×

dtac ยันคลื่นที่มีอยู่พร้อมให้บริการ 5G เต็มประสิทธิภาพกลางปีนี้ มั่นใจแต่ละค่ายมีกลยุทธ์ของตัวเอง

18.02.2020
  • LOADING...

หลังจากการประมูล 5G จบลงไป โดยที่ dtac (ดีแทค) สามารถคว้าคลื่นความถี่ย่านสูง 26 GHz มาครองได้สูงสุดที่ 2 ล็อตความถี่ (26.8-27.0) จากจำนวนใบอนุญาตทั้งหมด 27 ใบที่ทาง กสทช. จัดให้ประมูล ผลที่ตามมาคือผู้ใช้บริการจำนวนไม่น้อยเกิดคำถามกับความสามารถในการให้บริการ 5G ของดีแทคต่อจากนี้ว่าจะเพียงพอและมีคุณภาพมากแค่ไหน

 

วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) ดีแทค นำโดย ชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดหลังการประมูลได้เสร็จสิ้นลงไป โดยบอกว่า ดีแทคยังมุ่งมั่นที่จะไม่หยุดพัฒนาบริการออกมาให้ดีที่สุดเพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ทั้งยังมั่นใจอีกด้วยว่าคลื่นความถี่ที่มีในปัจจุบันจะครอบคลุมความสามารถในการให้บริการกับผู้บริโภคได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

ปัจจุบันคลื่นความถี่ที่ดีแทคมีอยู่ในมือประกอบด้วย 700 MHz (20 MHz), 900 MHz (10 MHz), 1800 MHz (10 MHz), 2.1 GHz (30 MHz), 2300 MHz (ทำร่วมกับ TOT ที่ 60 MHz โดยสัญญาจะหมดลง 2568) และล่าสุดคือ 26 GHz (200 MHz) ซึ่งครอบคลุางมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ กลาง และสูง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขายืนยันความมั่นใจว่าสามารถให้บริการกับลูกค้าได้อย่ไม่บกพร่อง

 

“แต่ละค่ายผู้ให้บริการมีเกมของตัวเอง ดีแทคก็จะเล่นในเกมของเราเช่นกัน เรามีความเข้าใจแพลนและพอร์ตโฟลิโอเป็นอย่างดีว่าคืออะไร ซึ่งแน่นอนว่ามันก็อาจจะแตกต่างจากผู้อื่น สิ่งที่ผมบอกคุณได้คือ เราจะเล่นในเกมและกลุยทธ์ของเราเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่หยุดพัฒนาปรับปรุงการให้บริการที่ดีที่สุดกับผู้บริโภค” ชารัดกล่าว

 

ด้าน ประเทศ ตันกุรานันท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทคโนโลยีของดีแทค อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่ดีแทคเลือกประมูล 5G ในคลื่นความถี่ 26 GHz แค่ 2 ใบอนุญาต และไม่เข้าร่วมประมูลย่านความถี่อื่นเลยมาจากสองสาเหตุหลัก

 

เหตุผลแรกคือ คลื่น 700 MHz เป็นคลื่นความถี่ย่านต่ำ เป็นคลื่นที่ทางดีแทคมีอยู่แล้วในพอร์ต เช่นเดียวกับ 2300 MHz (ร่วมกับ TOT) ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ในย่านกลางกลุ่มเดียวกับ 2600 MHz จึงไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะยื่นประมูลคลื่นความถี่ในกลุ่มเดิมมาเพิ่มอีก

 

ส่วนเหตุผลถัดมาคือ ถึงจะประมูล 26 GHz มาแค่ 2 ใบ (200 MHz เพียงพอต่อความต้องการขั้นพื้นฐานการให้บริการ 5G) แต่ก็เป็นการใช้เงินในขั้นตอนการกำหนดย่านความถี่ ‘สูงที่สุด’ เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ที่ 20.4 ล้านบาท (เงินประมูลรวม 910.4 ล้านบาท) เนื่องจากดีแทคเลือกย่านความถี่ในช่วง 26.8-27.0 GHz ซึ่งในเชิงทฤษฎีเป็นย่านที่ทับซ้อนคาบเกี่ยวกับคลื่นความถี่ 28 GHz พอดี (คลื่นมาตรฐานที่หลายประเทศใช้งาน 5G) 

 

และในอนาคตก็จะมีผลเป็นอย่างมากต่อความยืดหยุ่นในการให้บริการ 5G และการขยายคลื่นความถี่เพิ่มเติมหากทากทาง กสทช. มีการนำคลื่นความถี่ย่านสูงดังกล่าวออกมาดำเนินการจัดประมูล

 

ทั้งนี้แผนในอนาคตอันใกลั ดีแทคตั้งเป้าว่าพร้อมจะให้บริการ 5G ภายในช่วงไตรมาส 2 ปี 2563 ในบางพื้นที่ (เงินลงทุนทั้งหมดปีนี้คือ 14,000 ล้านบาท) ส่วนการให้บริการและยูสเคสการใช้งานจริงอาจจะเน้นไปที่การทำ Fixed Wireless สำหรับบ้านที่ตั้งในพื้นที่ที่อินเทอร์เน็ต Fiber เข้าไม่ถึง รวมถึงการทำสมาร์ทฟาร์มมิ่งและ IOT เป็นหลัก และจะขยายสถานี TDD เพิ่มจาก 17,000 แห่งเป็นมากกว่า 20,000 แห่งในปีนี้

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X