วันนี้ (17 กรกฎาคม) ที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยความคืบหน้าการสอบสวนคดีฮั้วการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ว่า ขณะนี้การสอบสวนมีความคืบหน้าไปแล้ว 60-70% โดยได้สอบปากคำพยานไปแล้วทั้งสิ้น 90 ปาก ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่รู้เห็นการวางแผนและปฏิบัติการ รวมถึงพยานหลักฐานทางการเงิน โดยผลการให้ปากคำในส่วนของผู้ที่มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องมีประมาณ 7-8 ราย แต่ DSI จะเน้นการตรวจสอบหลักฐานการเดินบัญชี (Statement) เป็นหลัก เนื่องจากพยานส่วนใหญ่มักอ้างว่าเป็นการโอนเงินตามมูลหนี้ ซึ่งจะต้องชั่งน้ำหนักว่าสามารถรับฟังได้มากน้อยเพียงใด
สำหรับการเรียกพยานกลุ่มถัดไป ซึ่งคือกลุ่มที่ปรึกษา สว., ผู้ช่วย และผู้เชี่ยวชาญ จะมีพฤติการณ์แตกต่างจาก 90 รายแรก โดยพิจารณาจากเส้นทางการเงินที่ DSI จะพิสูจน์ว่าบรรดาผู้ช่วยหรือผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาประจำตัว สว. ที่ได้รับการแต่งตั้งมีที่มาอย่างไร เนื่องจากพบว่ามีเงินบางส่วนถูกโอนกลับไปยังคณะบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งจะต้องติดตามตรวจสอบต่อไป
เมื่อถามถึงรายชื่อ สส. ที่อาจต้องเข้าให้ปากคำในฐานะพยาน พ.ต.ต. ยุทธนา ยอมรับว่ามีทุกกลุ่มแน่นอน แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ และเมื่อสอบปากคำพยานกลุ่มสุดท้ายเสร็จสิ้น จะพิจารณาออกหมายเรียกผู้ต้องหาต่อไป
พ.ต.ต. ยุทธนา เผยว่า ในเวลาประมาณ 1 เดือน จะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น หรืออาจเข้าสู่ขั้นตอนการเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาเลยก็ได้ โดยพฤติกรรมการฟอกเงินคือการรับโอนเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานอั้งยี่คือการเป็นคณะบุคคลหรือจัดตั้งคณะบุคคลเพื่อปกปิดวิธีการดำเนินการและกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่ามีการจัดตั้งคณะขึ้นมาและแบ่งหน้าที่กันทำ
“การฮั้วนั้น พฤติกรรมแวดล้อมจะบ่งบอก เช่น ในช่วงเลือกตั้งบางครั้งไม่มีเหตุผลที่จะมีการรับโอนเงินก้อนใหญ่ หรือเงินกระจายไปยังบุคคลอื่นนับสิบราย และบุคคลเหล่านั้นก็ไปสมัคร สว. ในช่วงนั้น แล้วก็มีการเลือกคนที่อยู่ในโพย ซึ่งมีความโยงใยกัน” พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวพร้อมยืนยันว่าไม่ได้ดูเพียงพยานหลักฐานเรื่องเส้นทางการเงินเพียงอย่างเดียว และขณะนี้ทราบว่าเส้นทางการเงินกระจายมากกว่า 30 จังหวัด
พ.ต.ต. ยุทธนา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า คดีฮั้ว สว. ที่รับผิดชอบโดยคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. กับคดีอาญาอั้งยี่-ฟอกเงินที่รับผิดชอบโดย DSI โดยหลักการแล้วจะไม่ยึดโยงกัน แต่จะสนับสนุนและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน จึงไม่จำเป็นว่าหากบุคคลใดถูกดำเนินคดีในส่วนของ กกต. แล้วจะต้องถูกดำเนินคดีอั้งยี่-ฟอกเงินด้วย ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน โดย DSI อาจขอพยานหลักฐานหรือความเห็นจาก กกต. มาประกอบสำนวนด้วยได้
เมื่อถามถึงจำนวนเป้าหมายผู้เข้าข่ายกระทำความผิด พ.ต.ต. ยุทธนา ระบุว่ารวมแล้วทั้ง DSI และ กกต. อาจมีอย่างน้อยประมาณหลักร้อยคน แต่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานว่าเชื่อมโยงถึงใครที่เกี่ยวข้องบ้าง ทั้งตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
นอกจากนี้ อธิบดี DSI ยังยอมรับว่ามีเส้นทางการเงินที่เชื่อมโยงไปยังนักการเมืองท้องถิ่นในขบวนการจัดฮั้ว แต่ขอสงวนรายละเอียดไว้ก่อน ส่วนการเชื่อมโยงถึงระดับกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ยืนยันว่าเงินยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่พบว่าเชื่อมโยงถึงกลุ่มคนใกล้ชิดของกรรมการบริหารพรรค
พ.ต.ท. อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะ 1 ใน 7 คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน กล่าวว่า ความผิดใดที่เกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งเป็นอำนาจของ กกต. ที่จะพิจารณา ซึ่งในทางปฏิบัติ กกต. อาจต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อพิจารณา โดยทราบว่าสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 จะดำเนินการเสร็จภายในวันนี้ ส่วนจำนวนผู้ถูกดำเนินคดียังไม่เรียบร้อย
วิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. กล่าวเสริมว่า DSI ได้เชิญ ปปง. มาให้ความเห็นทางคดีเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน โดยแบ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด, ทรัพย์สินที่ช่วยสนับสนุนการกระทำความผิด และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเรื่องของคดีอาญาฟอกเงิน
เมื่อถึงวันที่ DSI ต้องดำเนินคดีฐาน อั้งยี่-ฟอกเงิน กับบุคคลใด ปปง. จะเข้ามาตรวจสอบการสืบทรัพย์สินเพื่อออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ชั่วคราวต่อไป โดยจะให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในการชี้แจง และแม้เส้นทางการเงินจะเชื่อมโยงบุคคลจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยมูลค่ารายละเอียดได้ เนื่องจากต้องมีความชัดเจนตามพยานหลักฐานเพื่อส่งสำนวนในชั้นอัยการและศาลต่อไป