×

เทรนด์ E-Commerce 2018 ข้อมูลคือพระเจ้า สังคมไร้เงินสดมาแน่!

23.11.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ปีหน้าจะมีผู้เล่นและผู้ประกอบการเจ้าใหม่ๆ มาลงทุนทำตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยคึกคักกว่าที่เคย
  • ผู้ประกอบการรายใดที่เก็บสะสมข้อมูลลูกค้าไว้มากๆ ก็จะส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจของตัวเองมากเท่านั้น
  • โดรนและรถยนต์ไร้คนขับส่งสินค้าช่วยตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในโลจิสติกส์ได้มาก แต่กฎหมายไทยยังไม่เอื้อให้กับเทคโนโลยีเหล่านี้มากพอ
  • Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสด จะเกิดขึ้นจริงเร็วๆ นี้ ช่วยลดต้นทุนหมุนเวียนเงินสดเพื่อนำไปสร้างประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ

 

ทุกวันนี้การช้อปสินค้าออนไลน์ หรือติดต่อซื้อขายสินค้าบริการผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ (Social Commerce: ซื้อสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย) กลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วสำหรับคนไทยส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็นว่าภาคผู้บริโภคในปัจจุบันมีพฤติกรรมความเชื่อมั่นและมุมมองการบริโภคที่เปลี่ยนไปพอสมควร

 

ปี 2017 นี้ ETDA คาดการณ์ว่า อีคอมเมิร์ซไทยน่าจะจบปีโดยมีมูลค่าอยู่ที่ 2,812,592.03 ล้านบาท และเทียบเป็นอัตราส่วนการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 9.86% (ปี 2016-2017) ตอกย้ำความเชื่อที่ว่าอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตต่อไปเรื่อยๆ

 

แต่คำถามก็คือ ในปี 2018 นี้มีข้อมูลอะไรบ้างที่ผู้ประกอบการทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ควรรู้ และมีกลยุทธ์ใดที่ควรยึดถือปฏิบัติตามเป็นพิเศษหรือไม่?

 

วันที่ 22 พฤศจิกายน Priceza ผู้ให้บริการเว็บไซต์และแอปพลิเคชันค้นหาสินค้าและเปรียบเทียบราคา ได้จัดงานประกาศรางวัล Priceza E-Commerce Awards 2017 ขึ้น โดยความพิเศษอยู่ที่เวทีเสวนา 3 หัวข้อสำคัญ ได้แก่ 1. ทิศทางอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย 2. แนวโน้มระบบอีโลจิสติกส์ในอนาคต และ 3. สถานการณ์ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบัน เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการด้านอีคอมเมิร์ซไทยปี 2018

 

 

ผู้เชี่ยวชาญชี้ปีหน้าอีคอมเมิร์ซไทยแข่งกันดุเดือด ใครเก็บ ‘ข้อมูล’ เยอะได้เปรียบ  คาด C2C มาแรงสุด

เวทีเสวนาในหัวข้อทิศทางอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2018 มีคนในวงการอีคอมเมิร์ซไทยอย่าง ศิวัตร เชาวรียวงษ์ ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย), ผรินทร์ สงฆ์ประชา ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร บริษัท นาสเกต รีเทล จำกัด, ศิวกร สิริวงศ์ภาณุพงศ์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ช้อปปี้ (ประเทศไทย) จำกัด และ ยุทธนา จิตจรุงพร รองประธานบริหารฝ่ายธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เทสโก้ โลตัส เข้าร่วมเป็นวิทยากร โดยมี ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา

 

