ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการของสำนักงานออกแบบ Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) ให้ข้อมูลกับสำนักข่าว THE STANDARD เรื่องความคืบหน้าโครงการออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ หลังจากที่เกิดกระแสข่าวว่าทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ต้องการเปลี่ยนขอบเขตของโครงการ โดยจะขยายการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 40 ล้านคนนั้น
ดวงฤทธิ์ให้ข้อมูลว่าทางทีมได้กลับมาดูแบบหลังจากที่ทราบเรื่องดังกล่าว และพบว่าการออกแบบเดิมที่ยกระบบซ่อมบำรุงของระบบขนส่งแบบราง (APM) ไปไว้ชั้นบนของอาคารจอดรถทำให้ที่ว่างบนดินเหลือมากกว่าแบบอื่นๆ อยู่แล้ว จึงทำให้เหลือที่ว่างมากพอที่จะขยายอาคารออกไปด้านทิศเหนือได้ไม่ยาก เมื่อประกอบการออกแบบอาคารทั้งหมดในรูปแบบโมดูลาร์กริด (เป็นการใช้เส้นแนวตั้งและแนวนอนตัดกันไปมา ในที่นี้คือการใช้ไม้ขัดกันเป็นช่องว่างตามแบบ) การเพิ่มขนาดอาคารเพื่อรองรับผู้โดยสารมากขึ้นจึงทำได้โดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมมากนัก
สำหรับความกังวลเรื่องการล้มการประกวดแบบและเปิดประมูลใหม่นั้น ดวงฤทธิ์ชี้แจงว่าถ้ามีการประกวดแบบใหม่ตามระเบียบใหม่ของสำนักนายกรัฐมนตรี ค่าออกแบบก็จะเพิ่มขึ้นจากเดิม 308 ล้านบาทเป็นกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงขยายขนาดของโครงการดังกล่าวนั้น แบบเดิมที่ทำไว้แล้วก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ จึงไม่จำเป็นต้องเรียกเก็บค่าออกแบบเพิ่มแต่อย่างใด และถ้าปรับเปลี่ยนการใช้งานเพิ่มสำหรับรองรับสายการบินหรือ Airline Terminal ก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน ดวงฤทธิ์ยอมรับว่ายังมีกระแสของ ‘คลื่นใต้น้ำ’ จากกลุ่มผู้เสียประโยชน์จากการประมูลพยายามเคลื่อนไหวให้เกิดผลกระทบและนำไปสู่การล้มการประมูลในขณะนี้
ด้านประเด็นสถาปัตยกรรมของเสาอาคารที่มีผู้วิจารณ์ว่าคล้ายกับอาคารอื่นในต่างประเทศ เมื่อมองจากพื้นฐานความคิดเดิมที่วางไว้ ดวงฤทธิ์เห็นว่าแบบยังสามารถพัฒนาไปได้อีกโดยไม่ต้องยึดองค์ประกอบของภาษา (Articulations) แบบเดิม จึงลองเปลี่ยนขนาดขององค์ประกอบให้เล็กลง ปรับสัดส่วนให้ละเอียดและเบาขึ้น รวมทั้งปรับองค์ประกอบของโครงสร้างให้เป็นลักษณะคล้ายลายประจำยามแบบไทย แต่ยังรักษาจิตวิญญาณแบบป่าเอาไว้เพื่อให้แบบเป็นไปตามที่ประชาชนผู้ใช้งานคาดหวังมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สถาปนิกพึงกระทำ อย่างไรก็ตาม แบบที่ปรับแก้แล้วนี้ยังไม่เป็นที่ยุติ
ส่วนประเด็นการใช้ไม้ในการก่อสร้าง ดวงฤทธิ์มองว่าแนวคิดที่ตั้งใจออกแบบนี้อาจจะเร็วเกินไปสำหรับความเข้าใจของสังคมไทย จึงยอมถอยหนึ่งก้าวและปรับเป็นโครงสร้างเหล็กกันไฟที่ใช้เยื่อไม้มาหุ้มเพื่อให้มีลักษณะคล้ายไม้แทน ซึ่งช่วยลดการใช้ไม้ได้จำนวนมาก และยังเป็นโอกาสเพิ่มวัสดุอื่นๆ ที่ทันสมัยแทรกเพิ่มเข้าไปได้
“มีข่าวว่าผมไม่อยากทำงานนี้แล้ว ยอมแพ้แล้ว ไม่สู้แล้ว ก็อยากจะบอกว่าเมื่อทำการใดด้วยสุจริตใจ การยอมแพ้ย่อมไม่มีในภาษาของนายดวงฤทธิ์ สิ่งใดไม่ดีก็พร้อมจะปรับปรุง ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ตน แต่ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม” ดวงฤทธิ์กล่าว
สำนักข่าว THE STANDARD ยังคงเกาะติดความจริงเรื่องนี้ ติดตามสัมภาษณ์สดเปิดใจ ดวงฤทธิ์ บุนนาค กรรมการผู้จัดการของสำนักงานออกแบบ Duangrit Bunnag Architect Limited (DBALP) วันนี้ (10 ม.ค.) เวลา 17.00 น. ทางเพจสำนักข่าว THE STANDARD
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์