วันนี้ (19 เมษายน) จักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (รองผู้ว่าฯ กทม.) ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. การจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในพื้นที่เขตดุสิต จำนวน 3 จุด ได้แก่
- หน้าวัดธรรมาภิรตาราม (วัดสะพานสูง)
- หน้าตลาดราชวัตร
- หน้าตลาดเทวราช
โดยมี ศุภกฤต บุญขันธ์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร, อนุชิต พิพิธกุล ผู้อำนวยการสำนักเทศกิจ, เทียนชัย วงศ์สุวรรณ ผู้อำนวยการเขตดุสิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่เขตดุสิต สำนักเทศกิจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และให้ข้อมูล
จักกพันธุ์กล่าวว่า การลงพื้นที่ติดตามการจัดระเบียบผู้ค้านั้นจะเลือกลงพื้นที่ในช่วงเวลาเช้า เนื่องจากพื้นที่ทำการค้าส่วนใหญ่ ผู้ค้าจะเริ่มทำการค้าในช่วงเวลาเช้า อย่างเช่น หน้าวัดธรรมาภิรตารามหรือวัดสะพานสูง ผู้ค้าจะทำการค้าในช่วงเวลา 04.00-09.00 น. ในขณะเดียวกันช่วงเช้าวันเสาร์ซึ่งเป็นวันหยุด จะมีประชาชนออกจากบ้านมาจับจ่ายซื้อสินค้าในตลาดเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ได้เห็นถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง บางจุดได้รับการร้องเรียนผ่านทาง Traffy Fondue ถึงความไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย บางจุดมีปัญหาการจราจรติดขัดจากการจอดรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ริมถนนเพื่อแวะซื้อสินค้า บางจุดอยู่กลุ่มในเป้าหมายที่เขตจะจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าใหม่ จะเห็นได้ว่าแต่ละจุดย่อมมีปัญหาแตกต่างกันออกไป ทำให้ผู้บริหารสำนักเทศกิจและสำนักงานเขต สามารถนำสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ไปพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567
“การจัดระเบียบพื้นที่ไม่ใช่การยกเลิกไม่ให้ทำการค้า แต่เป็นการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ ให้มีความสะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น ผู้ค้าปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด ประชาชนใช้ทางเท้าในการเดินทางสัญจรได้สะดวกและปลอดภัย สุดท้ายแล้วผู้ค้าและประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทางเท้าร่วมกัน” จักกพันธุ์กล่าว
จักกพันธุ์กล่าวอีกว่า สำหรับหน้าวัดธรรมาภิรตารามหรือวัดสะพานสูง มีผู้ค้า 59 ราย ทำการค้าในช่วงเวลา 04.00-09.00 น. ส่วนใหญ่จะขายอาหารสด อาหารทะเล ผักสดและผลไม้ตามฤดูกาล รวมถึงอาหารปรุงสำเร็จพร้อมรับประทาน พื้นที่ทางเท้าจะเปียกน้ำอยู่ตลอดเวลา ก่อให้เกิดความสกปรกเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ ไม่ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาล จากการพูดคุยกับตัวแทนผู้ค้าถึงการจัดระเบียบพื้นที่ทำการค้าในจุดดังกล่าว ซึ่งทางผู้ค้าพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 67 โดยปรับปรุงภูมิทัศน์พัฒนาทำความสะอาด นำผ้าใบที่ติดอยู่ริมแนวรั้วเหล็กซึ่งมีสภาพเก่าและขาดออกจากแนวรั้วให้เรียบร้อย ร้านค้าที่อยู่ในอาคารไม่ให้ตั้งวางสินค้ารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เมื่อตั้งวางแผงค้าด้านนอกอาคารแล้ว จะต้องเหลือพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนเดินสวนกันได้สะดวก ผู้ค้าจะต้องมีพื้นที่สำหรับยืนขายสินค้า ไม่ออกไปยืนบนพื้นที่ทางเท้าที่ประชาชนเดินทางสัญจร พร้อมทั้งขีดสีตีเส้นกำหนดแนวขอบเขตให้ชัดเจน
