วันนี้ (24 ธันวาคม) ว่าที่ ร.ต. ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีของ ประสิทธิ์ เจียวก๊ก จำเลยในคดีอาญา อ.1837/2564 ได้พยายามหลบหนีจากศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เมื่อวันที่ 22 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าในส่วนของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับประสิทธิ์ในวันเกิดเหตุนั้น ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน ทั้งเจ้าหน้าที่พัศดี และผู้ช่วยผู้คุม (ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติผ่านการพิจารณา)
เพื่อหาข้อเท็จจริงให้ได้ว่ากุญแจปลดเครื่องพันธนาการข้อเท้าของผู้ต้องขังนั้นออกจากกล่องเก็บไปได้อย่างไร หรือเป็นไปตามที่ตั้งข้อสันนิษฐาน ว่าผู้ช่วยผู้คุมอาจมีความเกี่ยวข้องมากที่สุด เนื่องจากในวันที่มีการเตรียมนำตัวผู้ต้องขังออกจากเรือนจำไปยังศาล
ผู้ช่วยผู้คุมรายดังกล่าวคือบุคคลเดียวที่อยู่กับประสิทธิ์ ขณะที่เจ้าหน้าที่พัศดีได้ไปค้นตัวผู้ต้องขังอีกสองรายแทน อีกทั้งผู้ช่วยผู้คุมรายนี้มีบทบาทหน้าที่ช่วยเหลือผู้คุมมายาวนาน และประสิทธิ์ก็ออกศาลบ่อย อาจมีเวลาในการพูดคุยทีละสั้นๆ กับบุคคลภายนอกขณะที่ถูกนำตัวขึ้นศาล แล้วก็รวบรวมข้อมูลตระเตรียมก่อนวางแผนก่อเหตุ
ว่าที่ ร.ต. ธนกฤต กล่าวต่อไปว่า ตนค่อนข้างมั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องรอผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากทางคณะกรรมการ ซึ่งมีผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน โดยจะทราบผลภายในหนึ่งสัปดาห์
ทั้งนี้ ระหว่างกระบวนการการสอบสวน เจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุได้ถูกย้ายไปยังส่วนกลางของกรมราชทัณฑ์ก่อน
ว่าที่ ร.ต. ธนกฤตกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ห้องน้ำชั้น 9 ของศาลอาญา ต้องขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่ไปยืนคุมการเข้าห้องน้ำของประสิทธิ์ คือบุคคลเดียวกับที่กระชากเสื้อของประสิทธิ์ที่บริเวณชั้น 6 จนขาดและได้มีการตะโกนเรียกเจ้าหน้าที่ศาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล รวมถึงเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์รายอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงภายในอาคาร จึงเป็นไปไม่ได้ว่าเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าประสิทธิ์ในห้องน้ำนั้นจะมีส่วนรู้เห็นถึงการหลบหนีระหว่างพิจารณาคดีในครั้งนี้
นอกจากนี้ ทางเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ร่วมตรวจสอบถึงเส้นทางการเงินของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และบุคคลที่อยู่รอบตัวประสิทธิ์ในวันเกิดเหตุ เพื่อหาความเคลื่อนไหวทางรายการเดินบัญชีในช่วงที่ผ่านมา เช่น เจ้าหน้าที่พัศดี ผู้คุม ผู้ช่วยผู้คุม รวมถึงผู้ต้องหาทั้งสามรายที่อยู่ในระหว่างการควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำขณะนี้ที่ให้ความช่วยเหลือประสิทธิ์ เพื่อดูว่ามีความเคลื่อนไหวในเรื่องของการโอนเงินเข้า-ออก สนับสนุนให้การช่วยเหลือในครั้งนี้หรือไม่
“หากการสอบสวนข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ของราชทัณฑ์ไปมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวจริง โทษสูงสุดคือการถูกจำคุกและผิดวินัยร้ายแรง ก็ต้องถูกไล่ออกจากราชการ” ว่าที่ ร.ต. ธนกฤตกล่าวในที่สุด