×

มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ กับบทบาทบนเวทีโลกในการขจัดเชื้อไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย

โดย
10.08.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • หลังประกาศสนับสนุนกองทุนโลกด้วยเงินจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ล่าสุด มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ ได้ส่งตัวแทนอย่าง ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ เข้าร่วมประชุมในการประชุมมาลาเรียโลกครั้งที่ 1 ตอกย้ำเป้าหมายในการขจัดไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทย
  • รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์ทั่วไปใน 6 เดือนแรกของปี 2018 มีผู้ป่วยมาลาเรียในประเทศไทย 3,309 ราย ลดจากปี 2017 ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 46.54 และตั้งเป้าว่าประเทศไทยจะปลอดเชื้อมาลาเรียในปี 2024 หรืออีกเพียง 6 ปีต่อจากนี้

มาลาเรีย คือโรคร้ายที่กำลังเป็นภัยคุกคามของคนทั่วโลก โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า ระหว่างปี 2015-2016 มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5 ล้านราย ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้ออยู่ที่ 216 ล้านราย

 

แต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากไข้มาลาเรียทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 445,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กๆ และหากยังไม่เร่งแก้ไข ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเพิ่มจากหลักแสนเป็นหลักหลายล้านภายในไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า

 

 

เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่มาจากยุงตัวเล็กๆ นี้ คนทั่วโลกจึงรวมตัวกันในการประชุมมาลาเรียโลกครั้งที่ 1 หรือ The 1st Malaria World Congress ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ที่น่าสนใจคือ บนเวทีระดับโลกดังกล่าวมีตัวแทนจากประเทศไทยอย่าง ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ ในนามของมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ด้วย เพื่อตอกย้ำวิสัยทัศน์และบทบาทของภาคเอกชนในการช่วยผลักดันเป้าหมายขจัดไข้มาลาเรีย ซึ่งเป็นความท้าทายแห่งสหัสวรรษ

 

มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ คือองค์กรสาธารณกุศลระดับนานาชาติที่ คุณธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ก่อตั้งในปี 2558 โดยจดทะเบียนมูลนิธิที่ฮ่องกง มีแนวทางการดำเนินงานที่เน้นสร้างความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายภายใต้เทคโนโลยีการจัดการที่ทันสมัย เพื่อสร้างสะพานเชื่อมระหว่างกิจกรรมสาธารณกุศลในประเทศไทยและต่างประเทศ ตาม 3 แนวทางหลักคือ ส่งเสริมการศึกษาแก่เยาวชนขาดโอกาสเพื่อเพิ่มศักยภาพให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่มีคุณภาพ โดยเฉพาะในด้านทักษะการสื่อสาร ด้านตรรกะ และด้านทัศนคติใฝ่เรียนรู้ต่อเนื่อง ส่งเสริมสุขภาพโดยมุ่งสร้างเทคโนโลยีในการพัฒนาสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น ให้คนในชุมชนได้รับการดูแลสุขภาพอย่างทั่วถึง เมื่อเจ็บป่วยได้รับยาและการรักษาที่ทันสมัยระดับสากลอย่างทั่วถึงโดยไม่มีขอบเขตเรื่องเชื้อชาติ และส่งเสริมการดูแลปกป้องสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นพื้นฐานในการรักษาโลกให้สวยงาม

 

การประชุมมาลาเรียโลกครั้งที่ 1 ณ กรุงเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย

 

โดยก่อนหน้านี้ ทิพพาภรณ์ อริยวรารมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทดีที บุตรสาวคนเล็กของคุณธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ได้ขึ้นเวทีการประชุม UBS Philanthropy Forum ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อต้นปี พ.ศ. 2561 พร้อมประกาศสนับสนุนกองทุนโลกจำนวน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อโครงการยับยั้งการแพร่เชื้อมาลาเรียดื้อยาผสมอนุพันธ์อาร์ทีมิซินินระดับภูมิภาค (Regional Artemisinin-resistance Initiative -RAI2) ในนามมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ (DT Families Foundation) ซึ่งนับเป็นการย้ำถึงความตั้งใจที่จะร่วมมือกับเครือข่ายผู้นำในภูมิภาค ขจัดภัยจากไข้มาลาเรียให้หมดไปจากประเทศไทยและอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030)

 

การประชุมมาลาเรียโลกครั้งที่ 1 จึงเป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่ง ดร.วิทย์ เปิดเผยในการประชุมดังกล่าวว่า ปัจจุบันมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ได้เข้าร่วมเป็นภาคีในโครงการต่อต้านโรคไข้มาลาเรียในแถบภูมิภาคเอเชียกับ โครงการ M2030 ‘ร่วมใจ หยุดภัย ไข้มาลาเรีย’ ของเหล่าบริษัทชั้นนำและองค์กรเพื่อสุขภาพ/ผู้บริโภคในเอเชีย ภายใต้เครือข่ายผู้นำต้านโรคไข้มาลาเรียในเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Leaders Malaria Alliance – APLMA) เพื่อผลักดันเร่งรัดการต่อสู้และกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไปจากภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ภายในปี ค.ศ. 2030

