×

บทสรุปรายงาน e-Conomy SEA ประจำปี 2023 ของประเทศไทย ผู้มีเศรษฐกิจดิจิทัลใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

20.11.2023
  • LOADING...
e-Conomy SEA 2023

รายงาน ‘e-Conomy SEA 2023’ ได้เน้นย้ำถึงการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายรวม (GMV) ถึง 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 โดยยังคงรักษาตำแหน่งเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน 

 

รายงานจาก Google, Temasek และ Bain & Company ทำนายว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยอาจเติบโตได้ถึง 1-1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 โดยมี GMV ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 ภาคธุรกิจที่เป็นแรงผลักดันหลัก ได้แก่ อีคอมเมิร์ซ ท่องเที่ยวออนไลน์ บริการการเงินดิจิทัล สื่อออนไลน์ และการจัดส่งอาหารและการขนส่ง

 

เป็นที่น่าตกใจว่าการลงทุนจากภาคเอกชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี หลังจากที่แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทั่วโลกในเรื่องของต้นทุนของเงินลงทุนและประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวงจรการระดมทุน

 

เพื่อให้สามารถหลุดจากภาวะการลงทุนที่ยากลำบากนี้ ธุรกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องมีแนวทางที่ชัดเจนในการสร้างการเติบโตควบคู่ไปกับการสร้างผลกำไร ซึ่งหมายความว่าต้องแสดงให้นักลงทุนที่มุ่งเน้นเรื่องแผนทางออกสำหรับธุรกิจและผลตอบแทนจากการลงทุนเห็นว่ามีมูลค่าประเมินราคาเข้าสู่ตลาดที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โมเดลการสร้างรายได้ที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผล และแผนทางออกสำหรับธุรกิจที่สามารถทำได้จริง

 

ขณะที่การท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยมีอัตราการเติบโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค และเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลไทยในปี 2023 โดยคาดว่าจะเติบโต 85% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ามูลค่าสินค้ารวมจะแตะ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ยังไม่กลับสู่ระดับก่อนสถานการณ์โควิดที่สูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019

 

ที่น่าสนใจคืออีคอมเมิร์ซยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย โดยคิดเป็น 61% ของมูลค่าสินค้ารวมในปี 2023 ภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้น 10% จากปี 2022 โดยมีมูลค่าสินค้ารวม 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะแตะ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compounded Annual Growth Rate: CAGR) อยู่ที่ 16% 

 

แม้ว่าผู้ประกอบการจะลดการจัดโปรโมชันและปรับส่วนลด เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าสินค้ารวมของภาคธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสที่จะแตะ 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

 

ขณะเดียวกันไทยครองตลาดบริการวิดีโอสตรีมมิงที่เรียกเก็บค่าสมาชิกที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค และคาดว่าไทยจะเป็นหนึ่งในตลาดสื่อออนไลน์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคในช่วงปี 2023-2030 แม้ว่าจะมีข้อจำกัดทางด้านคอนเทนต์ที่เป็นภาษาท้องถิ่น แต่ผู้บริโภคชาวไทยก็เต็มใจที่จะสมัครใช้บริการวิดีโอและเพลงแบบออนดีมานด์ 

 

ภาคธุรกิจสื่อออนไลน์ของไทยคาดว่าจะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ โดยเพิ่มขึ้น 12% จากปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 16% มีมูลค่าสินค้ารวม 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 และจะแตะ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 

 

อีกเรื่องที่ต้องจับตามองคือการที่ผู้ประกอบการด้านการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์มีกลยุทธ์ที่คล้ายคลึงกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยลดจำนวนโปรโมชันและแคมเปญจูงใจลูกค้า เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการเติบโตและการสร้างผลกำไร แม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับโควิดและผู้คนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว แต่พฤติกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ยังคงเหมือนเดิมหลังการระบาดใหญ่ ในขณะที่ความต้องการเดินทางคืนสู่ระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด โดยรวมแล้วคาดว่าภาคธุรกิจการขนส่งและบริการส่งอาหารออนไลน์จะมีมูลค่าสินค้ารวมอยู่ที่ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 เพิ่มขึ้น 1% จากปี 2022

 

ยังมีบริการด้านการเงินดิจิทัล (Digital Financial Services: DFS) เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดยบริการสินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลมีการเติบโตเร็วที่สุดถึง 65% โดยมียอดสินเชื่อสูงถึง 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2023 และยังเป็นอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในภูมิภาคด้วย 

 

และบริการด้านความมั่งคั่งทางดิจิทัลคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีเร็วที่สุดถึง 39% และจะมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการอยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2025 โดยคาดว่าบริการด้านการเงินดิจิทัลของไทยจะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคในปี 2030

 

นอกจากนี้ กว่า 70% ของมูลค่าการทำธุรกรรมออนไลน์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากผู้ใช้จ่ายออนไลน์สูงสุด 30% แรก สำหรับประเทศไทย ผู้ใช้ที่มีมูลค่าสูง (High-Value Users: HVUs) มีการใช้จ่ายสูงกว่าผู้ใช้ที่มีมูลค่าไม่สูง (Non-HVUs) โดยเฉลี่ยถึง 7 เท่า โดยเฉพาะการใช้จ่ายในส่วนของเกม การขนส่ง และการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่า HVUs ในไทยจะมีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 64% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในภูมิภาค

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising