×

ลัดเลาะไปใน​ ‘เขาดินวนา’ ประวัติศาสตร์ถึงปัจจุบันตามวันเวลาที่เปลี่ยนแปลง

04.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins read
  • หากนับถึงปัจจุบัน สวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา เปิดต้อนรับประชาชนให้เข้ามาเยี่ยมชมสัตว์นานาชนิด รวมทั้งบรรยากาศและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นเวลา 79 ปีแล้ว แม้ในปีนี้จะมีกระแสข่าวว่าจะมีการย้ายไปตั้ง ณ สถานที่แห่งใหม่
  • แต่ถึงแม้ว่าในอนาคตอาจจะต้องย้ายไปยังสถานที่ใหม่ แต่ ณ เวลาปัจจุบันยังคงเปิดทำการปกติ สัตว์หลายพันตัวรอต้อนรับมนุษย์ทุกคน หรือรอจนกว่าจะได้พบกันใหม่อีกครั้ง ตราบที่ความทรงจำในวัยเยาว์หรือช่วงหนึ่งของชีวิตแต่ละคนยังมีภาพจำของ ‘เขาดิน’ ให้ระลึกถึง

ยังจำความรู้สึกแรกของตัวเองตอนมาเที่ยวเขาดินกันได้ไหม… ถามใหม่ก็ได้ จำได้หรือเปล่าว่ามาเที่ยวเขาดินครั้งสุดท้ายเมื่อไร หรือถ้ายากไป ลองตอบหน่อยว่า ระหว่างสวนสัตว์ดุสิตกับเขาดินวนา คุ้นหูชื่อไหนกว่ากัน… แล้วถ้าหากต้องย้ายไปตั้งที่อื่นจะรู้สึกอย่างไรบ้างหนอ


แต่ถ้าหากที่พูดมาทั้งหมดยังรู้สึกไม่คุ้นเคยกับประสบการณ์ ณ สถานที่เหล่านี้ THE STANDARD จะอาสาพาทุกคนไปเที่ยวสวนสัตว์ดุสิต หรือเขาดินวนา ซึ่งตั้งอยู่ที่เดียวกันนั่นแหละ ส่วนใครที่เคยไปมาแล้วก็ถือว่ามาย้อนความหลังไปพร้อมกันก็ได้

 

 

สวนสัตว์ดุสิต เขาดินวนา ผ่านมาแล้ว 79 ปี

สวนสัตว์ดุสิต แต่เดิมเรียกว่า สวนดุสิต หรือประชาชนทั่วไปเรียกกันติดปากว่า ‘เขาดินวนา’ ตั้งอยู่ถนนพระรามที่ 5 ตรงข้ามสวนจิตรลดา มีเนื้อที่ 118 ไร่ 2 งาน 66 ตารางวา

 

ตามประวัติที่ทางเว็บไซต์ของสวนสัตว์ดุสิตได้เผยแพร่ต่อสาธารณะระบุว่า เดิมที่ดินบริเวณนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2438 หลังจากที่พระองค์เสด็จประพาสยุโรป ได้ทอดพระเนตรกิจการสวนพฤกษชาติของต่างประเทศ และพบว่าสวนพฤกษชาติเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ความเพลิดเพลินและเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จึงมีพระราชดำริให้จัดสร้างขึ้นในประเทศไทยบ้าง


โดยโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในพื้นที่ราบทางด้านทิศตะวันออก ติดคลองเปรมประชากร (ถนนพระรามที่ 5) ด้วยการขุดสระน้ำใหญ่ประกอบคูคลองระบายน้ำและถนน แล้วนำดินขึ้นมาเป็นเนินเขาเกาะกลางน้ำ เรียกว่า เขาดิน และรอบๆ เขาดินนั้น ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกพรรณไม้นานาชนิดสร้างขึ้นเป็นสวนพฤกษชาติส่วนพระองค์ เรียกว่า วนา รวมอาณาเขตส่วนนี้โปรดให้เรียกว่า เขาดินวนา โดยในขั้นต้น พระองค์ให้สร้างขึ้นสำหรับเป็นที่ประพาสเพื่อทรงพระเกษมสำราญส่วนพระองค์และข้าราชบริพารฝ่ายในก่อน ดังนั้นสวนดุสิต หรือเขาดินวนา จึงเป็นส่วนหนึ่งในเขตพระราชฐานของพระราชวังดุสิต