 

มาลาเรียถือเป็นเชื้อโรคระบาดดึกดำบรรพ์ที่ยังไม่สูญหายไปจากโลก เช่นเดียวกับอหิวาตกโรคและวัณโรค อีกทั้งยังพัฒนาเป็นเชื้อดื้อยาซึ่งจำเป็นต้องเร่งควบคุมและกำจัดไม่ให้กลายเป็นภัยคุกคามประชากรโลกขั้นรุนแรง

 

ดร.วิทย์เผยว่า ปัจจุบันกำลังมีการแพร่ระบาดของซูเปอร์มาลาเรียดื้อยาอาร์ทีมิซินิน ซึ่งเป็นยาหลักที่ใช้ในการรักษามาลาเรีย โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

“ข้อมูลจากวารสารทางการแพทย์ Lancet Infectious Diseases ปีที่แล้ว รายงานว่าในบางภูมิภาคของกัมพูชา มีผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาชนิดดั้งเดิมถึงเกือบ 60% ถ้าซูเปอร์มาลาเรียแพร่ระบาดถึงทวีปแอฟริกาที่มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียถึง 92% ของผู้ติดเชื้อทั้งโลก จะอันตรายมาก มูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์จึงถือเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องรีบปฏิบัติการ” ดร.วิทย์กล่าว

 

ดร.วิทย์ สุนทรนันท์ ตัวแทนมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์

 

สำหรับการประชุมมาลาเรียโลกครั้งที่ 1 นี้ ดร.วิทย์เผยว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกย่องปารากวัยเป็นประเทศแรกของทวีปอเมริกาใต้ในรอบ 50 ปี ที่จัดการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างดีเยี่ยม สามารถตรวจการติดเชื้อมาลาเรียและวินิจฉัยส่งต่อการรักษาอย่างทันท่วงที จนกลายเป็นประเทศปลอดมาลาเรีย โดยประเทศที่มีผลงานตามมาติดๆ และน่าจะได้รับการประกาศเป็นประเทศปลอดมาลาเรียภายในปีนี้คืออาร์เจนตินา

 

สำหรับประเทศไทย มีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขว่า สถานการณ์ทั่วไปใน 6 เดือนแรกของปี 2018 มีผู้ป่วยมาลาเรีย 3,309 ราย ลดจากปี 2017 ในช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 46.54 นอกจากนั้นผู้ป่วยมาลาเรียยังลดลงจาก 150,000 ภายในปี 2000 เหลือ 14,667 ราย ในปี 2017 หรือลดลงประมาณ 90% และลดลงมากกว่า 15% เมื่อเทียบกับปี 2016 โดยกระทรวงสาธารณสุขตั้งเป้าว่า ประเทศไทยจะปลอดเชื้อมาลาเรียในปี 2024 หรืออีกเพียง 6 ปีต่อจากนี้

 

แน่นอนว่าเป้าหมายนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของหน่วยงานรัฐแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อทำให้ประเทศไทยกลายเป็นอีกหนึ่งประเทศบนแผนที่โลกที่ปลอดจากภัยคุกคามร้ายอย่างมาลาเรีย

FYI
  • นอกจากมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์แล้ว คุณธนินท์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ยังได้ก่อตั้งมูลนิธิส่วนตัวที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมอีกหนึ่งมูลนิธิคือ มูลนิธิพุทธรักษา ที่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนด้านการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กที่ขาดโอกาส พัฒนาคุณภาพการศึกษา ทำนุบำรุงศาสนา อุปถัมภ์ผู้ป่วยยากไร้ และส่งเสริมงานสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในประเทศไทย

 

 

  • บทบาทของมูลนิธิดีที แฟมิลี่ส์ที่ผ่านมา นอกจากจะร่วมต้านและกำจัดเชื้อไข้มาลาเรียแล้ว ในปี พ.ศ. 2558 ยังได้จัดทำโครงการ ‘Giving Hands to Nepal’ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล โดยสนับสนุนเงินทุนสำหรับสร้างที่พักพิงชั่วคราวในเขตพื้นที่ต่างๆ กว่า 100 หลัง จัดหาและส่งมอบชุดกำเนิดไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบพกพากว่า 100 ชุด และให้ความช่วยเหลือแนะนำองค์กรพันธมิตรท้องถิ่นในการเพิ่มพูนศักยภาพของชุมชนผู้ประสบภัย ให้สามารถกลับมามีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
  • นอกจากนั้น มูลนิธิยังร่วมมือในโครงการต่อเนื่องกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และรัฐบาลประเทศภูฏานทำโครงการ ‘Bhutan for Life’ ที่มุ่งพัฒนารากฐานของการอนุรักษ์ป่าไม้และชีวิตสัตว์ป่าในประเทศภูฏานอย่างยั่งยืน ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2560 และยังได้มอบทุนการศึกษาต่อเนื่องแก่เยาวชนขาดโอกาสในประเทศภูฏาน รวมถึงประสานการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาระหว่างไทยและภูฏาน
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X