วันนี้ (5 พฤษภาคม) ที่ห้องประชุมกองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ (กองคดีฮั้วประมูล) ศูนย์ราชการฯ อาคารเอ แจ้งวัฒนะ ความคืบหน้าจากคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 32/2568 หรือคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัดว่า ภายหลังจากที่คณะพนักงานสอบสวนได้เร่งดำเนินการสอบสวนขยายผลในคดีนอมินี บริษัท ไชน่า เรลเวย์ฯ รวมถึงตรวจสอบกระบวนการการได้มาซึ่งสัญญา 3 ฉบับ
ได้แก่ สัญญาการรับเหมาก่อสร้าง , สัญญาการออกแบบ, สัญญาการควบคุมงาน ของโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ โดยได้มีการออกหมายเรียกพยานเชิญกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทต่างๆ และรายชื่อบุคคลที่มีอำนาจรับผิดชอบภายใต้สัญญานั้นๆ
ไม่ว่าจะเป็น กรรมการบริษัทของสัญญารับเหมาก่อสร้างอย่างบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กรณีเป็นกิจการร่วมค้ากับบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด หรือในส่วนกรรมการบริษัทของสัญญาการออกแบบ อย่าง บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด กรณีเป็นกิจการร่วมค้ากับ บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และในส่วนของกรรมการบริษัทของสัญญาควบคุมงานอย่างกิจการร่วมค้า PKW อันประกอบด้วย 1. บริษัท พี เอ็น ซิงค์โครไนซ์ จำกัด, 2. บริษัท ว. และสหายคอลซัลแตนตส์ จำกัด และ 3. บริษัท เคพี คอนชัลแทนส์ จำกัด รวมไปถึงการสอบปากคำพยานวิศวกรภายใต้กิจการร่วมค้า PKW ทั้ง 38 รายที่มีรายชื่อและลายเซ็นปรากฏในเอกสารการควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง.
สรุปรวมได้ว่า ถูกปลอมลายเซ็นควบคุมงาน 30 ราย และยอมรับว่าเซ็นควบคุมงานจริง 8 ราย ทั้งนี้ เมื่อการสอบสวนได้รายละเอียดมาพอสมควรแล้ว เป็นเหตุให้ พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เตรียมเรียกประชุมคณะพนักงานสอบสวน ติดตามอัปเดตความคืบหน้าทางคดีในวันอังคารที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 13.00 น. ที่ อาคารกรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อจะได้กำหนดกรอบเวลาในการสรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการคดีพิเศษ ภายในระยะเวลาการฝากขังผู้ต้องหากลุ่มแรก (3 นอมินีไทยและ ชวนหลิง จาง) ในช่วงผัดฝากขังที่ 1-3 เพื่อให้อัยการได้มีเวลาตรวจสอบสำนวนก่อนส่งไปยังศาลอาญารัชดาภิเษก
ขณะที่คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเปิดเผยอีกว่า สำหรับประเด็นที่อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษจะใช้ในการติดตามความคืบหน้าทางคดี ได้แก่ คำให้การของพยานวิศวกรซึ่งถูกแอบอ้างชื่อและถูกปลอมลายเซ็นควบคุมงานก่อสร้างตึก สตง. การลงพื้นที่เก็บพยานหลักฐานบริเวณไซต์งานก่อสร้างตึก สตง. การพิจารณาพฤติการณ์ฐานความผิดตามกฎหมายฮั้วประมูล หรือ พ.ร.บ.ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 โดยเฉพาะเรื่องการประมูลงานโครงการ และการควบคุมงานก่อสร้างโดยกิจการร่วมค้า PKW
เนื่องด้วย DSI ได้ดำเนินการสอบสวนขยายมาต่อเนื่อง จึงได้เชิญผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้าง การควบคุมงานก่อสร้าง การให้คำปรึกษาด้านวิศวกรรมโครงสร้างมาให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ในการนำเข้าสำนวนคดี ทำให้วันนี้ ได้เชิญ วิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ จำกัด (3117 BIM Management) มาให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง.ถล่ม และข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง.
