วันนี้ (28 พฤศจิกายน) ที่ศาลแขวงดุสิต ถนนนครไชยศรี ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีการชุมนุม #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์ ที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีศาลแขวงเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ชลธิชา แจ้งเร็ว, สุวรรณา ตาลเหล็ก, ณรงค์ ดวงแก้ว, ชูเวช เดชดิษฐรักษ์, ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ และ ชาติชาย แกดำ จำเลยทั้ง 6 ในความผิดฐานฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฉุกเฉินฯ, พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
คำฟ้องระบุพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2563 จําเลยทั้ง 6 คน ซึ่งเป็นแกนนํากลุ่มเครือข่ายต่างๆ และเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ หรือเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบให้มีกิจกรรมการรวมกลุ่มชุมนุมสาธารณะ ร่วมกับ อานนท์ นําภา พวกของจําเลย ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีที่ศาลอาญา (คดีมาตรา 112) ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม ‘ชุมนุมเพื่อขับไล่จอมวายร้าย และปกป้องประชาธิปไตย ด้วยการร่วมกันเสกคาถาผู้พิทักษ์ เพื่อปกป้องประชาธิปไตย และขับไล่อํานาจมืดจากคนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีการตั้งเวทีปราศรัยอยู่บริเวณทางเท้าฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ รอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดําเนินกลาง
ต่อมาพวกจำเลยชักชวนให้ประชาชนมาเข้าร่วมรับฟังการปราศรัย โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของ พ.ต.อ. วรศักดิ์ พิสิษฐบรรณกร หัวหน้าสถานีตํารวจนครบาล (สน.) ชนะสงคราม เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งได้กำหนดเงื่อนไขว่าการจัดการชุมนุมต้องให้ความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ข้อความหรือป้ายต่างๆ ต้องเป็นข้อความที่ไม่หมิ่นประมาท ดูหมิ่นผู้อื่น และต้องไม่ยุยงปลุกระดมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ขณะที่จําเลยทั้ง 6 คนได้ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นเวทีพูด ร้องเพลง ปราศรัยโจมตีรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก เรียกร้องให้ยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และเรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ซึ่งมีประชาชนสนใจเข้าร่วมชุมนุมและรับฟังปราศรัยจํานวนมาก ประมาณ 200-300 คน ยืนกันหนาแน่นแออัด ไม่เว้นระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ผู้ใช้ทางเท้าได้รับความเดือดร้อน ไม่สะดวกในการสัญจรผ่านตามปกติ
ประชาชนผู้ร่วมชุมนุมมีลักษณะสนใจฟังและคล้อยตามคําพูดของจําเลยทั้ง 6 กับพวก มีการร่วมกันปรบมือ ตะโกนโห่ร้อง แสดงความพึงพอใจ ผู้ชุมนุมถือป้ายแสดงข้อความต่างๆ ในลักษณะดูหมิ่นรัฐบาล สถาบันฯ ให้ได้รับความเสียหาย ยุยงเสียดสีบุคคลให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง จําเลยทั้ง 6 กับพวกไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิดตามที่ราชการกําหนด จึงเป็นการชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และไม่ปฏิบัติตามคำสั่งหรือเงื่อนไขของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
ภายหลังฟังคำพิพากษา กิตติศักดิ์ กองทอง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทนายความในคดีกล่าวว่า คดีนี้อัยการฟ้อง 3 ข้อหา ประกอบด้วย ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลยกฟ้อง 2 ข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ และให้ลงโทษปรับจำเลยทั้ง 6 คน คนละ 200 บาท กรณีใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลให้เหตุผลที่ยกฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมจริง ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรการการชุมนุม มีการเว้นระยะห่างและป้องกันโรคติดต่อ
ส่วนที่มีการลงมาบนพื้นถนนบ้างก็เป็นเวลาเพียงนิดเดียว เจ้าหน้าที่มาบอกก็เชื่อฟัง การชุมนุมก็ใช้ระยะเวลาไม่นาน ในส่วนที่มีป้ายข้อความการชุมนุมโจมตีรัฐบาลและสถาบันฯ โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นได้ว่าข้อความดังกล่าวเป็นความผิดอย่างไร ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย พิพากษายกฟ้อง