 

 

สมัยนั้นสวนสัตว์ดุสิตจึงเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระราชฐาน และมีสัตว์จำนวนไม่มากนัก ต่อมาเมื่อคราวที่เสด็จประพาสหมู่เกาะชวา ก็ได้ทรงนำกวางดาวฝูงหนึ่งจากชวามาเลี้ยงไว้ในสวนกวาง ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณสวนอัมพร และกวางดาวฝูงนี้ได้ผสมพันธุ์สืบต่อกันมาจนถึงที่เลี้ยงไว้ในสวนสัตว์ดุสิตขณะนี้

 

 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงสวนสัตว์แห่งนี้ให้กว้างขวางกว่าที่เป็นอยู่ และเปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เข้ามาเที่ยวพักผ่อนด้วย จึงทรงมอบหมายให้มหาเสวกตรีพระยาบริหารราชมาณพ ดำเนินการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเก่า และได้สร้างเรือนกระจกหลากสีเพิ่มเติม ซึ่งเรือนกระจกนี้ยังปรากฏอยู่ในสวนสัตว์ดุสิตจนทุกวันนี้


หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 คณะรัฐบาล นำโดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พิจารณาเห็นว่าในเขตนครหลวงนั้นมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับประชาชนน้อย ไม่เพียงพอต่อประชาชนที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานสวนดุสิตให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ ดำเนินการจัดทำเป็นสวนสัตว์สำหรับประชาชนเมื่อ พ.ศ. 2481

 


ในเวลานั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ได้พระราชทานอนุมัติในนามของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ให้เทศบาลนครกรุงเทพฯ รับบริเวณสวนดุสิต หรือเขาดินวนา สนามเสือป่า และสวนอัมพร มาจัดเป็นสวนสาธารณะได้


ต่อมาได้ดำเนินการย้ายกวางดาวจากสวนอัมพร ซึ่งเหลือประมาณ 11-12 ตัว กับสัตว์อื่นๆ อีก 2-3 ชนิดไปเลี้ยงไว้ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงเหนือของสวนดุสิต นอกจากนี้ยังได้นำสัตว์อื่นมาเลี้ยงเพิ่มเติม ได้แก่ กวางป่า ลิงเผือก หมี ลิงธรรมดา จระเข้ และได้ขอให้ทางสำนักพระราชวังส่งช้างหลวงมาให้ประชาชนได้ชมในวันอาทิตย์ โดยเปิดให้ประชาชมมาเที่ยวชมได้ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2481 และให้เรียกสวนดุสิตว่า ‘สวนสัตว์ดุสิต’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นสวนสัตว์แห่งแรกในประเทศไทย

 

 

ย้อนไปในความทรงจำ แรกเมื่อครั้งเที่ยว ‘เขาดินวนา’

ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เล่าย้อนความทรงจำเกี่ยวกับเขาดินวนาในยุคสมัยที่กรุงเทพมหานครยังมีสถานที่ท่องเที่ยวไม่มากนัก โดยเรียกว่าเป็น ‘สถานที่ยอดฮิตสำหรับนัดเจอกัน’ ธงทองเล่าอีกว่า สมัยที่เขาและเพื่อนเรียนอยู่ชั้น มศ.3 ประมาณ พ.ศ. 2514 ลองบวกลบคูณหารเอาเองว่าผ่านมากี่ปีแล้ว สมัยนั้นเวลาจะมาที่เขาดินต้องนั่งรถเมล์มา ชอบมานัดเจอกันกับเพื่อน แล้วก็ให้อาหารปลา “จำได้แม่นว่าสมัยนั้นขนมปังสำหรับให้อาหารปลามีขอบคมมาก คมจนบาดมือ” ธงทองเล่าด้วยเสียงหัวเราะ


“ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติใจกลางเมือง ตอนนั้นห้างแบบสมัยนี้ก็ยังน้อย ผมจำได้ดีว่าที่นี่มีช้างสำคัญของรัชกาลที่ 9 ‘พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ’ เป็นพระยาช้างเผือกประจำรัชกาลซึ่งเติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ที่สวนสัตว์ดุสิต”