ส่วนหน้าตลาดราชวัตร มีผู้ค้า 133 ราย จำหน่ายขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ก๋วยเตี๋ยว ขนมหวาน ผลไม้ตามฤดูกาล มีทางเท้ากว้าง 2.20 เมตร เมื่อจัดขนาดแผงค้าแล้ว จะต้องมีที่ว่างให้ประชาชนสัญจรประมาณ 1 เมตร ซึ่งเดิมบริเวณทางเท้าหน้ากรมสรรพสามิต จะมีผู้ค้าตั้งวางแผงค้าอยู่ 2 แนว คือแนวในอาคารและแนวนอกอาคาร ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุมสร้างความเข้าใจในหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 โดยจัดระเบียบผู้ค้าให้เหลือเพียงแนวนอกอาคารฝั่งเดียว
นอกจากนี้เขตฯ จะพิจารณาหาแนวทางพื้นที่ทำการค้าดังกล่าวให้เป็นระเบียบมากยิ่งขึ้น อาจจะย้ายผู้ค้าในฝั่งตรงข้ามให้มารวมอยู่ในจุดเดียวกัน หรือแบ่งผู้ค้าเป็น 2 ฝั่งเหมือนเดิม แต่จัดแนวแผงค้าที่กระจัดกระจายอยู่ให้มาอยู่ชิดติดกัน โดยเว้นช่องว่างให้ประชาชนเข้าออกได้สะดวก ในส่วนของหน้าตลาดศรีย่าน มีผู้ค้า 113 ราย ผู้ค้าส่วนใหญ่ขายอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน โดยให้เขตฯ จัดระเบียบพื้นที่ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 ที่ผ่านมาเขตฯ ได้จัดทำทะเบียนข้อมูล บัตรประจำตัว และคิวอาร์โค้ดให้ผู้ค้าทั้งหมดทุกจุดแล้ว รวมถึงให้ผู้ค้าสแกนคิวอาร์โค้ด เพื่อบันทึกเวลาเข้าและเวลาออกจากพื้นที่ทำการค้าอีกด้วย
สำหรับหน้าตลาดเทวราช มีผู้ค้า 92 ราย ส่วนใหญ่ขายสินค้าประเภทอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน ขนมหวาน ผลไม้ ที่ผ่านมาเขตฯ ได้เชิญผู้ค้ามาประชุม เพื่อทำความเข้าใจให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมในการจัดระเบียบพื้นที่ทางเท้าให้ประชาชนได้เดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 ฝั่งถนนพิษณุโลก ได้กำชับร้านค้าไม่ให้มีการตั้งวางโต๊ะและเก้าอี้รุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ทางเท้า เพื่อไม่ให้กีดขวางทางเดินของประชาชน ฝั่งถนนสามเสน และฝั่งถนนลูกหลวง ผู้ค้าขยับแผงค้าขนมและผลไม้ เข้าไปทำการค้าอยู่หน้าอาคารด้านใน นอกจากนี้ยังมีตลาดเทวราช ซึ่งอยู่ระหว่างการปรับปรุง สามารถรองรับผู้ค้าได้อีกจำนวนหนึ่ง
จักกพันธุ์กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจประเมินพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2568 จากคณะกรรมการตรวจประเมิน 3 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการสำนักงานเขต คณะกรรมการสำนักเทศกิจ คณะกรรมการผู้ตรวจราชการ จากนั้นจะนำผลการตรวจประเมิน เข้าที่ประชุมคณะกรรมการฯ ระดับเขต และคณะกรรมการฯ ระดับกทม. เพื่อพิจารณาเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ซึ่งคณะกรรมการฯ จะแจ้งให้ทราบว่าแต่ละพื้นที่หรือผู้ค้ารายใด ไม่ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ทำการค้าปี 2567 เพื่อผู้ค้าได้หาพื้นที่ทำการค้าแห่งใหม่ หากพื้นที่ทำการค้าใดผ่านเกณฑ์ จะยกระดับเป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผัน สุดท้ายแล้วการกำหนดให้เป็นพื้นที่ทำการค้าจุดผ่อนผันหรือยกเลิกพื้นที่ทำการค้า จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ถึงวันที่ 30 กันยายน 2568