เนื่องด้วยวิระ เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการควบคุมงานก่อสร้าง การออกแบบก่อสร้าง การให้คำปรึกษาการก่อสร้าง มีประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบบจำลองข้อมูลอาคารด้วยโปรแกรม BIM (Building Information Modeling) โดยวิระ ได้มีการตั้งข้อสังเกตในส่วนที่พบเห็นจากวิดีโอตึก สตง.ถล่มลงวันที่ 28 มีนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฐานราก เรื่องผนังปล่องลิฟต์ การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์ วิเคราะห์สาเหตุว่าทำไมจึงต้องมีการแก้ไขแบบ เนื่องด้วยเห็นความเชื่อมโยงของเสา 2 ต้นของตัวอาคารที่มีการวิบัติพัง จึงเชื่อได้ว่าเสา 2 ต้นนี้ อาจคือจุดวิบัติของตัวอาคาร
จากนั้น เวลา 14.00 น. วิระ เรืองศรี ผู้จัดการบริษัท 3117 บิม เมเนจเม้นท์ จำกัด (3117 BIM Management) เปิดเผยถึงการเข้าพบคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เพื่อให้ข้อมูลเรื่องโครงสร้างตึก สตง. และให้ข้อสังเกตจุดวิบัติของตึก สตง.ว่า วันนี้ตนได้ให้ข้อสังเกตกับ DSI ใน 3 ประเด็น คือ
- เหตุของการแก้ไขสัญญา จำนวน 9 ครั้ง
- ประเด็นเชิงวิศวกรรม การตั้งข้อสังเกตของโครงสร้างอาคาร
- ประเด็นที่มาของผู้ออกแบบ วิศวกร และผู้ควบคุมงาน
ในการแก้ไขแบบสัญญาทั้ง 9 ครั้ง ต้องเน้นไปที่การแก้ไขแบบครั้งที่ 4 เพราะมันคือการแก้ไข Core Lift (การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์) ผนังรับเเรงเฉือน และส่วนควบอื่น ๆ ทั้งหมด ทั้งการแก้ไข Core Wall ส่วนอาคาร A ชั้น B1-3 คือการแก้คานที่งานระบบเดินไม่ผ่าน จึงต้องแก้คานด้วย ดังนั้น การแก้ไขผนังปล่องลิฟต์จึงมีตั้งแต่ชั้น 1 จนถึงหลังคา (Rooftop) ซึ่งจริง ๆ แล้วสาระสำคัญของสัญญาการแก้ไขแบบทั้ง 9 ครั้งมีสำคัญอยู่แค่ครั้งเดียว คือ ครั้งที่ 4 จึงทำให้ส่วนที่เหลือเป็นการแก้ไขเรื่องตัวเลข ตัวเงิน การขยายสัญญา ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวกับการแก้ไขแบบ
อาทิ การแก้ไขแบบครั้งที่ 1 คือ การลดเสาเข็มต้นหนึ่งของบ่อถังน้ำชั้นใต้ดินที่ไม่ได้มีผลต่ออาคาร เพียงแค่จำนวนเข็มเกิน ส่วนการแก้ไขครั้งที่ 2 คือ การเปลี่ยนฝ้าเพดานอาคารฯ ซึ่งตนจึงมองว่าการแก้ไขสัญญามันคือการเอื้อให้ผู้รับเหมาหรือไม่ เพราะมีการแก้ไขกิจกรรมงวดงานและมูลค่างาน
ดังนั้นในบรรดางานแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง มันมีการแก้ไขเกี่ยวกับสัญญาการก่อสร้างเพียงครั้งเดียว (ครั้งที่ 4) ขณะที่เหลือคือสัญญาการแก้ไขงวดงาน แก้ไขขยายสัญญา แก้ไขแผนงาน แก้ไขสัญญาเป็นศูนย์ค่าปรับเป็นศูนย์ อาทิ ครั้งที่ 7 กับครั้งที่ 8 คือการแก้ไขสลับกิจกรรมในงวดงาน ซึ่งมันสามารถใช้ดูได้ว่าเป็นการเอื้อให้ผู้รับเหมาสามารถเบิกงวดงานได้หรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น มีอยู่ 10 เรื่อง ผู้รับเหมาดำเนินการเสร็จ 5 เรื่อง แต่เลื่อนเอา 5 เรื่องออกไปก่อน แล้วให้ผู้รับเหมาที่ทำเสร็จ 5 เรื่องเบิกเงินไปก่อนหรือไม่ นอกจากนี้ ตนยังตรวจสอบพบว่า สัญญาเริ่มเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน แต่พอผ่านไป 501 วัน กลับมีการมาแก้ไขสัญญาครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นการลดเสาเข็มบริเวณงานชั้นใต้ดิน ทั้งที่ผ่านไปแล้ว 500 วัน ซึ่งมันก็เป็นคำถามต่อว่าแล้วก่อนหน้านี้ทำอะไรกันอยู่ รวมถึงจ่ายเงินเดือนให้ผู้ควบคุมงานไปกี่เดือนแล้ว แต่ผู้รับเหมาเพิ่งมาทำงานตอกเสาเข็ม
วิระกล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่กฎกระทรวงฯ ออกตาม พ.ร.บ.การควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มีการกล่าวว่า ทางเดินต้องมีระยะไม่น้อยกว่า 1.50 เมตร แต่มันแก้ 2 จุด คือ 2.10 เมตร กับ 1.50 เมตร ซึ่ง 1.50 เมตรต้องขยายให้ได้ 1.60 เมตร เนื่องจากต้องเป็นผิวกระเบื้องข้างละ 5 ซม. ซึ่งจากเดิม 2.00 เมตร ก็ขยายเป็น 2.10 เมตร เพราะมีฟินิชชิงอยู่หน้าห้องน้ำอีกประมาณ 7-8 เซนติเมตร จึงได้เป็น 2.10 เมตร
คำถามคือ 1.50 เมตร ขยายเพื่อให้มันสอดคล้องกับกฎหมาย แล้ว 2.10 เมตรนี้ขยายเพื่ออะไร ในเมื่อกฎหมายไม่ต้องการก็ไม่จำเป็นต้องขยายก็ได้ เพราะมันเป็นทางเดินอยู่หน้าห้องน้ำ จึงสงสัยว่าทำไมต้องขยายเป็น 2.10 เมตร แต่เมื่อไปดูแบบ กลับพบว่าตรงนั้นคือตกแต่งด้วยกระเบื้องหินแกรนิตซึ่งดูหรูหรา จึงสงสัยว่าจะเพิ่มเป็น 2.10 เมตรทำไม
นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องการล็อกสเปกปล่องลิฟต์ของผู้ออกแบบ ทำให้ลดผนังปล่องลิฟต์ไม่ได้ ทั้งที่มันลดได้ เพราะถ้าลดผนังปล่องลิฟต์ข้างละ 5 ซม. อย่างไรก็ใส่ลิฟต์ได้อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่าในครั้งแรกของการออกแบบ ผู้ออกแบบจะมีการเลือกรุ่นลิฟต์ ขนาดลิฟต์ ยี่ห้อลิฟต์ไว้ ซึ่งใน TOR (รายการประกอบแบบลิฟต์) ที่ผู้รับจ้างเป็นผู้ซื้อลิฟต์ ต้องซื้อยี่ห้อนี้ รุ่นนี้ แบรนด์นี้ ขนาดปล่องเท่านี้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ก็ต้องไปดูต่อว่ามันเป็นการล็อกสเปกลิฟต์หรือไม่ เพื่อว่าต้องเป็นยี่ห้อนี้เท่านั้น หรือลิฟต์มันแก้ไขอะไรไม่ได้เลย หรือมันเพราะสาเหตุใดกันแน่ที่ทำให้ลดไม่ได้
สำหรับเรื่องการเซ็นชื่อรับรองในเอกสารการแก้ไขแบบ ตนให้ความเห็นว่า หากเป็นงานสถาปัตย์ จะต้องมีวุฒิสถาปนิกเป็นผู้เซ็นรับรองด้วย แต่ถ้าเป็นงานโครงสร้างจะต้องเป็นวิศวกรผู้ควบคุมงาน เพราะมันเป็นไปตามข้อกำหนดของ สตง. ที่กล่าวว่า แบบที่ผู้ออกแบบรับรองนั้น ให้รับรองร่วมโดยผู้ออกแบบควบคุมงาน (กิจการร่วมค้า PKW)
ฉะนั้นถ้าผู้ออกแบบโอเค ทางกิจการร่วมค้า PKW จึงต้องหาวุฒิวิศวกรมาตรวจแบบ ซึ่งการเซ็นลงลายมือชื่อ คือ การตรวจว่าตรงกับที่ผู้ออกแบบต้องการหรือไม่ เพราะผู้ออกแบบคือคนตรวจรอบแรก แล้วถ้าผู้ออกแบบตรวจรอบแรกโอเคก็ส่งให้มีการแก้ไข แต่ก่อนที่จะส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้าง ก็ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไขของ สตง. ว่าแบบทุกครั้งก่อนจะส่งให้ผู้รับเหมา ต้องหาวุฒิมาตรวจแบบก่อน
ส่วนเรื่องวิศวกรรมโครงสร้าง คือเรื่องฐานราก ทำไมด้านหลังของตึก สตง. ทรุดจุดแรก ซึ่งมันมีการแก้ไขตัวฐานรากเพิ่มเติม จากแบบตามสัญญา เพราะมันมี 2 แบบ คือแบบตามสัญญา และแบบแก้ไข แต่ทางผู้รับเหมาก็ทำให้มันดีขึ้น ทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของเขา
นอกจากนี้แบบในการเสริมเหล็กผนังอาคาร 3 ชั้นของลานจอดรถ สตง. (มีการใส่เหล็กทุกเสา ไม่มีแตก) และการเสริมเหล็กอาคาร 30 ชั้น (เหล็กเล็ก) มันมีความแตกต่าง อาจเป็นผู้ออกแบบคนละคน ซึ่งพบว่าเป็นคนละคนจริงๆ แต่สามารถทำได้ เพราะคนละตึกกัน อย่างไรก็ตาม มันคือความบกพร่องอย่างหนึ่งของอาคาร 30 ชั้น ต้องดูว่าการเสริมเหล็กถูกต้องหรือไม่ ก็ต้องไปดูที่การคำนวณ
“ส่วนที่ว่าทำไมอาคารมันจึงเอียงไปอีกฝั่ง สไลด์ไปข้างหลัง ซึ่งก็จะสอดคล้องกับปล่องลิฟต์มัดนั้นมันอ่อน อาคารเลยไม่เซหรือทรุดลงตรงๆ และหากดูตามภาพในไซต์งาน จะมีเสา 5 ต้นของชั้น 19 เรียงในหลุมลิฟต์เป็นแถว เรียงปักทิ่มดิน นี่คือบทพิสูจน์ว่าอาคารมันสไลด์ไปข้างหลัง จึงทำให้เสาชุดนี้ขาด ขาดแล้วก็ไหลตรงๆ เพราะปล่องลิฟต์โล่ง เสาจึงเรียงตามภาพ” วิระกล่าว