แสวงหาประโยชน์จากการทุจริต
“กรณีของหุ้น EA ข้อมูลเบื้องต้นเข้าใจว่ามีผู้ร้องเรียนยื่นเรื่องตรงไปที่สำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้ผ่านมาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนผู้สอบบัญชีก็ไม่สามารถดูออกว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น คล้ายกับกรณีของหุ้น STARK”
ด้าน พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ลำดับต่อไปกองธุรการบริหารคดีของ DSI จะส่งเรื่องต่อไปยังกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงินของ DSI จากนั้นจะตั้งทีมคณะกรรมการสอบสวนภายในสัปดาห์นี้ได้อย่างแน่นอน
“ในการทำงานของ DSI ในเคสนี้ต้องเร่งการทำงานให้รวดเร็ว เพราะถือเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชน รวมทั้งต้องเร่งประสานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หากพบหลักฐานว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานฟอกเงิน”
ส่วนกรณีที่จะออกคำสั่งให้ผู้ที่ถูกกล่าวโทษทั้ง 3 รายดังกล่าวนี้ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นกับผลการตรวจรายละเอียดของข้อมูลหลักฐานจากการสอบสวน เพราะเงื่อนไขหากจะมีการสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศได้จะต้องมีการแจ้งข้อกล่าวผู้ต้องหาก่อน
พ.ต.ต. ยุทธนา อธิบายต่อถึงกระบวนการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวน DSI ว่า ต้องเร่งการทำงานให้เร็วที่สุดในการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน รวมถึงต้องเรียกพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้สอบสวนว่าจะให้ความร่วมมือมากหรือน้อยอย่างไร โดยหากข้อมูลหลักฐานครบเพียงพอ คาดว่าจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ต้องหาได้ภายใน 1-2 เดือน
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH เช่นกันว่า ปปง. พร้อมให้ความร่วมมือในการสืบสวนเส้นทางการกระทำความผิดทางการเงินของ EA กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ซึ่งเป็นต้นทางในการสอบสวน จากนั้น ปปง. จึงจะเข้าไปช่วยในการดำเนินการตรวจสอบเส้นทางทางการเงินเพื่ออายัดหรือยึดทรัพย์ต่อไป
“กรณีของ EA ที่ผู้บริหารยักยอกทรัพย์กว่า 3 พันล้านบาทนี้ ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวโทษรอบนี้ เชื่อว่าน่าจะมีหลักฐานชัดเจนเพียงพอในการนำไปสู่การเอาผิดได้” แหล่งข่าวกล่าว
ถึงเวลาปฏิรูปธรรมาภิบาลหุ้นไทยอย่างจริงจัง
แม้สำนักงาน ก.ล.ต. จะออกหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code) และกฎเกณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับธรรมาภิบาลอยู่แล้วในปัจจุบัน รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะหลังทำให้แต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจต้องย้อนกลับมาพิจารณาหลักเกณฑ์และการบังคับใช้กันอย่างจริงจังอีกครั้ง ว่าช่องโหว่ของเรื่องนี้อยู่ตรงจุดไหน
หากลองมองไปยังตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ อย่างเช่น ตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เป็นหนึ่งในตลาดที่ร้อนแรงที่สุดในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกัน คือเป็นเพราะการปฏิรูปธรรมาภิบาลของบริษัทจดทะเบียนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2557
บทความหนึ่งของ MSCI ที่ตั้งประเด็นว่า Have Corporate Reforms in Japan Unlocked Shareholder Value? หรือการปฏิรูปองค์กรในญี่ปุ่นได้ปลดล็อกมูลค่าผู้ถือหุ้นหรือไม่ ระบุไว้ว่า
เป้าหมายหนึ่งของการนำหลักธรรมาภิบาลและจรรยาบรรณขององค์กรมาใช้และการแก้ไขเพิ่มเติมในเวลาต่อมาของญี่ปุ่น คือการส่งเสริมการจัดแนวผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นและองค์กร และเพื่อส่งเสริมความรับผิดชอบของคณะกรรมการ ความกดดันจากนักลงทุนและหน่วยงานกำกับดูแล มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มความเป็นอิสระของคณะกรรมการเพื่อปรับปรุงการกำกับดูแลการจัดการและยับยั้งการปฏิบัติที่อาจทำให้ฝ่ายบริหารไม่ต้องเผชิญแรงกดดันในการปลดล็อกมูลค่าผู้ถือหุ้น
การถือหุ้นไขว้ ซึ่งหาได้ยากในตลาดพัฒนาแล้วอื่นๆ เป็นสิ่งที่บริษัทญี่ปุ่นยังคงรักษาไว้เพื่อสนับสนุนความสัมพันธ์ทางธุรกิจ แนวปฏิบัตินี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้เงินทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยมีการเรียกร้องให้คลายความสัมพันธ์ดังกล่าวมานานแล้ว
อัตราส่วนขององค์ประกอบในดัชนี MSCI Japan ที่ตั้งค่าสถานะสำหรับการถือหุ้นไขว้ในปี 2566 ลดลงเหลือ 36% จาก 43% ในปี 2562
นอกจากนี้ พฤติกรรมการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากหลังจากการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในปี 2557 ตั้งแต่ปี 2559 จำนวนคณะกรรมการบริษัทที่มีกรรมการอิสระไม่ถึงครึ่งลดลง สวนทางกับจำนวนคณะกรรมการที่ถูกผู้ถือหุ้นลงคะแนนคัดค้านเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้บ่งชี้ว่านักลงทุนอาจเริ่มเอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบและลงโทษคณะกรรมการบริษัทที่บกพร่องในเรื่องธรรมาภิบาลและผลประกอบการ
แน่นอนว่าบริบทของตลาดหุ้นแต่ละประเทศย่อมไม่เหมือนกัน และน่าจะต้องอาศัยแนวทางการจัดการที่แตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศอื่นๆ คือ หากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องลุกขึ้นมาจัดการกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ตลาดหุ้นไทยก็มีแนวโน้มที่จะกลับมาสดใสได้อีกครั้ง และที่สำคัญคือนักลงทุนน่าจะเริ่มกลับมาเชื่อมั่นต่อหุ้นไทยได้บ้าง