×

สรุปปมดราม่า DW เสกเงินลงทุนจาก ‘4 พัน’ เป็น ‘3 ล้าน’ ในชั่วข้ามคืน ปลุกกระแสเก็งกำไรคึก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้เสมอไป!

17.09.2021
  • LOADING...
Derivative Warrant

ไม่ว่าจะพลาดพลั้งหรือตั้งใจ แต่ที่แน่ๆ ความผิดปกติของราคาของ DW ตัวหนึ่ง ทำให้เกิดเรื่องราวของ ‘กำไรมหาศาล’ เมื่อเทียบกับเงินลงทุนที่ใช้ไป จนดึงดูดให้ผู้คนแห่กันเข้าไป ‘ร่วมวงเก็งกำไร’ โดยอาจไม่ทันยั้งคิด

 

เรื่องราวที่พูดถึงนี้เกี่ยวข้องกับ DW ตัวหนึ่งของเจพีมอร์แกน คือ DJI41C2109A ซึ่งเป็น DW ที่อ้างอิงกับดัชนีดาวโจนส์ (DJIA) ของสหรัฐฯ ที่จู่ๆ ก็เกิดเป็นกระแสขึ้นมาในช่วงเช้าของวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาเปิดที่กระโดดขึ้นไปถึง 27.25 บาท ด้วยปริมาณการซื้อขาย 1.42 ล้านหน่วย ขณะที่ราคาของ DW ตัวนี้เมื่อวันก่อนหน้ายังอยู่ที่เพียง 0.02 บาท ทำให้ภายในชั่วข้ามคืนราคาของมันเพิ่มขึ้นไปถึง 136,150% ซึ่งยังคงเป็นปริศนาจนถึงวันนี้ว่า ทำไมอยู่ๆ ราคา DW ตัวนี้จึงปรับขึ้นมาอย่างบ้าคลั่ง

 

เรื่องราวที่ดูเหมือนจะเกินจริงนี้ยิ่งกลายเป็นที่สนใจกันมากขึ้นไปอีก หลังจากมีผู้แชร์เรื่องราวของคนที่สามารถทำกำไรได้จริงๆ จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ซึ่งใช้เงินลงทุนไปเพียงกว่า ‘4 พันบาท’ ก่อนที่เงินลงทุนนั้นจะกลายเป็นกว่า ‘3 ล้านบาท’ ในชั่วข้ามคืน เมื่อมีภาพของใครสักคนหนึ่งที่ทำได้จริงปรากฏออกมาให้เห็น ก็ทำให้หลายคนอยากที่จะเป็นเช่นนั้นบ้าง จนนำไปสู่การแห่เข้าไปเก็งกำไรใน DW ตัวนี้แบบไม่สมเหตุสมผลเท่าใดนัก

 

ไทม์ไลน์ของการเก็งกำไรใน DJI41C2109A

14 ก.ย. 2564 (15.35 น.) ราคาซื้อขายสุดท้ายของวันคือ 0.02 บาท
15 ก.ย. 2564 (09.55 น.) ราคาเปิดกระโดดไปที่ 27.25 บาท ด้วย Volume 1,422,200 หน่วย
15 ก.ย. 2564 (10.05 น.) ราคากระโดดลงมาอยู่ที่ 1 บาท ด้วย Volume 600 หน่วย
15 ก.ย. 2564 (11.00 น.) ราคาไหลลงไปต่ำสุดที่ 0.03 บาท

 

ระหว่างนั้นเรื่องราวของ DW ที่พุ่งขึ้นในระดับหมื่นถึงแสนเปอร์เซ็นต์เริ่มถูกแชร์ออกไปเรื่อยๆ

 

15 ก.ย. 2564 (11.00-15.05 น.) คนแห่เข้ามาเก็งกำไรใน DJI41C2109A มากขึ้นเรื่อยๆ จนดันราคากลับไปแตะ 20 บาท
15 ก.ย. 2564 (16.40 น.) ราคาไหลกลับลงมาปิดที่ 4.80 บาท
16 ก.ย. 2564 (09.55 น.) ราคาถูกดันกลับขึ้นไปอีกครั้ง แตะระดับ 13 บาท
16 ก.ย. 2564 (10.55 น.) ราคาไหลกลับลงมาอย่างรวดเร็วจนเหลือเพียง 0.70 บาท
16 ก.ย. 2564 (16.35 น.) ราคาซื้อขายสุดท้ายของวันคือ 0.33 บาท
17 ก.ย. 2564 (วันซื้อขายวันสุดท้าย) ราคาถูกดันกลับไปทำจุดสูงสุดที่ 0.50 บาท ก่อนจะปิดตลาดในสิ้นวันที่ 0.20 บาท

 

ในมุมของเจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) ในฐานะผู้ออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ DJI41C2109A ได้ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 16 กันยายนที่ผ่านมา โดย ภากร บูรณกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาซื้อขายของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (DW) ดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) อย่างมีนัยสำคัญ

 

เจพีมอร์แกน (ประเทศไทย) บอกว่า นักลงทุนควรทำความเข้าใจความเสี่ยงก่อนการลงทุน พร้อมกับชี้แจงว่าบริษัทไม่มีภาระผูกพันในการดูแลสภาพคล่องของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าว ซึ่งมีอายุคงเหลือน้อยกว่า 14 วันทำการ ก่อนวันครบกำหนดอายุ โดยอ้างอิงตามข้อ 10.5 ของข้อกำหนดสิทธิ

 

ทั้งนี้ บริษัทจะยังคงดำเนินการรับซื้อคืนจนถึงวันซื้อขายสุดท้ายของใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ดังกล่าวตามปกติ โดยนักลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ รวมถึงตารางราคารับซื้อคืนและฟังก์ชันเปรียบเทียบใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์รุ่นต่างๆ ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ที่ www.jpmorgandw41.com ก่อนการลงทุน

 

ท้ายที่สุดแล้วเรื่องราวเกี่ยวกับ DW ตัวนี้กำลังบอกอะไรเรา ในแว่บแรกเราอาจจะมองเห็นโอกาสของการทำกำไรหลายเท่าตัวในเวลาอันรวดเร็ว แต่การลงทุนย่อมมีด้านของความเสี่ยงควบคู่อยู่ด้วยเสมอ

 

สำหรับใครก็ตามที่กระโดดเข้าไปซื้อในช่วงที่ราคาถูกไล่ขึ้นไปถึง 15-20 บาท ในช่วงบ่ายของวันที่ 15 กันยายน 2564 ภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง เงินที่ลงทุนจะหายไปถึงประมาณ 70%

 

และหากใครที่อาจจะไม่รู้ว่า DJI41C2109A จะซื้อขายวันสุดท้ายในวันที่ 17 กันยายน ยังคงถือครองต่อมา ท้ายที่สุดแล้วมูลค่าของเงินที่ลงทุนไปนั้นก็มีแนวโน้มสูงมากที่จะกลายเป็น 0 บาทไปโดยปริยาย

 

ภาพ: เพจ Thammain Peeranat

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X