×

ดีเอสไอตั้งคณะพนักงานสืบสวน เร่งสืบหาข้อเท็จจริงและพยานเพิ่มเติมคดีดิไอคอนกรุ๊ป

โดย THE STANDARD TEAM
17.10.2024
  • LOADING...

วานนี้ (16 ตุลาคม) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ มีคำสั่งที่ 1295/2567 เรื่อง แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง

 

ด้วยปรากฏข่าวสารผ่านเว็บไซต์และสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และอาหารเสริม ในลักษณะการประกอบธุรกิจขายตรง ที่มีข้อสงสัยว่าอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา หรือการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน ตามพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 หรือไม่ ทำให้ประชาชนผู้เข้าร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากได้รับความเสียหาย และอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีคำสั่งมอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบทำการสืบสวนตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547และที่แก้ไขเพิ่มเติม

 

เนื่องจากตามประกาศคณะกรรมการคดีพิเศษ (กคพ.) (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2565 เรื่อง กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 ได้กำหนดให้คดีความผิดที่มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 12 และ มาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ. 2527 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ที่มีหรือมีมูลค่าน่าเชื่อว่ามีจำนวนผู้เสียหายตั้งแต่ 300 คนขึ้นไป หรือมีจำนวนเงินที่กู้ยืมรวมกันตั้งแต่ 100 ล้านบาทขึ้นไป เป็นรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษ

 

ดังนั้นเพื่อให้อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษมีข้อเท็จจริงในการพิจารณาสั่งการให้ทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษ ตามนัยข้อ 4 แห่งประกาศ กคพ. ฉบับดังกล่าว และเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยเรียบร้อย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการบริหารงานคดีพิเศษ พ.ศ. 2567 ข้อ 20 (3) จึงแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนเพื่อทำการสืบสวน ตามมาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยให้มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

 

องค์ประกอบ

 

  1. ร.ต.อ. วิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวน
  2. พ.ต.ท. อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  3. ธานินทร์ เปรมปรีดิ์ ผู้อำนวยการกองคดีภาษีอากร เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  4. ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ ผู้อำนวยการกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  5. พิพัฒน์ เพ็ญภาค ผู้อำนวยการกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  6. พ.ต.ท. จักรกฤษณ์ วิเศษเขตการณ์ ผู้อำนวยการกองคดีการเงินการธนาคารและการฟอกเงิน เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  7. พ.ต.ต. จตุพล บงกชมาศ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการคดีพิเศษภาค เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  8. เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ผู้อำนวยการกองคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  9. ระวี อักษรศิริ ผู้อำนวยการกองคดีการฟอกเงินทางอาญา เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  10. กนกลดา เจริญศิริ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีการเงินการธนาคาร เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  11. พ.ต.ท. ภีคเดช จุลพล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีพิเศษ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  12. พ.ต.ท. อานนท์ อุนทริจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชนและคดีว่าด้วยการเล่นแชร์ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  13. วิทวัส สุคันธรส ผู้อำนวยการศูนย์สืบสวนสะกดรอยและการข่าว เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  14. พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน/เลขานุการ
  15. ธวัชชัย รัตนปรีชาชัย รองผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน/ผู้ช่วยเลขานุการ
  16. พ.ต.ต. ธฤตวัน วนาพัทธ์ รองผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน/ผู้ช่วยเลขานุการ
  17. พ.ต. อรรคริน ลัทธศักดิ์ศิริ รองผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน/ผู้ช่วยเลขานุการ
  18. สุพัชราพร หมุดสุวรรณ์ ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลและสืบสวนสอบสวนทางการเงิน เป็นคณะพนักงานสืบสวน/ผู้ช่วยเลขานุการ
  19. พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สังกัดกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ เป็นคณะพนักงานสืบสวน
  20. พนักงานสอบสวนคดีพิเศษและเจ้าหน้าที่คดีพิเศษ สังกัดกองคดี กอง และศูนย์ ตามข้อ 2-9 และข้อ 13 เป็นคณะพนักงานสืบสวน

 

โดยมีอำนาจหน้าที่

 

1. ร่วมกันทำการสืบสวนตาม พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 23/1 วรรคหนึ่ง และบทกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องให้เสร็จโดยเร็ว

 

ทั้งนี้ ในการสืบสวนให้ถือปฏิบัติตามระเบียบ กคพ. ว่าด้วยการสืบสวนคดีความผิดทางอาญาเพื่อเสนอ กคพ. มีมติให้เป็นคดีพิเศษ พ.ศ. 2551 ข้อ 7-9 โดยอนุโลม และให้ปฏิบัติตามระเบียบกรมสอบสวนคดีพิเศษว่าด้วยการบริหารงานคดีพิเศษ พ.ศ. 2567 หมวด 6 การควบคุม กำกับ ตรวจสอบ เร่งรัดงานคดีพิเศษ ข้อ 34

 

เมื่อคณะพนักงานสืบสวนเห็นว่าการสืบสวนเสร็จแล้ว ให้สรุปรายงานการสืบสวนและเสนอสำนวนการสืบสวนพร้อมความเห็นต่อพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น จนถึงอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อพิจารณาสั่งการ

 

2. ดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมตามคำสั่งของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งการ

 

3. มอบหมายหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษช่วยเหลือในการสืบสวน รวมทั้งเสนอต่ออธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อมอบหมายให้ข้าราชการหรือลูกจ้างช่วยเหลือในการสืบสวน โดยปฏิบัติตามข้อบังคับ กคพ. ว่าด้วยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับคดีพิเศษ และการสั่งการให้ข้าราชการหรือลูกจ้างกรมสอบสวนคดีพิเศษปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสืบสวน พ.ศ. 2549

 

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2567

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X