สำหรับ ศิวัตร ที่แม้จะไม่ได้เป็นผู้เล่นในตลาดอีคอมเมิร์ซโดยตรง แต่กรุ๊ปเอ็มซึ่งดำเนินธุรกิจด้านมีเดียเอเจนซีก็ถือว่ามีข้อมูลและได้สัมผัสพื้นโลกโซเชียลมีเดียอยู่บ้าง จึงพอจะทำให้เขาเห็นว่าอีคอมเมิร์ซไทยยุคนี้เฟื่องฟูเอามากๆ ทั้งในด้านการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลคอมเมิร์ซ หรือแม้แต่บริการต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาและได้รับความนิยม เช่น GrabBike (Delivery) หรือ UberEATS

 

นอกจากนี้ศิวัตรยังบอกอีกด้วยว่า สาเหตุที่แบรนด์และผู้ประกอบการรายใหญ่ๆ เริ่มหันมาจับตลาดอีคอมเมิร์ซทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่เคยทำมาก่อนเป็นเพราะพวกเขามองข้ามช็อตไปถึงการเก็บข้อมูลผู้บริโภค ซึ่งจะมีประโยชน์มากๆ กับการทำธุรกิจในภายภาคหน้า

 

“จริงๆ แบรนด์ใหญ่ก็หันมาศึกษาอีคอมเมิร์ซกันนานแล้วเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ ถึงแม้ยอดขายออนไลน์จะยังเทียบกับยอดขายออฟไลน์ไม่ได้ แต่สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ ‘ข้อมูล’ ที่เก็บจากผู้บริโภค ซึ่งจะมีประโยชน์กับการทำธุรกิจในอนาคต

 

“การทำความรู้จักลูกค้าจะทำให้แบรนด์ต่างๆ ดำเนินธุรกิจและทำอีคอมเมิร์ซได้ยั่งยืน แบรนด์ใหญ่ๆ จะต้องเก็บลูกค้าด้วยวิธีใดๆ ก็ได้ เพราะยังไงก็จะต้องได้ใช้แน่นอน ไม่ว่าจะทำโปรโมชันหรือกิจกรรมส่งเสริมการขายใดๆ ก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็วนกลับมาอยู่ที่การรู้ข้อมูลอยู่ดี

 

ยุทธนา ตัวแทนจากห้างสรรพสินค้าเทสโก้ โลตัส กล่าวในทำนองเดียวกันว่า ข้อมูลเป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ โดยเทคนิค 2 ประการที่จะทำให้แบรนด์จับลูกค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซได้อยู่หมัด คือ ต้องรู้จักลูกค้าว่าเป็นคนอย่างไร และรู้จุดแข็งของตัวเองเพื่อที่จะนำไปตอบโจทย์ลูกค้าให้ได้

 

“ต้องถือว่าเราโชคดีที่เทสโก้ โลตัส เป็น Big Player ที่มีการเก็บฐานข้อมูลของลูกค้าค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมาเราเห็นการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอย่างต่อเนื่อง และพบว่าสินค้าบางอย่างก็เหมาะที่จะขายออนไลน์ได้ เช่น สินค้าจำพวกอุปกรณ์เทคโนโลยี แต่บางอย่างก็ทำไม่ได้ สุดท้ายแล้วถ้าเราสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งเรื่องราคาและความพอใจ ประสบการณ์มันก็จะชนะทุกอย่าง

 

“ส่วนเทรนด์อีคอมเมิร์ซที่ผมมองว่าจะเกิดขึ้นในปีหน้าแน่นอน คือ การเติบโตของผู้เล่นระดับโลก (Global Player) ที่หลังจากนี้ก็จะสาดดีลและโปรโมชันกันกระจายแน่นอน ในทางกลับกันมันอาจจะเป็นผลเสียที่ผู้บริโภคจะยึดติดกับโปรโมชันส่วนลด และทำให้ผู้ประกอบการเจ้าเก่าๆ จะต้องลำบากมากขึ้นในการปรับตัวสู้กับผู้เล่นใหม่ๆ ที่มีทุนทำการตลาดหนากว่าในช่วงแรกๆ”

 

 

ด้าน ศิวกร จากช้อปปี้ เชื่อว่า ยิ่งมีผู้เล่นและผู้ประกอบการระดับโลกกระโจนเข้าสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยในจำนวนที่เพิ่มขึ้นพร้อมๆ กับการแข่งขันที่ดุเดือด ไทยก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย

 

“ผมมองว่าเป็นผลดีต่อประเทศไทยนะ เพราะจะทำให้เกิดการแชร์ความรู้และประสบการณ์ของการช้อปออนไลน์ ซึ่งที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาด้านต่างๆ ทั้งการขนส่ง (Logistic) การทำธุรกรรม (Payment) รวมถึงการจ้างงานบุคลากรเพิ่มขึ้น และทั้งหมดก็จะช่วยให้ผู้คนมีความรู้ในการทำอีคอมเมิร์ซมากขึ้น”

 

อย่างไรก็ดี ด้วยการแข่งขันที่สูงขึ้นนี่เองที่ทำให้ ผรินทร์ จาก นาสเกต รีเทล เชื่อว่าผู้ที่จะได้รับผลกระทบและต้องปรับตัวมากที่สุดไม่ใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายเล็กอย่างที่หลายคนเข้าใจ หากแต่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางมากกว่าที่จะได้รับผลกระทบจากศึกที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

“ผมเชื่อว่าผู้ประกอบการและแบรนด์เล็กๆ จะมีวิธีการทำตลาดที่สร้างสรรค์มากขึ้น เพราะฉะนั้นพวกเขาไม่จำเป็นต้องไปทำการตลาดแข่งกับแบรนด์ใหญ่ ที่ส่วนใหญ่จะทุ่มทำการตลาดโฆณากับสื่อออนไลน์อยู่แล้ว แต่ถ้าแบรนด์ระดับกลางๆ อาจจะต้องระวังให้ดี เพราะการแข่งขันจะสูงมากขึ้น”

 

ย้อนกลับไปที่ศิวัตรอีกครั้ง ในมุมมองของผู้ประกอบการด้านมีเดียเอเจนซี เขาเชื่อว่าในปี 2018 ที่จะถึงนี้ เทรนด์อีคอมเมิร์ซที่จะมาแรงแน่นอนคือกลยุทธ์การค้าแบบ C2C (Consumer to Consumer) หรือการซื้อขายระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค

 

“ผมรู้สึกว่า C2C หรือการซื้อขายกันเองระหว่างผู้บริโภค (ผู้ค้ารายย่อย) น่าจะเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดในปีหน้า เพราะปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่านธนาคารและโทรศัพท์มือถือก็เริ่มพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ แล้ว เทคโนโลยีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันจึงส่งเสริมให้คนประกอบอาชีพได้มากกว่าหนึ่งอาชีพ เช่น การขายของ แล้วพอ C2C มันคึกคัก เดี๋ยว B2C (Business to Consumer: การขายสินค้าไปยังผู้บริโภค) ก็จะตามไป”

 

 

‘โดรนและรถส่งสินค้าอัตโนมัติ’ เป็นไปได้กับเทรนด์อีโลจิสติกส์ปี 2018

ในยุคที่อีคอมเมิร์ซไทยเฟื่องฟูเช่นนี้ ก็ยิ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซเจ้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับดีมานด์ที่มีอยู่อย่างล้นหลามในตลาดตามไปด้วย

 

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน คือ เมื่อดีมานด์ของผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ต่างก็อยากได้รับสินค้าในวันเดียวกันกับวันที่ชำระสินค้า และกดออร์เดอร์แทบจะทั้งนั้น บ่อยครั้งผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ก็ไม่สามารถตอบสนองความต้องการแบบ Same day delivery ให้กับลูกค้าทุกๆ คนได้พร้อมกันเพราะมีบุคลากรในจำนวนที่จำกัด (ต้องรอออร์เดอร์มาเป็นจำนวนมากเพื่อที่จะจัดเส้นทางการจัดส่งสินค้าให้คุ้มทุนที่สุดในคราวเดียว) นี่จึงเป็นหัวข้อและความท้าทายครั้งใหญ่ที่ภาคผู้ให้บริการจะต้องบรรลุผลให้ได้

