×

เทเลนอร์เตรียมมุ่งสู่ Telecom-Tech Company อนาคตใหม่ท่ามกลางคำถามธรรมาภิบาล

โดย THE STANDARD TEAM
21.07.2022
  • LOADING...
DTAC

HIGHLIGHTS

1 min. read
  • เทเลนอร์แถลงเป้าหมายมุ่งสู่ Telecom-Tech Company ชี้การสร้างความร่วมมือกับ dtac-True เป็นหนทางที่ดีที่สุด
  • ตลาดโทรคมนาคมกำลังถึงจุดเปลี่ยนสำคัญ ถึงเวลาของการผสานเทคโนโลยี AI-IoT-5G
  • เยอเก้น โรสทริป EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป ย้ำว่า ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่ง แต่อีก 2 รายไม่แข็งแกร่ง

เทเลนอร์แถลงเป้าหมายสู่การเป็น Telecom-Tech Company ชี้ตลาดโทรคมนาคมกำลังถึงจุดเปลี่ยน โดยเชื่อมั่นว่าการสร้างความร่วมมือแบบเท่าเทียมกับ Dtac -True คือหนทางที่ดีที่สุดเพื่อมุ่งสู่ทิศทางใหม่ของบริษัท พร้อมย้ำว่าตลาดโทรคมนาคมไทยต้องการผู้เล่นที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่รายเดียวแข็งแกร่ง แต่อีก 2 รายไม่แข็งแกร่ง

 

ตลาดโทรคมนาคมคือหนึ่งในตลาดที่ปัจจุบันมีธุรกรรมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทว่าธุรกรรมที่เกิดขึ้นนั้นกลับไม่ใช่แพ็กเกจบริการโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว แต่กลับเป็นธุรกรรมที่บริษัทได้เข้าควบรวมกิจการร่วมกัน เรียกได้ว่าเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และแน่นอนว่าเมื่อมีการควบรวมเกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้จำนวนผู้ให้บริการลดลง และส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แต่คำถามก็คือ อะไรเป็นเบื้องหลังการตัดสินใจของบริษัทเหล่านี้ คำตอบอาจอยู่ในการตัดสินใจของ dtac ที่ได้สร้างความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) กับ True เพื่อมุ่งสู่การเป็น Telecom-Tech Company

 

ซิคเว่ เบรคเก้ หัวเรือใหญ่ เทเลนอร์ กรุ๊ป ชี้ ‘ตลาดโทรคมนาคมไทยถึงจุดอิ่มตัว’

 

DTAC

 

30 มิถุนายน 2565 ซิคเว่ เบรคเก้ President and Chief Executive Officer เทเลนอร์ กรุ๊ป และ เยอเก้น โรสทริป EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป ได้เชิญสื่อมวลชนเพื่อประกาศถึงเหตุผลของการสร้างพันธมิตรแบบเท่าเทียม โดยจุดเริ่มต้นนั้นซิคเว่กล่าวว่า สภาพตลาดโทรคมนาคมในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างมาก ในอดีตคนไทยยังไม่สามารถเข้าถึงการให้บริการโทรศัพท์มือถือ ทำให้ผู้ให้บริการในตลาดมุ่งเน้นการแข่งขันในเรื่องของพื้นที่การให้บริการ ความสะดวกสบาย และประสิทธิภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราการเข้าถึงบริการโทรศัพท์มือถือของคนไทยเพิ่มขึ้นจนมากถึง 86% มีการเชื่อมต่อมือถือ 98.5 ล้านอุปกรณ์ ผนวกกับการเติบโตของเทคโนโลยี ได้เร่งให้เกิดธุรกิจใหม่ๆ เช่น สตรีมมิงแพลตฟอร์ม บริการจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ หรือเมตาเวิร์ส ซึ่งล้วนใช้ทรัพยากรด้านโทรคมนาคมมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมอาจถึงจุดอิ่มตัวและต้องปรับตัวตามการเปลี่ยนแปลงของโลก

 

‘Perfect Storm’ คือฉากทรรศน์ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

 

DTAC

 

ซิคเว่เชื่อว่าอุตสาหกรรมโทรคมนาคมกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (Perfect Storm) จากเดิมที่อุตสาหกรรมมุ่งเน้นเรื่องการเชื่อมต่อ (Connectivity) ผ่านการติดต่อสื่อสาร (Voice & Data) จะเปลี่ยนเป็นฉากทรรศน์ใหม่ ซึ่งมีองค์ประกอบของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI), Internet of Things (IoT) และ 5G มาหลอมรวมกัน ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนรูปแบบของการแข่งขันในตลาด รวมถึงคู่แข่งที่ไม่ใช่บริษัทโทรคมนาคมแบบดั้งเดิม แต่เปลี่ยนเป็นแพลตฟอร์มระดับโลก เช่น AWS, Google Cloud และ Microsoft ซึ่งนั่นจะเปลี่ยนโฉมตลาดและรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ทั้งหมด และเป็นเหตุผลที่ dtac จะต้องเปลี่ยนผ่านสู่ Telecom-Tech Company ซึ่งล่าสุดทางเทเลนอร์ กรุ๊ป หนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (มหาชน) จำกัด หรือ dtac ได้ลงนามความร่วมมือระดับโลกเป็นพันธมิตรร่วมกับ AWS, Google และ Microsoft

