วันนี้ (18 เมษายน) ที่ สน.บางซื่อ พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เปิดเผยว่า การตรวจค้น 4 บริษัท เพื่อรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ เมื่อวาน (17 เมษายน) เจ้าหน้าที่สามารถยึดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดดิสก์ และเอกสารต่างๆ เพื่อมาตรวจสอบพยานหลักฐานโครงการก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับอาคาร สตง.
รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับตัว บินลิง วู ที่ DSI มีเหตุต้องสงสัยว่า อาจมีพยานหลักฐานเกี่ยวข้องกับบริษัทไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จึงได้เข้าตรวจค้น ซึ่งขณะนี้พนักงานสอบสวนรวมถึงเจ้าหน้าที่กรมโยธาธิการและผังเมือง อยู่ระหว่างพิจารณาและตรวจสอบพยานหลักฐานดังกล่าว
เบื้องต้นจากการตรวจสอบเอกสารพบรายชื่อวิศวกร 51 คน โดยในจำนวนนี้มี สมเกียรติ ชูแสงสุข และ ชัยฤทธิ์ ที่เข้ามาแสดงตัวแล้ว โดยวันนี้ ชัยฤทธิ์ได้เข้าให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างการสอบปากคำ ซึ่งในรายละเอียดยังไม่ทราบว่ามีการแอบอ้างชื่อหรือปลอมลายเซ็นด้วยหรือไม่ แต่ทราบว่ามีประเด็นถูกพาไปถ่ายรูปรวมหน้าตึก สตง.
ส่วนวิศวกรรายใหม่อีก 2 คนที่ DSI เชิญมา ยังไม่ได้รับรายงาน แต่ยืนยันว่าวิศวกรและผู้เกี่ยวข้องทุกคนจะต้องเรียกมาสอบปากคำทั้งหมด เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่ามีการควบคุมงานจริงหรือไม่ มีใครเป็นวิศวกรในโครงการนี้จริงบ้าง แล้วจึงจะขยายผลไปได้ว่ามีการปลอมลายเซ็นหรือไม่ กระบวนการทำงานถูกต้องหรือไม่
ส่วนกรณีของ พิมล เจริญยิ่ง อายุ 85 ปีที่ปรากฏรายชื่อว่าเป็นผู้ออกแบบอาคาร สตง.นั้น พนักงานสอบสวนได้ไปพบตัวแล้ว และพบว่าเจ้าตัวมีอาการป่วยจริง โดยเจ้าตัวยังได้ขอเวลาในการเตรียมเอกสารมาให้การ คาดว่าจะเป็นช่วงสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ พ.ต.ต.วรณัน ยืนยันว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด ที่เลื่อนไป หรือตัว ปฏิวัติ ศิริไทย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด จะต้องเรียกตัวมาสอบปากคำ โดยพนักงานสอบสวนได้ทำตารางนัดหมายพยานไว้เรียบร้อยแล้ว หรือหากตำรวจ สน.บางซื่อ มีการเรียกสอบปากคำนายปฏิวัติในวันที่ 21 เมษายนนี้ DSI ก็อาจไปสอบปากคำด้วยก็ได้
สำหรับภาพรวมคดีที่ DSI รับเป็นคดีพิเศษนั้น คดีนอมินีขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 50% แล้ว และหลังจากนี้เป็นกระบวนการพิจารณาว่าหลักฐานพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาบุคคลใดหรือไม่ เพราะเป็นคดีหลักคดีแรกที่ DSI รับผิดชอบ
ส่วนคดีที่ทำคู่ขนานก็จะมีทั้งคดีการฮั้วประมูลซึ่งขยายผลออกมา ซึ่งองค์ประกอบความผิดคดีฮั้วประมูลมีหลายเรื่อง เช่น การที่ทำให้การแข่งขันราคาไม่เป็นธรรมโดยใช้กลอุบายไปฟันราคา เพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาแล้วไปลดค่างานหรือการดำเนินการอย่างอื่นเพื่อลดค่าใช้จ่าย ก็เข้าข้อกฎหมายนี้ได้เหมือนกัน และการเรียกสอบวิศวกรผู้คุมงาน ก็เป็นการสืบสวนในคดีฮั้วประมูลนี้
นอกจากนี้ ยังมีคดีเกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้าง เหล็กเส้นที่ตกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่สำนักงานมาตรฐานอุตสาหกรรม (สมอ.) ที่หากพบความผิด เจ้าหน้าที่ สมอ. ก็จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษเป็นอีก 1 คดี และคดีสุดท้ายที่ DSI ตรวจสอบ คือกรณีที่บริษัทที่ขายเหล็กให้กับโครงการ มีการดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารภาษีที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งนี้ พ.ต.ต.วรณัน ยังยืนยันด้วยว่าไม่กังวล แม้จะมีกระแสข่าวว่าคนที่แก้ไขแบบอาคาร สตง. มีความเกี่ยวกับผู้หลักผู้ใหญ่ใน สตง. โดยบอกว่าเรื่องนี้สปอตไลต์ของสังคมค่อนข้างเยอะ ไม่น่าจะมีปัญหา และ DSI รับคดีขนาดใหญ่ ทำงานเป็นรูปแบบคณะกรรมการ เรื่องนี้จึงไม่เป็นประเด็น