วันนี้ (12 ก.ย.) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดประชุมพิเศษ พิจารณาทบทวนมติกรณี บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ขอเข้ารับมาตรการเยียวยาผู้บริโภค หลังสัมปทานคลื่นความถี่ต่ำ 850 MHz จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561
อย่างไรก็ดี บอร์ด กสทช. ได้ลงมติ 4 ต่อ 2 ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการการเยียวยา เนื่องจากข้ออ้างไม่มีเหตุผลเพียงพอ โดยเฉพาะจำนวนผู้ใช้งานทั้งหมดประมาณ 94,625 ราย ถือว่าไม่ได้มีมาก และไม่เข้าข่ายความเหมาะสมการเยียวยา ก่อนหน้านี้ กสทช. ยังระบุอีกด้วยว่า ได้แจ้งดีแทคล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมาแล้ว โดยเฉพาะกรณีทำเรื่องโอนย้ายลูกค้ากลุ่มดังกล่าวล่วงหน้า
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า บอร์ด กสทช. ได้ประชุมนัดพิเศษ พิจารณาทบทวนมติที่ประชุม กสทช. เรื่องการเข้าสู่มาตรการเยียวยาเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 850 MHz โดยที่ประชุมมีความเห็นว่า ข้ออ้างของทางดีแทคไม่มีเหตุผลเพียงพอ แจกแจงเป็น 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นแรก เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ใช้บริการคลื่นความถี่ 850 MHz ของดีแทคที่จะได้รับผลกระทบหลังสิ้นสุดสัมปทานพบว่า มีทั้งหมด 94,625 ราย เป็นผู้ใช้แบบรายบุคคลประมาณ 60,000 ราย ส่วนอีกประมาณ 20,000 ราย เป็นผู้ใช้ซิมในอุปกรณ์ต่างๆ นับเป็นจำนวนที่ยังไม่เข้าเกณฑ์การเยียวยา ประกอบกับ กสทช. ก็ได้แจ้งให้ดีแทคโอนย้ายลูกค้าก่อนหน้านี้แล้ว
ประเด็นถัดมา กรณีกำหนดให้เข้าสู่มาตรการเยียวยาได้ก็ต่อเมื่อเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz แต่ดีแทคอ้างว่า ผู้ชนะการประมูลต้องรับผิดชอบค่าติดตั้งฟิลเตอร์รบกวนสัญญาณแต่เพียงผู้เดียว รวมถึงรับผิดชอบกรณีรบกวนสัญญาณอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
กสทช. ระบุว่า แม้จะเป็นการผลักภาระทำระบบป้องกันสัญญาณให้ผู้ชนะประมูล แต่ กสทช. ได้เข้าไปกำกับดูแลเรื่องนี้เอง โดยให้ผู้ชนะประมูล ‘หักเงินค่าทำระบบกับ กสทช.’ ฉะนั้น ข้ออ้างผลักภาระจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ทำให้ดีแทคจะไม่เข้าประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz
ด้วยเหตุผล 2 ประการข้างต้นนี้ บอร์ด กสทช. จึงได้ลงมติ 4 ต่อ 2 เสียง ไม่ให้ดีแทคได้รับมาตรการเยียวยาคลื่นความถี่ 850 MHz ในที่สุด โดยต่อจากนี้จะเร่งส่งหนังสือไปยังศาลปกครองกลางและดีแทค เพื่อแจ้งมติบอร์ด และให้ดีแทคโอนย้ายลูกค้าในกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบในกรอบเวลาสิ้นสุดสัมปทาน (เที่ยงคืนวันที่ 15 กันยายนนี้) ส่วนข้อจำกัดในการโอนย้าย และการเขียนเอกสารขอโอนย้าย ทาง กสทช. จะช่วยดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ ขอเพียงผู้ใช้บริการทำเอกสารไว้กับดีแทค
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล