×

จุดพลังสร้างฝัน ปั้นครีเอเตอร์มืออาชีพ กับ Bootcamp เสริมศักยภาพ กับคลาสเข้มข้นตลอด 5 สัปดาห์ของ dtac Accelerate Creator [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
05.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • ยุคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ ขอแค่เพียงมีเรื่องที่อยากเล่า มีอุปกรณ์ เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถเป็นนักเล่าเรื่องที่มีคนติดตามแล้ว
  • วิดีโอครีเอเตอร์เป็นอาชีพที่มาแรงในยุคไทยแลนด์ 4.0 จึงเกิดโครงการ dtac accelerate creator ขึ้น เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับทุกคน ที่ต้องการจะเป็นครีเอเตอร์ที่ดีและสร้างคอมมูนิตี้ที่เหนียวแน่นให้กับวงการครีเอเตอร์ไทย
  • THE STANDARD นำเอาบรรยากาศและการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการ จากบูทแคมป์ครั้งแรกเพื่อชาวครีเอเตอร์ ของ dtac Accelerate Creator มาฝากกัน

เรากำลังอยู่ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ เพียงแค่ทุกคนมีเรื่องอยากเล่า และมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือ เพียงเท่านี้ทุกคนก็สามารถกลายเป็นนักเล่าเรื่องที่มีคนติดตามบนโลกโซเชียลแล้ว

 

ปัจจุบันในประเทศไทยนั้น มีเหล่าครีเอเตอร์อยู่เป็นจำนวนมาก และแตกต่างกันตามรูปแบบของสื่อและแพลตฟอร์มการนำเสนอ หนึ่งในนั้นคือวิดีโอครีเอเตอร์ ซึ่งถือเป็นกลุ่มครีเอเตอร์กลุ่มใหญ่ที่กำลังเป็นที่น่าจับตามองและน่าส่งเสริมเป็นอย่างมาก

 

ดีแทคเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้จัดโครงการ dtac Accelerate Creator เลือกจับมือกับเหล่าครีเอเตอร์ชื่อดัง เพื่อสานฝันและปลุกปั้นครีเอเตอร์หน้าใหม่ มาร่วมมือกันแลกเปลี่ยน เรียนรู้ พัฒนาความสามารถ รวมถึงการสร้างคอมมูนิตี้เครือข่าย เพื่อพัฒนาศักยภาพของออนไลน์ครีเอเตอร์ในประเทศไทยต่อไป

 

 

dtac Accelerate Creator ครั้งแรกเพิ่งเสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์แบบไปเมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กับคลาสตลอด 5 สัปดาห์อันแสนเข้มข้น ผ่านการเรียนรู้ประสบการณ์จริงที่ถ่ายทอดผ่านเหล่าวิทยากรมืออาชีพในวงการคอนเทนต์ออนไลน์

 

จากกว่า 500 ทีมที่ส่งวิดีโอนำเสนอตัวตนความยาว 1 นาที คัดแล้วคัดอีกจนเหลือเพียง 16 ทีมที่น่าสนใจและน่าจับตามอง เพื่อมาพัฒนาและต่อยอด จากการเรียนรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ รวมถึงการได้รับโจทย์จริงๆ บททดสอบจริงจากแบรนด์ ให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำเสนอไอเดีย รับคำปรึกษาและคำแนะนำจากโค้ช ก่อนนำเสนอผลงานจริงในวันนำเสนอผลงาน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของโครงการ

 

 

Why Creator?

ทำไม dtac จึงหันมาสนใจวงการครีเอเตอร์ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ พิพัฒน์ ศรีมัธยกุล ผู้อำนวยการฝ่าย Social Engagement บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

 

“ความตั้งใจของโครงการนี้ คือการช่วยให้ครีเอเตอร์มองเห็นทิศทาง และช่องทางที่เขาควรจะไป โดยที่ต้องไม่เสียตัวตนของตัวเอง หรือเปลี่ยนจนซ้ำกับคนอื่น

 

“แต่เราก็ไม่ใช่ Production House ที่รับทีมครีเอเตอร์เข้ามา เพื่อบรีฟงาน ทำงานให้แล้วก็จบกันไป เราค่อยๆ หาบทบาทในการไปอยู่กับเขา เราจะช่วยอะไรได้บ้าง เราอยากให้เขาได้สังคม เพื่อนฝูง และคอนเน็กชันที่จะทำให้พวกเขาไปต่อได้ในวงการนี้เรื่อยๆ”

 

แน่นอนว่า เมื่อนี่คือครั้งแรกของโครงการ ก็ย่อมต้องเกิดปัญหา หรือขั้นตอนที่ต้องแก้ไขกันบ้างเป็นธรรมดา