 

สุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ให้ความเห็นว่า “ปัจจุบันร้านค้าไหนที่มีฟีเจอร์ส่งสินค้าแบบ Same day delivery ก็จะทำให้พวกเขาขายของได้ง่ายมากขึ้น มันจึงเป็นส่ิงที่ท้าทายเหมือนกัน เพราะนั่นเท่ากับว่ายิ่งมีดีมานด์เพิ่มขึ้นเท่าไร เราก็ต้องมีกำลังบุคลากร (ในการกระจายส่งสินค้า) เพิ่มมากขึ้นไปด้วย”

 

 

ส่วน โยจิ ฮามานิชิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี ยามาโตะ เอ็กซ์เพรส บอกว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการขนส่งสินค้าเป็นทางออกที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด เพราะบริษัทหลายๆ แห่งก็ไม่สามารถเพิ่มจำนวนบุคลากรได้ในระยะเวลาสั้นๆ

 

“เทคโนโลยีจำพวกโดรนหรือระบบส่งสินค้าอัตโนมัติ (รถยนต์ไร้คนขับ) น่าจะเข้ามามีบทบาทในอีคอมเมิร์ซมากขึ้น แต่อาจจะไม่ได้มาแทนที่แรงงานแบบเดิมไปหมดเลยซะทีเดียว มันมาแน่นอน แต่จะมาเมื่อไรและมาด้วยวิธีการไหนก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้น”

 

ต่อประเด็นเรื่องโดรนส่งสินค้านี้ สุทธิเกียรติ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า น่าจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้อยู่แล้ว เพราะปีที่ผ่านมาก็มีผู้ประกอบธุรกิจโดรนส่งสินค้าเข้ามาคุยกับเขาอยู่เหมือนกัน แต่ติดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย แต่หากสามารถดำเนินการให้เกิดขึ้นจริงได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาการส่งสินค้าล่าช้าได้แน่นอน

 

ด้าน สันทิต จีรวงศ์ไกรสร ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค ฝ่ายดำเนินงาน บริษัท ลาลาล่ามูฟ ประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า ภาครัฐและเอกชนควรจะร่วมมือกันเพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาสร้างประโยชน์ขับเคลื่อนวงการโลจิสติกส์ไทยให้รุดหน้าให้ได้มากที่สุด

 

“การใช้โดรนยังติดเรื่องข้อกฎหมายอยู่ เพราะฉะนั้นมันก็ต้องมีภาครัฐมาช่วยกำกับด้วย เช่นเดียวกับกรณีของรถยนต์ไร้ขนขับส่งสินค้า ผมคิดว่าเทคโนโลยีเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้จริงนั้นก็ต้องอาศัยการทำงานร่วมกับรัฐและเอกชนในการพัฒนาร่วมกัน”

 

 

Cashless Society และพร้อมเพย์ สองเทรนด์สำคัญลดภาระต้นทุนการหมุนเวียนเงินสด

ขณะที่บนเวทีเสวนาเรื่องการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ประเด็นเรื่องสังคมไร้เงินสด (Cashless Society) และพร้อมเพย์ดูจะเป็น 2 หัวข้อใหญ่ที่ได้รับความสนอกสนใจมากที่สุด

 

เพราะในปัจจุบันผู้ให้บริการทางการเงินและธนาคารหลายแห่งต่างก็พัฒนาวิธีการเพื่อให้ผู้ประกอบการหลายๆ ขนาดพึ่งพาการใช้เงินสดน้อยที่สุด เราจึงได้เห็นพ่อค้าแม่ค้าขายข้าวแกงและพี่วินมอเตอร์ไซค์เพิ่มช่องทางการจ่ายเงินด้วย QR Code อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับเทรนด์ความนิยมของกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์หรือ E-Wallet ที่กำลังเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ

 

 

สมคิด จิรานันตรัตน์ รองประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า หนึ่งในเหตุผลที่ภาครัฐและทางธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความสำคัญกับเทรนด์สังคมไร้เงินสดนั้น เพราะเป็นการช่วยลดต้นทุนเสียเปล่าที่เกิดขึ้นจากกระบวนการหมุนเวียนเงินสดอย่างฟุ่มเฟือย

 

“ในแต่ละวันมีเงินสดหมุนเวียนในประเทศมากกว่าหลักแสนล้านบาท ซึ่งต้นทุนการหมุนเวียนเงินจำนวนนี้ถือว่าสูงมากๆ และน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าหากเอาต้นทุนที่ใช้ในการหมุนเวียนเหล่านั้นไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ แทน”

 

ฝั่ง สมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ PayPal ประจำประเทศไทย ได้เปิดเผยผลสำรวจข้อมูลที่น่าสนใจและพบว่า 57% ของผู้ทำธุรกรรมส่วนใหญ่ในเอเชียยังยึดติดกับการใช้เงินสดอยู่ อย่างไรก็ดี จีนดูจะเป็นประเทศที่ทันสมัยและก้าวหน้ามากที่สุด เพราะมีจำนวนผู้ใช้เงินสดทำธุรกรรมเพียง 25% เท่านั้น ส่วนอีก 75% ที่เหลือหันไปใช้รูปแบบการชำระเงินแบบใหม่ๆ รวมถึง Alipay และ WeChat Pay

 

 

ส่วนประเทศไทยยังมีอัตราการใช้เงินสดทำธุรกรรมอยู่ที่ 70% แต่จำนวนดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะลดลงได้ไม่ยาก โดย PayPal เชื่อว่าเทคโนโลยีและประสิทธิภาพการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ทันสมัยจะมีส่วนช่วยให้ผู้บริโภคได้ทดลองการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น

 

ด้านวิธีการทำธุรกรรมรูปแบบใหม่ๆ ที่ผู้บริโภคชาวเอเชียรู้สึกคุ้นเคยมากที่สุด สามารถจำแนกตามลำดับได้ดังนี้

  1. 49% คุ้นเคยกับ E-Wallet หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์
  2. 23% คุ้นเคยกับ Contactless Payment Via Cards หรือการทำธุรกรรมผ่านการแตะบัตรเข้ากับเครื่องแสกน
  3. 23% คุ้นเคยกับ Contactless Payment Via Mobiles หรือการทำธุรกรรมผ่านการแตะโทรศัพท์มือถือกับเครื่องสแกน
  4. 14% คุ้นเคยกับ In-App Payment System หรือการทำธุรกรรมผ่านแอปฯ มือถือ
  5. 11% คุ้นเคยกับ Digital Currency หรือการใช้สกุลเงินดิจิทัล
  6. 4% คุ้นเคยกับ Recharge Phone

 

สมหวังบอกว่า “ณ ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก ผู้ให้บริการด้านการเงินเองก็เปลี่ยนแปลงและปรับปรุงบริการของตนเพื่อให้ผู้บริโภคทำธุรกรรมได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งแนวโน้มวิธีการชำระเงินของผู้บริโภคไทยก็จะเปลี่ยนไปมากขึ้นเช่นกัน อย่างที่พลเมืองจีนนิยมใช้ Alipay WeChat ในปัจจุบันกัน เราเองก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบไปคล้ายๆ กับเขาได้ในอนาคต ซึ่งพร้อมเพย์ในบ้านเราก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมให้ทำธุรกรรมออนไลน์ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน”

 

