วันนี้ (4 เมษายน) พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ จะประชุมคดีพิเศษกรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มหลังเหตุแผ่นดินไหว
ด้าน พ.ต.อ. ทวี เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการตั้งพนักงานสอบสวนขึ้นมาแล้ว 36 คน ในการสอบสวนเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น ที่จะมีการรวบรวมพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ ในการหาสาเหตุของเรื่องนี้นอกเหนือจากเรื่องของภัยพิบัติ อีกทั้งยังต้องตรวจสอบเรื่องของงานทะเบียนของบุคคลต่างด้าวที่เข้ามาในเมืองไทยว่าถูกต้องหรือไม่ด้วย
พ.ต.ต. ยุทธนา เปิดเผยว่า หลังจากที่ DSI รับกรณีเหตุตึก สตง. ถล่มหลังแผ่นดินไหวเป็นคดีพิเศษในความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อรัฐฯ ประเด็นนี้จะไปตรวจสอบคนไทยที่ถือหุ้นว่ามีการถือหุ้นโดยอำพรางหรือไม่ และเบื้องต้นไปตรวจสอบที่บ้านของประจวบ ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นผู้ที่ถือหุ้น 102,000 หุ้น ของบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 ประเทศไทย จำกัด คิดเป็น 10.2% เมื่อไปตรวจสอบที่บ้านไม่เจอตัว
แต่ได้สอบสวนภรรยาประจวบให้ข้อมูลว่าประจวบออกจากบ้านไป 2-3 วันก่อนที่ตำรวจจะมา และทราบว่าประจวบมีรายได้น้อยมากประมาณ 10,000 บาทต่อเดือน จากการทำงานรับจ้างก่อสร้าง ซึ่งข้อมูลดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าข้อมูลประจวบ ไม่สอดคล้องกับการเป็นผู้ถือหุ้นและยังพบว่าประจวบไปถือหุ้นนิติบุคคลอีก 10 บริษัท มีแนวโน้มว่าเป็นนอมินี หรือการถือหุ้นอำพรางส่วนผู้ถือหุ้นคนอื่นอยู่ระหว่างการติดตามตัว
กนกไรวินท์ บุรินทร์นันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจสอบบัญชี ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ เดิมที่ก่อตั้งมีผู้ถือหุ้น 3 คน เป็นนิติบุคคลก่อน และในช่วงแรก มนัส ถือหุ้น 306,000 หุ้น ในวันแรก จากนั้นโอนให้ โสภณ จนเหลือแค่ 3 หุ้นเท่านั้น ส่วนโสภณ มี 407,997 หุ้น ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการติดตามว่าเป็นการโอนหุ้นแบบปกติหรือไม่ รวมถึงจะตรวจสอบว่า บุคคลทั้ง 3 ยังไม่เคยประกอบอาชีพในการรับเหมาก่อสร้างมาก่อนแต่กลับเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นขนาดใหญ่แบบนี้และรับงานภาครัฐได้อย่างไร จากตรวจสอบเจอทั้งหมด 29 โครงการทั่วประเทศ เป็นเงินกว่า 22,000 ล้านบาท
ด้าน ร.ต.อ. สุรวุฒิ รังไสย์ รองอธิบดี DSI ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ อ้างตัวว่าเป็นบริษัทไทยมาร่วมประมูล ซึ่งต้องพิจารณาว่าคนไทยรู้เห็นเป็นใจหรือไม่และเอกสารต่างๆเท็จหรือไม่ ซึ่งจะต้องตรวจสอบ รวมถึงจะมุ่งไปดูประเด็น การทำกิจการร่วมค้าของที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมค้ากับนิติบุคคลของไทย 11 บริษัท โดยเฉพาะตึก สตง. ที่ร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย
ทั้งนี้ ขอเวลาประมาณ 2 เดือนในการตรวจสอบว่าเอกสารทั้งหมดว่าเป็นเอกสารจริงหรือไม่ และ 29 โครงการที่ร่วมกับบริษัทไทยที่รับงานโครงการจากรัฐบาลไปทำ ว่าทำไมถึงต้องอำพรางทั้งที่เป็นคนไทยแต่กลับไม่ประมูลงานเอง ทำไมถึงต้องร่วมกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในการทำให้รัฐเชื่อมั่นและร่วมลงทุน
ส่วนที่บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ ร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ที่ไปประมูลตึก สตง. ในราคา 2,136 ล้านบาท จากราคากลาง 2,500 บาท มองว่าเป็นการฟันราคาเจ้าอื่นหรือไม่ และต้องดูข้อเท็จจริงว่าใช้เหตุผลอะไรทำให้รัฐหลงเชื่อและใช้บริการ
ส่วนรายละเอียดการถือหุ้นของ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด พบว่า ยังมีการถือหุ้นนิติบุคคลมีที่ตั้งเดียวกัน 8 บริษัท ได้แก่
- บจก. ยูไนเต็ด สตาร์ กรุ๊ป คนไทยถือหุ้น 51% คนจีนถือหุ้น 49%
- บจก.วิล มาร์ท (ประเทศไทย) คนไทยถือหุ้น 54.1% คนจีนถือหุ้น 45.9%
- บจก.สันติภาพ พร็อพเพอร์ตี้ ไทย 63% จีน 37%
- บจก.เอสทีพี อิมปอร์ต-เอ็กปอร์ต (ประเทศไทย) ไทย 99.95% จีน 0.05%
- บจก.เอวาน่า อินเตอร์เนชั่นแนล ไทย 80% จีน 20%
- บจก.สแตร์ ลาเบล อินเตอร์กรุ๊ป (ประเทศไทย) ไทย51% จีน 49%
- บจก.โมเยนเน่ (ประเทศไทย) ไทย 75% จีน 25%
- บจก.สยาม ไบโอเมดิคอล ไทย 100%
รายชื่อกิจการร่วมค้าบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมทำโครงการก่อสร้างของหน่วยงานรัฐ มี 11 บริษัท
- กิจการร่วมค้า AKC
- กิจการร่วมค้า RCH
- กิจการร่วมค้า ซีไอเอส
- กิจการร่วมค้า ดับบลิว จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น
- กิจการร่วมค้า ดีวายซีอาร์ คอนสตรัคชั่น
- กิจการร่วมค้า ทีพีซี
- กิจการร่วมค้า อาร์เอลจี
- กิจการร่วมค้า เอ จี ซี 10 คอนสตรัคชั่น
- กิจการร่วมค้า เอ ซี คอนสตรัคชั่น
- กิจการร่วมค้า ไอทีดี ซีอาร์อีซี
- กิจการร่วมค้า เอ็นซีอาร์อีซี
รวม 29 โครงการ มูลค่ากว่า 22,000 ล้านบาท (22,773,856,494.83)