 

“โครงการนี้มันเหมือนเป็นการอิมโพรไวส์ครับ เพราะมันคือครั้งแรกของเรา ทุกอย่างมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปตลอดทาง และมันจะดียิ่งขึ้นกว่าเดิมในปีต่อๆ ไป

 

“ทิศทางของดีแทค คือการมองหาความร่วมมือครับ เราเชื่อว่าการสร้างองค์กรจะเติบโตไม่ได้เลยถ้าคุณไปแบบคนเดียว เติบโตคนเดียว เราเลยมองหาคอมมูนิตี้ อย่างที่เราเคยปั้นสตาร์ทอัพสำเร็จมาแล้ว เป็นครอบครัวที่ช่วยเหลือกันตั้งแต่รุ่นพี่จนถึงรุ่นน้องก็ยังช่วยเหลือกันตลอด เพราะเราเชื่อว่า การเรียนรู้ร่วมกันคือสิ่งสำคัญ”

 

เมื่อถามถึงความร่วมมือ ตอนนี้ทาง dtac Accelerate Creator ก็ได้ พันธมิตรเช่น YouTube ที่เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ มาจับมือกันเพื่อเสริมสร้างชุมชนชาวครีเอเตอร์ให้เหนียวแน่นขึ้นไปอีก

 

 

The Class of Creator

ตลอดทั้ง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทีมครีเอเตอร์ทั้ง 16 ทีมได้ผ่านคลาสเข้มข้นจากพี่ๆ วิทยากรระดับท็อปของประเทศมากมาย ไล่มาตั้งแต่ คลาส ‘เข้าใจโลกคอนเทนต์ครีเอเตอร์อย่างลึกซึ้ง’ / คลาส ‘การเป็นครีเอเตอร์ในฝันที่แบรนด์อยากได้ตัว’ / คลาส ‘เคล็ดลับการเล่าเรื่องอย่างมีพลัง สู่การลงมือถ่ายทำ’ / คลาส ‘ลับฝีมือเรียนรู้เทคนิคการตัดต่อวีดีโอตั้งแต่ต้นจนจบ’

 

รวมไปถึงคลาส ‘One Day with Coach’ ที่ให้แต่ละทีมได้ลงสถานที่จริง ทำงานจริงๆ กับเหล่าโค้ชครีเอเตอร์ประจำโครงการ ได้แก่ โค้ชปลื้ม VRZO, โค้ชซอฟท์ Softpomz, โค้ช Buffet Channel และ โค้ชจีโน่ The Snack

 

ซึ่งในแต่ละคลาสนั้น ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มพูนความรู้ความสามารถ กลยุทธ์ การจัดการ ทักษะการผลิต และอื่นๆ อีกมากมาย ชนิดที่เรียกว่า เป็นบูธแคมป์ที่ให้มากกว่าใครจริงๆ

 

มากกว่านั้น คือการได้รับโอกาสพิเศษจาก YouTube ให้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับงาน Pop-up Space Bangkok ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพครีเอเตอร์ ให้เรียนรู้การทำวิดีโอคอนเทนต์อย่างมืออาชีพ ผ่านอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือคุณภาพอีกด้วย

 

 

The Creator Views

อีกหนึ่งความน่าสนใจของโครงการ dtac Accelerate Creator ก็คือการคัดเลือกทีมครีเอเตอร์จากความน่าสนใจ และศักยภาพที่น่าจะนำมาพัฒนาและเรียนรู้ต่อได้ เราจึงได้เห็นทั้งทีมที่เป็นเด็กมัธยม ทีมเด็กมหาวิทยาลัย เรื่อยไปจนถึงทีมวัยทำงานที่ใช้เวลาว่างมาทำวิดีโอ

 

รวมถึงทีมจากต่างจังหวัดที่มีอุปกรณ์เพียงแค่กล้องถ่ายรูป กับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ไปจนถึงทีมจัดเต็ม ที่ขนอุปกรณ์ประหนึ่งโปรดักชันเฮาส์มาเข้าร่วมคลาสเลยก็มี

 

 

The Ploy

ทีมหนึ่งสาวสองหนุ่ม ที่ทำงานด้านครีเอทีฟออนไลน์และภาพยนตร์อยู่แล้ว พวกเขาตั้งใจที่จะทำวิดีโอคอนเทนต์อย่างสม่ำเสมอ ผ่านช่องของตัวเอง ด้วยแนวคิดของวิดีโอที่นำเอาความชอบและไลฟ์สไตล์ส่วนตัว มานำเสนอผ่านวิดีโอแสนเป็นมิตรที่ติดตามกันได้ง่ายๆ

 

“พี่ที่ทำงานด้วยกันบอกว่า มันมีความเป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นจุดที่เราต้องการจะให้ทุกคนเห็นอยู่แล้ว”

 

พลอย ซึ่งถือว่าเป็นเสมือนหัวหน้าทีม บอกกับเราถึงจุดเด่นของวิดีโอของเธอ ซึ่งหลังจากที่เราได้ชมวิดีโอนำเสนอผลงาน คณะกรรมการทั้งโค้ชและแบรนด์ต่างก็ชมในเรื่องความเป็นธรรมชาติของวิดีโอ

 

เราถามเพิ่มเติมว่า อะไรที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการนี้

 

“เราอยากรู้จักคอนเน็กชัน เพราะยูทูบมันไม่ได้มีแค่เรื่องความคิดสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว เราอยากเรียนรู้กับคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งด้วยความที่เราทำงานด้านนี้อยู่แล้ว การมาโครงการนี้ก็ทำให้เราเรียนรู้ในด้านอื่นๆ ที่เราไม่เคยรู้ แต่มันเกี่ยวข้องและเอาไปประยุกต์กับการทำงานของเราได้”

 

เราตั้งข้อสงสัยว่า ในยุคที่มีคนทำวิดีโอคอนเทนต์อยู่เป็นหลักล้านทั่วโลก และหลักเกือบพันในไทย อะไรคือสิ่งที่จะทำให้ช่องของ The Ploy โดดเด่นขึ้นมา

 

“เราต้องแสดงตัวตนออกมาให้มีเอกลักษณ์ และจะทำอย่างไรให้คนดูเราอย่างสร้างสรรค์ และได้อะไรกลับไป มันต้องพัฒนาอยู่ตลอด เรารู้สึกว่าการทำวิดีโอไม่ใช่ทำอะไรก็ได้จุดเด่นของเราที่สุด คือเราจริงใจ มันต้องให้คนดูร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งหน้ากล้องหลังกล้อง คนดูต้องรู้สึกว่าเราไว้ใจช่องนี้ได้ ก่อนทำเราก็ถามทีมนะว่าอยากทำกันหรือเปล่า มันเหนื่อยนะ แต่ข้อดีคือมันได้เป็นตัวเอง”

 

 

Kai Pop

ทีมม้ามืดที่ฝีไม้ลายมือโดดเด่นมาแต่ไกล ด้วยการหอบอุปกรณ์ครบเซตโปรดักชันเฮาส์มาเข้าคลาส และม้ามืดกันต่อด้วยผลงานนำเสนอที่ได้คะแนนนำลิ่ว จากเรื่องราวมุกตลกสุดขยี้ และโปรดักชันระดับมือโปร

 

“พวกเราเรียนที่เดียวกัน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คณะโลจิสติกส์ ที่มาทำวิดีโอเพราะเป็นความชอบส่วนตัว เราทำกันมาตั้งแต่ก่อนเข้ามหาวิทยาลัย ตอนนั้นครอบครัวยังไม่สนับสนุนเลยด้วยซ้ำ ช่วงแรกนั้นเราทำหนังสั้น วิดีโออินดี้ ตอนนี้เราอยากนำเสนอรูปแบบใหม่ๆ ตลกนิดๆ ตื่นเต้นหน่อยๆ แชนแนลใหม่ก็เพิ่งเริ่มทำ เราอยากทำอะไรให้เป็นชิ้นเป็นอัน อยากทำอะไรที่มันสนุกๆ”

 

ดูเหมือนว่าพวกเขาจะค่อนข้างพร้อมในทุกด้านของการเป็นครีเอเตอร์แล้ว อะไรคือสิ่งที่พวกเขาอยากมาเรียนรู้เพิ่มเติมจากโครงการนี้

 

“โครงการนี้ทำให้เราก้าวไปอีกก้าวหนึ่งได้ ทำให้เราได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ ที่เราไม่มีโอกาสได้แสดง ทำให้คนเห็นว่าเราทำอะไรได้บ้าง ที่มาเพราะอยากมาเรียนรู้จากพวกพี่ๆ ดีใจที่ได้เจอกับครีเอเตอร์ดังๆ

 

“เราได้เรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจริง เทคนิคการถ่ายทำ การเขียนบท ขยี้บทให้น่าสนใจ ทำเรื่องราวให้คนดูได้ รวมถึงเรื่องแบรนด์ ทำอย่างไรให้คอนเทนต์กับแบรนด์มันไปด้วยกันได้ และยังต้องคงความเป็นเราเอาไว้อยู่”