ทุกวันน้ีประเด็นเรื่องการใช้พร้อมเพย์ยังกลายเป็นข้อถกเถียงเรื่องความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนว่าคุยกี่ครั้งก็หาข้อสรุปไม่ได้เสียที แต่สำหรับสมคิดตัวแทนจากธนาคารกสิกรไทย เขาเชื่อว่า พร้อมเพย์จะทำให้ไลฟ์สไตล์ความเป็นอยู่ของผู้คนสะดวกและปลอดภัยมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ

 

“พร้อมเพย์ จะทำให้การใช้จ่ายข้ามธนาคารได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้พร้อมเพย์ยังทำได้มากกว่าในแง่การทวงเงิน ซึ่งจะเป็นฟีเจอร์ที่เปิดตัวในปีหน้าและถือเป็นการเพิ่มความสะดวกให้ผู้บริโภค

 

“คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าพร้อมเพย์ไม่ปลอดภัยทำให้ไม่กล้าลงทะเบียน แต่ความจริงผมมองว่าคนที่ลงทะเบียนจะปลอดภัยกว่าด้วยซ้ำไป เพราะเป็นการยึดเลขโทรศัพท์กับเลขที่บัญชีเข้าด้วยกัน ซึ่งหมายความว่าจะไม่มีใครมาทำธุรกรรมแทนตัวคุณได้เลย”

 

ด้าน กิติพงศ์ มุตตามระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอดวานซ์ เอ็มเปย์ จำกัด ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์เชื่อว่า เทรนด์การใช้งานของ E-Wallet อาจจะเบียดคะแนนความนิยมจากการใช้เงินสดได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง แต่การแข่งกับบัตรเครดิตยังเป็นเรื่องที่ทำได้ยากอยู่ เนื่องจากมีฟังก์ชันการใช้งานที่ต่างกัน

 

“E-Wallet แข่งกับเงินสดได้ แต่อาจะแข่งกับเครดิตการ์ดได้ยาก เพราะในเชิงกระบวนการ E-Wallet ต้องอาศัยการเติมเงินออนไลน์ลงไปก่อน ต่างจากเครดิตที่เป็นการใช้เงินก่อนแล้วค่อยจ่ายที่หลัง ที่สำคัญเขายังมีโปรโมชันส่งเสริมการขายของตัวเองด้วย ซึ่งต่างจากการทำการตลาดของ E-Wallet ในขณะนี้”

 

ขณะที่ ศุภวิทย์ หงส์อมรสิน ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ประจำประเทศไทย บริษัท แอร์เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด อีกหนึ่งผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังทำตลาดในไทยอย่างต่อเนื่อง ให้ความเห็นถึงประเด็นการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้เงินสดว่า

 

“ถ้าทางธนาคารแห่งประเทศไทยผลักดันเรื่อง E-Wallet มากขึ้น ประชาชนก็จะหันมาใช้งานเทคโนโลยีแบบนี้มากขึ้น อย่างไรก็ดีมันจะเติบโตได้ก็ต้องมีการพัฒนาโครงสร้างการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตภายในประเทศให้ดีควบคู่ไปด้วยเพื่อให้สังคมไร้เงินสดพัฒนาไปได้อย่างมีเสถียรภาพ”

 

ที่สุดแล้วไม่ว่าสังคมไทยจะผลัดใบจากเงินสดไปซบอกเงินดิจิทัลและเงินในโลกออนไลน์ได้จริงหรือไม่? กรุงเทพฯ จะมีโดรนส่งสินค้าบินว่อนกลางสยามไปยังพาหุรัดได้หรือเปล่า? และอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตได้แค่ไหน? ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าการร่วมกันทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชนมีผลเป็นอย่างมาก สิ่งที่ควรคาดหวังในตอนนี้คือการจับมือและหารือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างฟันเฟืองสำคัญทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรมแน่นอน

 

อ้างอิง:

  • รายงานผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย ปี 2560 (Value of e-Commerce Survey in Thailand 2017) โดยสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA)
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X