 

 

ศักย์ศกร ศรีณัษฐพงษ์ เล่าให้ THE STANDARD ฟังว่า เขาเคยมาเที่ยวที่สวนสัตว์ดุสิตครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 7 ขวบ ความรู้สึกแรกในเวลานั้นคือตื่นเต้นมาก ได้เห็นสัตว์ ต้นไม้ และเป็นธรรมดาของเด็กที่จะรู้สึกสนุกกับสถานที่แบบนี้


“วันนี้ผมพาลูกสาวมาเที่ยวพร้อมภรรยา ปัจจุบันผมอายุ 38 ปีแล้ว (ยิ้ม) ลูกสาวชอบดูยีราฟ ฮิปโป งู มันทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆ ของสิ่งมีชีวิตผ่านการเห็นสัตว์ชนิดต่างๆ ที่เป็นของจริง”


เมื่อถามว่ารู้สึกอย่างไรหากสวนสัตว์ดุสิตจะต้องย้ายไปตั้งสถานที่อื่น ‘ดีใจ’ คือคำตอบแทบจะทันทีที่คุณพ่อวัย 38 ปีบอกกับเรา “เพราะใกล้บ้านผม ถ้าเป็นไปตามข่าวที่ได้ยินมา” อย่างไรก็ตาม เขาก็รู้สึกว่า ‘เสียดาย’ พื้นที่แห่งความทรงจำในวัยเด็กเมื่อครั้งเขาและครอบครัวจูงมือมาเที่ยวกันแบบนี้เหมือนกัน

 

 

ขณะที่ อริศรา ขัมภะกิจ และปานหทัย คิดเจริญสุข สองสาววัยรุ่นที่วันนี้ไม่มีเรียนและใช้เวลามาเดินเล่นที่สวนสัตว์ดุสิต หลังทราบข่าวว่า ‘ใกล้ปิด’ เธอทั้งสองบอกว่าชอบมาเดินเล่นที่นี่เพราะมีต้นไม้ และชอบให้อาหารปลา “ครั้งแรกที่เคยมาก็ตอน 7 ขวบ” ปัจจุบันเธอทั้งสองเรียนในระดับมัธยมศึกษา นอกจากการมาดูสัตว์ชนิดต่างๆ แล้ว เธอยังมีมุมโปรดที่มักจะมาถ่ายภาพ นั่นคือบริเวณสระน้ำที่เป็นจุดชมวิวพระที่นั่งอนันตสมาคม

 

 

ชาตรี ประกิตนนทการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อธิบายเรื่องภาพใหญ่ของสวนดุสิตที่กลายมาเป็นสวนสัตว์ดุสิตในปัจจุบันให้เข้าใจเพิ่มเติมว่า หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 ได้มีการขอพระราชทานที่ดินบริเวณดังกล่าวเพื่อปรับมาเป็นสถานที่ในปัจจุบัน ภายใต้แนวคิดว่าทรัพย์สินจะต้องตกมาเป็นของรัฐ คือของประชาชน สถานที่ต่างๆ หลายแห่งที่เป็นของเจ้านายในอดีตก็กลายมาเป็นสถานที่ราชการในปัจจุบันจำนวนมาก

 

 

มา ‘เขาดิน’ มีอะไรน่าดู น่าเที่ยวบ้าง

ภาพของพ่อแม่ที่จูงมือลูกตัวน้อยเดินดูสัตว์ชนิดต่างๆ ภายในสวนสัตว์น่าจะเป็นภาพที่หลายคนคุ้นตาอยู่เป็นประจำหากนึกถึงการเดินทางมาเที่ยวสวนสัตว์ของครอบครัว ที่นี่ก็ไม่ต่างกัน หากแต่ในวันหยุดจะหนาแน่นเป็นพิเศษ ขณะที่วันธรรมดาก็จะเป็นกลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษากันเป็นหมู่คณะเหมือนอย่างที่เราเห็นจากการลงพื้นที่ในวันนี้

 

 

แม่มะลิ ฮิปโปโปเตมัส สัตว์อาวุโสดาวเด่นที่ใครมาที่เขาดินจะต้องร้องอ๋อและไปขอถ่ายภาพด้วย ปัจจุบันแม่มะลิเพิ่งฉลองอายุครบ 51 ปีไปเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยแม่มะลิให้กำเนิดลูกจำนวน 14 ตัว

 

 

หลุมหลบภัย รู้หรือไม่ว่าที่สวนสัตว์ดุสิตมีหลุมหลบภัยตั้งอยู่ใกล้ๆ กับบ่อน้ำของแม่มะลิ สร้างขึ้นในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อใช้เป็นที่หลบภัยจากการโจมตีของของฝ่ายพันธมิตร ต่อมามีการปรับปรุงหลายครั้ง มีการจัดนิทรรศการภายในที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสงครามโลกด้วย

 

 

ลูกนกกระเรียนพันธุ์ไทย ที่เกิดครั้งแรกของสัตว์จำนวน 1 ตัว นับว่าเป็นความสำเร็จในการขยายพันธ์ุตามธรรมชาติที่รอคอยให้ประชาชนเข้ามาชมความน่ารักของเจ้านกตัวนี้อยู่ สามารถมาได้ทันทีในวันที่ 5 ธันวาคมนี้เลย

 

 

ค่างห้าสี เป็นค่างที่มีสีสันสวยงามที่สุดในโลก โดยตามร่างกายจะมีสีตัดกันถึง 5 สี ซึ่งมักถูกลักลอบนำลูกไปขาย ทำให้ปัจจุบันมีจำนวนลดลงจนกลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ แต่ที่เขาดินวนายังสามารถมาดูได้

 

 

ละมั่งพันธ์ุไทย เป็นสัตว์ป่าสงวนที่สูญพันธุ์ไปแล้วจากธรรมชาติ ปัจจุบันสามารถมาดูได้ที่เขาดินเพียงที่เดียวเท่านั้น

 

 

จุดชมวิวพระที่นั่งอนันตสมาคม เป็นอีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการมาถ่ายภาพ เพราะเมื่อมองไปจะเห็นวิวของโดมพระที่นั่งตั้งตระหง่านสวยงามท่ามกลางหมู่แมกไม้ที่ร่มรื่น เป็นอีกจุดพักผ่อน พักสายตา เมื่อทิ้งตัวลงบนม้านั่งแล้วทอดสายตามองยาวออกไป

 

 

สวนน้ำ แปลกใจใช่ไหมว่าทำไมสวนสัตว์ดุสิตมีสวนน้ำ แต่ต้องบอกว่ามีจริงๆ เล่นได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเฉพาะหน้าร้อน บอกได้เลยว่าเป็นอีกแหล่งยอดฮิตสำหรับผู้ปกครองที่จะพาเด็กๆ มาเล่นน้ำคลายร้อน ราคาก็ไม่แพงด้วย

 

 

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งในจำนวนความน่าสนใจทั้งหมดของ ‘เขาดินวนา’ ที่รอคอยให้มาเยือนและเปิดประสบการณ์ครั้งวัยเยาว์อีกครั้งเพื่อย้อนทวนความทรงจำและอัพเดตความเป็นไปผ่านวันเวลาต่างๆ ของสถานที่แห่งนี้

 

 

แม้ว่าในอนาคตอาจจะต้องย้ายไปยังสถานที่ใหม่ แต่ปัจจุบันยังคงเปิดทำการตามปกติ สัตว์หลายพันตัวรอต้อนรับมนุษย์ทุกคน หรือรอจนกว่าจะได้พบกันใหม่อีกครั้ง

 

อ้างอิง:

FYI
  • สำหรับสวนสัตว์ดุสิต ปัจจุบันมีสัตว์ป่าทั้งในและต่างประเทศรวมกว่า 1,600 ตัว มีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ยปีละ 2.5 ล้านคน เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีวันหยุด ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 น. และคิดอัตราค่าเข้าชมสำหรับคนไทยดังนี้ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 20 บาท ผู้สูงอายุ 60 ปี คนพิการและพระสงฆ์เข้าชมฟรี
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising