วันนี้ (26 พฤษภาคม) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เตรียมส่งสำนวนคดีนอมินีบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 46 แฟ้ม เอกสารกว่า 17,620 แผ่น ให้กับพนักงานอัยการคดีพิเศษภายในบ่ายวันนี้ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้อง 5 ผู้ต้องหา ประกอบด้วย นอมินีชาวไทย 3 ราย คือ ประจวบ, โสภณ และ มานัส กรรมการชาวจีน 1 ราย คือ ชวนหลิง จาง และนายทุนชาวจีน 1 ราย คือ บินลิง วู ที่ยังคงหลบหนี
คดีพิเศษที่ 32/2568 นี้เกี่ยวข้องกับความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่ง DSI ได้ทุ่มเทสรรพกำลังในการสืบสวนสอบสวน โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน อาทิ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์, สำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมโยธาธิการและผังเมือง, กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมโรงงานอุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวน เปิดเผยว่า วันนี้เป็นการสรุปสำนวนคดีในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ มาตรา 36, 37 และ 41 ซึ่ง DSI มีความมั่นใจในความครบถ้วนของเนื้อหาสำนวนที่ใช้เวลาสอบสวนมาอย่างต่อเนื่อง และจะส่งสำนวนทั้งหมด 46 ลัง เอกสารกว่า 17,000 แผ่น พร้อมความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 ราย
สำหรับ บินลิง วู หนึ่งในผู้ต้องหาชาวจีนคนสำคัญ ที่ยังคงหลบหนีนั้น ร.ต.อ. สุรวุฒิ ระบุว่า DSI ได้ประสานงานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเชื่อว่าผู้ต้องหายังคงหลบหนีอยู่ในประเทศไทย และมั่นใจว่าจะสามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ในไม่ช้า ส่วนจะมีผู้ให้ความคุ้มครองอยู่หรือไม่นั้น ยังไม่มีข้อเท็จจริงในส่วนนี้
นอกจากคดีนอมินีแล้ว คณะพนักงานสอบสวนยังได้พิจารณาขยายผลสืบสวนความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 หรือกฎหมายฮั้วประมูล โดยตรวจสอบสัญญา 3 ฉบับ ในโครงการก่อสร้างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งได้แก่ สัญญารับเหมาก่อสร้าง, สัญญาการออกแบบ และสัญญาการควบคุมงาน เพื่อหาผู้เกี่ยวข้องรายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือนิติบุคคลที่มีพฤติการณ์ได้มาซึ่งสัญญาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ร.ต.อ. สุรวุฒิ กล่าวถึงกรณีที่ DSI ได้ประสานข้อมูลสัญญา 3 ฉบับ เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินไปยัง ป.ป.ช. ว่า เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. เนื่องจากเป็นคดีที่มีการกล่าวหาองค์กรอิสระและเจ้าหน้าที่ของรัฐ DSI จะนำส่งรายละเอียดทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
DSI ยืนยันว่าไม่มีความกดดันในการตรวจสอบองค์กรอิสระ เนื่องจากตามกฎหมายกำหนดให้องค์กรอิสระตรวจสอบซึ่งกันและกัน โดย DSI เป็นเพียงผู้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น และท้ายที่สุดคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ DSI ยังเตรียมขยายผลตรวจสอบอีก 17 บริษัทที่เกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาชาวไทย 3 ราย ที่ไปถือหุ้นในลักษณะเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะแยกเป็นอีกหนึ่งคดีพิเศษ