 

เราถามต่อว่า หลังจากจบโครงการนี้ พวกเขามีเป้าหมายอย่างไรต่อไป

 

“เราชอบความสนุก ตื่นเต้น ตลก เข้มข้น ชอบทำโปรดักชัน ชอบมากกว่า Vlog (Video Blog) ชอบงานภาพสวยๆ เราเป็นทีมที่พูดไม่ค่อยเก่ง แต่พอมาทำงานภาพมันจะชัดเจนกว่า เราทำสิ่งนี้ได้ดีกว่า”

 

“อย่างแรกคือเปิดแชนแนล หาคอนเทนต์มาทำในแบบของเรา เราจะเน้นโปรดักชันสวยๆ ถ้าคุณชอบแบบนั้น ชอบภาพสวยๆ ดูแล้วว้าว ให้มาที่ช่องของเรา (ยิ้ม)”

 

 

Pakok

สามหนุ่มเด็กมัธยมมากอารมณ์ขันที่เป็นที่รักของชาวโครงการ ด้วยคาแรกเตอร์จัด และความมุ่งมั่นที่ไม่มีจำกัด ทำให้พวกเขาไปลิ่วถึงขั้นที่ โค้ชปลื้ม VRZO ติดต่อจ้างงานเรียบร้อยแล้ว!

 

“จริงๆ พวกเรามีมากกว่าสามคนครับ เป็นเพื่อนสายศิลป์ส่วนใหญ่ ก็มาเจอกันเพราะทำแชนแนลกันอยู่แล้ว แต่เดิมจะเป็นแนวเกมโชว์ รีวิวหนัง คัฟเวอร์เพลง แต่ยังไม่ได้ใช้ชื่อนี้”

 

“ผมเป็นคนหนึ่งที่แทบไม่ค่อยมีความสามารถ เลยอยากมาโครงการนี้ เพราะมันเป็นบันไดที่ทำให้เข้าไปหาตัวเองได้ว่า เราอยากจะเป็นอะไรให้กับทีมของเรา ผมมาที่นี่เพื่อหาจุดที่ทำให้เราเจอความสามารถที่ในทีมยังไม่มี”

 

ทราบมาว่าพี่ปลื้ม VRZO ชอบในผลงานมากๆ ถึงขั้นติดต่อจ้างงานด้วย คิดว่าอะไรคือจุดที่ทำให้โค้ชสนใจในทีม

 

“เขาคงเห็นเวลาเราอยู่ด้วยกัน เห็นว่าเคมีมันได้ เลยให้เราไปลองเล่น ไปทำโฆษณา ซึ่งผมว่าคาแรกเตอร์มันตรงกับที่เขาต้องการพอดี”

 

สิ่งที่เราสนใจก็คือ การที่พวกเขายังเป็นเด็กมัธยม การเป็นครีเอเตอร์จึงอาจเป็นเพียงแค่ความฝัน ถ้าพวกเขาไม่มุ่งมั่นตั้งใจกับมันมากพอ

 

“เรายังเรียนมัธยม เราเป็นเด็กกิจกรรมจ๋า มีงานควบเยอะมาก ก็เกิดปัญหาทำงานไม่ทัน รวมถึงเรื่องเวลาเรียนด้วย พอเวลาไม่พอ ก็ต้องให้เวลากับทุกงาน สุดท้ายมันก็มีทะเลาะกัน เป็นธรรมดาครับ”

 

“อย่างเรื่องครอบครัว พวกเราก็มีโดดเรียนกันบ้างนิดหน่อย เขาก็ไม่เข้าใจว่าเรามาทำอะไร เขามองว่ามันไม่ใช่อาชีพ มันไม่โอเค แต่พวกผมมองว่ามันคือ ม.6 เทอม 2 แล้ว พวกผมเองก็เหลือแค่สอบพอร์ตโฟลิโอกับสอบสัมภาษณ์ เราก็ไม่ทิ้งแหละ เราขาดเฉพาะวันที่ต้องขาด โรงเรียนก็รับรู้ และเขาก็อนุญาตนะ”

 

เมื่อเห็นถึงความมุ่งมั่นขนาดนี้ เราถามต่อว่า พวกเขาคาดหวังและได้อะไรกลับไปจากการเข้าร่วมโครงการนี้บ้าง

 

“มันสอนให้เราคิดเป็น จัดการ วางแผนการทำงานให้ถูกต้อง มันทำให้เรารู้จักกับคนมากมาย เป็นโอกาสที่ดีที่ควรจะมา ผมเป็นวัยรุ่นที่เกิดมาในยุคที่ VRZO บูมมาก พอเราได้ทำงานจริง ได้เจอตัวจริง มันคือช่วงเวลาที่มีค่ามาก แค่เราได้เจอไอดอลของเรา มันก็คุ้มมากแล้ว”

 

เราถามคำถามสุดท้าย ด้วยการให้น้องๆ ฝากไปถึงคนที่สนใจ และอยากจะเข้าร่วมโครงการในปีต่อๆ ไป

 

“มันคือการให้โอกาสคนรุ่นใหม่ ได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ อีกเรื่องคือในวงการนี้ คอนเน็กชันมันสำคัญมาก เราจะได้คอนเน็กชันที่ดีมากๆ กลับไป ถ้าเห็นประกาศแล้วก็สมัครเถอะ มาเถอะครับ”

 

“ผมอยากเสริมว่า อยากให้ทุกคนคว้าทุกโอกาสที่มีจริงๆ เลือกก่อน แล้วมาดูว่าชอบไม่ชอบ แล้วจะได้ไม่เสียดายทีหลัง”

 

 

Graduation Day

ในวันสุดท้ายของโครงการ ซึ่งเป็นวันนำเสนอผลงาน และมอบรางวัล ใบประกาศนียบัตร บรรยากาศก็อบอวลไปด้วยความกันเอง ด้วยความที่ทุกๆ คนรู้จักและสนิทสนมกันดีแล้ว การคอมเมนต์ผลงานจากทั้งโค้ชและแบรนด์ในครั้งสุดท้าย จึงเป็นไปอย่างสนุกสนาน

 

ระหว่างพักเที่ยง เราพูดคุยกับพิพัฒน์ ศรีมัธยกุล ถึงก้าวต่อๆ ไปของโครงการ dtac Accelerate Creator ได้รับการยืนยันมาแล้วว่า ในปีหน้าจะมีการจัดขึ้นอีกครั้งแน่นอน

 

“อย่างที่บอกว่าทั้งโครงการ ดีแทคเป็นคนสนับสนุนทั้งหมด หลังจากนี้ก็จะเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนในรูปแบบของผู้รับจ้าง ผู้จ่าย ในขณะเดียวกันเราก็จะยังคงหาพันธมิตรเพิ่มเติม และรวมถึงให้การช่วยเหลือน้องๆ ทีมครีเอเตอร์ในทุกๆ ครั้งที่พวกเขาต้องการ”

 

เราถามต่อว่า จากการที่มีพาร์ตเนอร์แพลตฟอร์มขนาดใหญ่เข้ามาเป็นพันธมิตรมากมายขนาดนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง

 

“ความสำเร็จในปีแรกยังวัดกันไม่ได้แน่นอนครับ จาก 16 ทีมอาจจะมีที่ประสบความสำเร็จจริงๆ แค่หนึ่งทีมเท่านั้น เราก็ถือว่าพอใจมากแล้ว ส่วนในปีถัดๆ ไป เราก็จะพยายามเพิ่มเติมหลักสูตรให้เข้มข้นเข้าไปอีก เอามากกว่าแค่เรื่องคอนเทนต์หรือการตลาด อย่างเรื่องการเสียภาษีก็สำคัญ

 

“หรืออย่างเรื่องจริยธรรมสื่อที่เราอยากเน้นเป็นพิเศษ เราอยากให้ครีเอเตอร์คนที่เข้าร่วมโครงการมีแนวความคิดกลับไปว่า ทุกครั้งที่พวกเขาทำคอนเทนต์ พวกเขาจะต้อง ‘Create Something Meaningful’ คือคุณต้องเป็นครีเอเตอร์ที่มีความรับผิดชอบ ถ้าจะทำคลิปแกล้งคน คุณก็ต้องแกล้งคนอย่างมีความรับผิดชอบ”

 

ในช่วงท้ายของวัน พิพัฒน์ ศรีมัธยกุล ได้ขึ้นมากล่าวอะไรเล็กๆ น้อยๆ กับผู้เข้าร่วมโครงการ มีถ้อยคำหนึ่งที่เราเห็นว่าง่าย งดงาม และน่าจะสื่อความถึงโครงการ dtac Accelerate Creator ได้ค่อนข้างชัดเจน

 

“ต้องขอบคุณทุกคนที่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่กัน

ขอบคุณพี่ๆ และโค้ชทุกคน

ที่มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับน้องๆ

และก็ต้องขอบคุณน้องๆ ทุกทีมเช่นกัน

ที่มาสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเรา”

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ accelerate-creator.dtac.co.th และ dtac Accelerate Creator

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X