×

EA เปิดตัว ‘เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า’ ให้บริการเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา ชูลดใช้น้ำมัน 4.73 ล้านลิตรต่อปี

23.12.2020
  • LOADING...
EA เปิดตัว ‘เรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า’ ให้บริการเส้นแม่น้ำเจ้าพระยา ชูลดใช้น้ำมัน 4.73 ล้านลิตรต่อปี

หลังจากที่เปิดตัวต้นแบบแนวคิดโครงการพัฒนาเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้ามานานแรมปี ในที่สุด EA หรือบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ก็ได้ฤกษ์เปิดตัวเรือพลังงานไฟฟ้าลำแรกของพวกเขา เพื่อให้บริการในเส้นทางแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการแล้ว (ให้บริการในเส้นทางระหว่างท่าสะพานพระราม 5 ถึงท่าสาทร)

 

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (22 ธันวาคม) EA ได้นำเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ‘MINE Smart Ferry’ จดทะเบียนเป็นเรือโดยสารไฟฟ้าลำแรกของประเทศไทย พร้อมเริ่มให้บริการเป็นเรือไฟฟ้าสายแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นรายแรกอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 มลพิษ และสิ่งแวดล้อม โดยจะทดลองให้บริการฟรีตั้งแต่วันนี้จนถึง 14 กุมภาพันธ์ 2564

 

สำหรับเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่ทาง EA พัฒนาขึ้นมาใช้กับ MINE Smart Ferry นั่นมีขนาดความจุที่ 800 กิโลวัตต์ชั่วโมง โดยสามารถอัดประจุไฟฟ้าจากสถานีชาร์จ EA Anywhere ได้ด้วยเวลาเพียง 20 นาทีเท่านั้น พร้อมรองรับผู้โดยสารสูงสุดถึง 250 คน

 

นาวาโท ปริญญา รักวาทิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด บริษัทย่อยของ EA กล่าวถึงโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าว่า MINE Smart Ferry เป็นเรือที่ถูกออกแบบในรูปโฉมเรือสองท้อง (Catamaran) โดยใช้วัสดุลำตัวเรือจากอลูมิเนียม ให้การทรงตัวดีเยี่ยม สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 18 น็อต เรือมีขนาดกว้าง 7 เมตร และยาว 24 เมตร

 

ภายในเรือติดระบบปรับอากาศ มีระบบตั๋วโดยสารอัตโนมัติ สามารถซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชัน พร้อมรองรับระบบตั๋วร่วมกับระบบขนส่งทุกประเภทได้ในอนาคต นอกจากนี้ในเรือมีจอให้ข้อมูลการเดินทางและระบบประกาศให้ผู้โดยสารทราบข้อมูลตลอดการเดินทาง พร้อมอุปกรณ์ความปลอดภัยตามมาตรฐานที่กรมเจ้าท่ากำหนด  

 

โดยบริษัท อี สมาร์ท ทรานสปอร์ต จำกัด มีโครงการที่จะผลิตเรือเพื่อให้บริการทั้งหมด 27 ลำ ซึ่งจะสามารถประหยัดน้ำมันดีเซลได้ถึง 4,730,000 ลิตรต่อปี และช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 12,771 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี 

 

นอกจากนี้กลุ่ม EA ยังได้ร่วมมือกับกรมเจ้าท่าในโครงการความร่วมมือปรับปรุงท่าเรือต่างๆ ทั้งด้านอารยสถาปัตย์เพื่อความสวยงาม และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในระบบการบริหารจัดการให้ทันสมัย ปลอดภัย และสะดวกยิ่งขึ้น โดยเริ่มนำร่องจากการพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็น ‘ท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier)’ ติดตั้ง Digital Signage เพื่อแจ้งข้อมูลการบริการ การออกตั๋วด้วยเครื่องอัตโนมัติ การใช้อุปกรณ์ตรวจจับสิ่งผิดปกติเพื่อความปลอดภัย เป็นต้น 

 

สำหรับโครงการเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้านี้ ยังนับเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมกับ กระทรวงคมนาคมและกรมเจ้าท่า ในการดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่ง ที่หันมาให้ความสำคัญกับการนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับแผนการพัฒนาประเทศ การลดปัญหาการจราจรทางบก ลดมลภาวะ และเพื่อความสะดวกสบายของประชาชน ด้วยการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยยานยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบทั้งระบบเรือ-รถ-ราง ตามนโยบายการคมนาคมไร้รอยต่อ (Seamless Transportation) 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising