×

EA ยอมรับแร่ลิเธียมพุ่ง 6 เท่าตัว กดดันต้นทุนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นคันละ 5-6 หมื่นบาท แต่มั่นใจอนาคตรถ EV ยังอยู่ในช่วงเติบโต

09.03.2022
  • LOADING...
แร่ลิเธียม

ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ราคาแร่ลิเธียมซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าตัว กดดันให้ต้นทุนของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตาม โดย EA ประเมินว่าต้นทุนการผลิตรถยนต์ 1 คันน่าจะเพิ่มขึ้นราว 5-6 หมื่นบาท 

 

ราคาของแร่ลิเธียมล่าสุด (8 มีนาคม) พุ่งขึ้นมาอยู่ที่ 493,500 หยวนต่อตัน เพิ่มขึ้น 600% จากราคาเมื่อ 1 ปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 70,500 หยวนต่อตัน โดยราคาของแร่ลิเธียมเริ่มขยับขึ้นมาทำสถิติสูงสุดใหม่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 หลังจากทะลุ 171,000 หยวนต่อตัน ด้วยอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งแร่ลิเธียมถือเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิตแบตเตอรี่

 

อมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA หนึ่งในบริษัทที่ขยายธุรกิจในด้าน EV อย่างเต็มตัว กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ต้นทุนแร่ลิเธียมที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อทั้งอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนของการผลิตแบตเตอรี่ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) เพิ่มขึ้น และไม่ใช่เพียงแค่ลิเธียมเท่านั้น แต่วัตถุดิบอื่นๆ ก็ปรับตัวขึ้นแทบทั้งสิ้น 

 

“ส่วนของ EA ต้นทุนเราเพิ่มขึ้นราว 20% จาก 135-140 ดอลลาร์ต่อ kWh เป็น 170 ดอลลาร์ต่อ kWh คิดว่าทั้งอุตสาหกรรมน่าจะเพิ่มขึ้นในระดับใกล้เคียงกัน” 

 

ต้นทุนของแร่ลิเธียมที่เพิ่มขึ้นน่าจะกระทบกับราคารถยนต์ไฟฟ้าเช่นกัน ในกรณีของรถยนต์บุคคลทั่วไป โดยเฉลี่ยใช้แบตเตอรี่ 50 kWh ทำให้ต้นทุนของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นคันละประมาณ 5-6 หมื่นบาท 

 

“ส่วนนี้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์ว่าจะผลักต้นทุนมาที่ผู้บริโภคหรือไม่ แต่โดยปกติแล้วรถยนต์ที่ประกาศราคาขายมาแล้วมักจะไม่ได้ปรับราคา และผู้ผลิตจะเป็นผู้แบกต้นทุนที่เพิ่มขึ้น” 

 

อมรกล่าวต่อว่า หลังจากนี้คงจะต้องติดตาม 2 ปัจจัยสำคัญ คือ

 

1. อุปสงค์และอุปทานของแร่ลิเธียม ซึ่งมีโอกาสที่จะเริ่มเห็นเหมืองลิเธียมเริ่มเปิดมากขึ้นหลังจากที่ผู้ผลิตรถยนต์แต่ละรายเริ่มหันมารุกยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ในช่วงแรกอาจจะเห็นอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าและผลักให้ราคาขึ้นแรง แต่หลังจากนั้นราคาจะเริ่มปรับตัวลงมา แต่คงจะไม่ลงไปถึงระดับต่ำในช่วงก่อนหน้านี้

 

2. สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งผลักให้ราคาแร่ต่างๆ เพิ่มขึ้นทั้งหมด ไม่ใช่แค่ลิเธียม รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย ราคาก็น่าจะปรับลงตาม 

 

“ประเด็นระหว่างรัสเซียและยูเครนที่เกิดขึ้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่สะท้อนให้เห็นว่าการใช้รถยนต์ดั้งเดิมก็มีความเสี่ยงในเรื่องของพลังงานที่ผันผวนสูง ขณะที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้อุตสาหกรรมเติบโตต่อ” 

 

นอกจากนี้เรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีของ EV กับยานยนต์ดั้งเดิม เชื่อว่าฝั่งของ EV ยังมีช่องว่างให้พัฒนาต่อได้อีกมาก โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เช่น การกักเก็บพลังงาน ความรวดเร็วในการชาร์จ และราคาที่ถูกลง 

 

ขณะเดียวกันการสนับสนุนจากภาครัฐจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น อย่างเรื่องของภาษีที่น่าจะเห็นเพิ่มเติมคือ การเก็บภาษีในส่วนของรถยนต์ดั้งเดิมที่อาจจะสูงขึ้น โดยอิงจากปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

 

“ปีนี้เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของความชัดเจนในตลาด EV และมีโอกาสจะเติบโตไปได้อีกมาก แต่ขณะเดียวกันรถยนต์ดั้งเดิมคงจะไม่ได้หายไปทันที แต่อัตราเร่งระหว่างการเติบโตของ EV และการลดลงของรถยนต์ดั้งเดิมจะมากขึ้นอีก อย่าง 3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า EV เข้ามาอยู่ในชีวิตคนเรามากขึ้น”

 

สำหรับ EA ในปีนี้ สัดส่วนรายได้จากธุรกิจ EV จะเพิ่มขึ้นเป็น 25-30% จากปีก่อนที่ไม่ถึง 5% เรียกได้ว่าการเติบโตในปีนี้ของบริษัทจะมาจาก EV เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ปรับกลยุทธ์บางส่วน โดยเฉพาะของรถยนต์ส่วนบุคคลที่เดิมมีแผนจะเจาะตลาดส่วนนี้ แต่ปัจจุบันจะหันไปเน้นรถยนต์เพื่อการขนส่งเชิงพาณิชย์เป็นหลัก 

 

“ด้วยจังหวะที่โควิดเข้ามากระทบ และการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ในแง่ต้นทุนอาจจะสู้ได้ยาก เพราะฉะนั้นบริษัทจึงปรับไปมาใช้จุดแข็งเรื่องของการชาร์จได้เร็วภายใน 15 นาที ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจขนส่งมากกว่า” 

 

ธีร์ธนัตถ์ จินดารัตน์ นักวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) มองว่า ต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้นกระทบกับผู้ประกอบการพอสมควร แต่ในแง่ความสามารถในการแข่งขันไม่ได้กระทบมากนัก เพราะทุกรายได้รับผลกระทบใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตในไทยหากใช้วัตถุดิบในการผลิตจากในประเทศ 60% จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 40% ช่วยให้มีความได้เปรียบเพิ่มขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี กรณีของผู้ผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำอย่าง EA คาดว่าอัตรากำไรขั้นต้นจะลดลงจาก 20% มาเหลือประมาณ 17% เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 

 

ส่วนภาพรวมของอุตสาหกรรมในระยะ 1-3 ปีข้างหน้า คาดว่าปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าจะเติบโตได้ราว 20-30% ต่อปีเป็นอย่างน้อย จากฐานที่ยังต่ำและการสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงภาวะที่น้ำมันแพงเช่นนี้อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เติบโตได้มากกว่าที่ประเมินไว้ 

 

“ตามเทรนด์ของโลก รถ EV จะมีสัดส่วนราว 6% ของรถยนต์ใหม่แต่ละปี สำหรับในไทยปกติแล้วจะมีรถยนต์ใหม่ราว 7 หมื่นคัน ก็จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 4.2 พันคัน”

 

ในแง่ของการลงทุน อย่างหุ้น EA ปัจจุบันราคาหุ้นลดลงจากระดับ 90-100 บาท มาอยู่ที่ 80-85 บาท มองว่าเป็นระดับที่สามารถสะสมเพื่อลงทุนระยะยาวได้ โดยราคาหุ้นในระดับนี้ซื้อขายบน P/E 35 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 40 เท่า 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X