 

ซิคเว่กล่าวว่า “สิ่งที่เทเลนอร์พยายามสร้างขึ้นในประเทศไทยไม่ใช่แค่บริษัทโทรคมนาคม เรากำลังพยายามสร้างบริษัทเทคโนโลยีใหม่ ที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีครั้งใหญ่ และนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ สำหรับประเทศไทย เราจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทระดับโลกเหล่านี้ ซึ่งบริษัทโทรคมนาคมขนาดเล็กในประเทศอาจจะไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลก”

 

การเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตร่วมกับ True ท่ามกลางการรักษาธรรมาภิบาล

 

 

ถึงแม้ตลาดจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ของโทรคมนาคม แต่หนทางการเปลี่ยนผ่านตามยุคสมัยนั้นก็ไม่ได้มีเพียงหนทางเดียว นั่นทำให้การตัดสินใจของ DTAC ที่สร้างความร่วมมือกับ True ได้ถูกตั้งคำถามอย่างมากในประเทศไทย ประเทศซึ่งมีผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่เพียง 3 ราย 

 

เยอเก้น โรสทริป EVP and Head of Telenor Asia เทเลนอร์ กรุ๊ป กล่าวถึงเหตุผลสำคัญของการสร้างความร่วมมือแบบเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) ร่วมกับ True ว่าเป็นเหตุผลที่สำคัญที่จะช่วยให้บริษัทมีโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยอยู่แถวหน้าของภูมิภาค พร้อมกล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดโทรคมนาคมของไทยนั้นต้องการผู้เล่นที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แข็งแกร่งรายเดียว


“เราเชื่อว่าการควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ True จะสร้างบริษัทที่แข็งแกร่ง ซึ่งสามารถลงทุนและมีส่วนสนับสนุนในการพัฒนาดิจิทัลและเทคโนโลยีของประเทศไทยสู่อนาคต และทำให้ประเทศอยู่ในแนวหน้าของภูมิภาค ประเทศไทยต้องการผู้เล่นในตลาดที่แข็งแกร่ง 2 ราย ไม่ใช่แค่รายเดียวที่แข็งแกร่ง แต่อีก 2 รายไม่แข็งแกร่ง”

 

อนาคตของ DTAC จะเป็นอย่างไรต่อไปหากดีลล่ม

 

 

เยอเก้นกล่าวในงานแถลงข่าวว่า นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ DTAC ได้เข้ามาอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 25 ปี และมีความตั้งใจที่จะอยู่ต่อไปในอนาคต พร้อมย้ำว่าประเทศไทยนั้นถือเป็นดีเอ็นเอในการทำธุรกิจของเทเลนอร์ เอเชีย 

 

อย่างไรก็ตาม เยอเก้นได้กล่าวเพิ่มเติมในช่วงท้ายของงานแถลงข่าวว่า ในอนาคตหากดีลระหว่าง DTAC กับ True ไม่ได้สำเร็จลุล่วงตามที่คาด ก็อาจทำให้วิถีการทำธุรกิจของ DTAC ในประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงกับเทเลนอร์ กรุ๊ป ต้องเปลี่ยนแปลงไปจากแผนที่วางไว้ แต่ปัจจุบันตนได้ให้ความสำคัญและติดตามกระบวนการควบรวมอย่างใกล้ชิด และมุ่งหวังว่าดีลจะสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี 

 

ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ DTAC และประเทศไทย รวมถึงผู้กำกับดูแลที่ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนผ่านในโลกธุรกิจสู่อุตสาหกรรมใหม่นั้นจะเป็นเรื่องปกติทั่วไปตามการเติบโตของเทคโนโลยีและผู้บริโภค แต่ตลาดของประเทศไทยที่มีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ก็ถือเป็นความจริงที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งที่ผ่านมา เทเลนอร์ กรุ๊ป ถือเป็นหนึ่งในบริษัทที่รักษาธรรมาภิบาลที่ดีมายาวนาน ดังนั้นโจทย์สำคัญของบริษัทในตอนนี้ก็คือ การมุ่งสู่อนาคตที่เรียกว่า Telecom-Tech Company นั้นจะสามารถสร้างสมดุลไปพร้อมกับการรักษาธรรมาภิบาลบริษัทได้อย่างไร 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X