วันนี้ (14 พฤศจิกายน) ความคืบหน้ากรณีการปราบปรามการนำเข้าและจำหน่ายหมูเถื่อนในประเทศไทย เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI ได้ทำการสอบสวน 2 ผู้ต้องหาซึ่งพบว่าเกี่ยวข้องกับการนำเข้าหมูในขบวนการดังกล่าว
โดย พ.ต.ต. สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ระบุว่า ประเด็นที่จะต้องสอบปากคำผู้ต้องหาคือ สั่งซื้อหมูมาจากที่ใด และส่งมอบหมูไปยังที่ใด รวมถึงของกลางที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดมาจากห้องเย็นที่จังหวัดสมุทรสาครมีที่มาอย่างไร จากการสอบสวน 2 ผู้ต้องหาให้การยอมรับว่า ได้ขายหมูเถื่อนให้ศูนย์กระจายสินค้าแบบขายส่งขนาดใหญ่ของประเทศรายหนึ่งจริง
เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่จะต้องไปอายัดสินค้าหรือไม่ พ.ต.ต. สุริยา กล่าวว่า ผู้ต้องหา 2 รายนี้นำเข้าหมูเถื่อนมาตั้งแต่ปี 2564 ทาง DSI รับเป็นคดีพิเศษปี 2566 หมูชุดแรกที่นำเข้ามาถูกกระจายไปสู่ผู้บริโภคหมดแล้ว การติดตามทำได้ยาก เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงติดตามสินค้าค้างสต็อกไม่กี่ชุดเท่านั้น
เมื่อถามถึงประเด็นที่นายกรัฐมนตรีสอบถามความคืบหน้าเรื่องหมูเถื่อนที่สนามบินสุวรรณภูมิ ว่าเหตุใดถึงยังไม่สามารถยึดทรัพย์กลุ่มนายทุนขบวนการหมูเถื่อนได้ พ.ต.ต. สุริยา ระบุว่า ติดปัญหาเรื่องการประสานงานกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ผ่านมา DSI ได้ประสาน ปปง. เรื่องเส้นทางการเงินและการยึดทรัพย์แล้ว ซึ่งทาง ปปง. ก็รับเรื่องดังกล่าวไว้ คาดว่าจะเริ่มยึดทรัพย์ภายในเดือนนี้ และทราบว่ามีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้องหลายร้อยล้านบาท
พ.ต.ต. สุริยา กล่าวต่อว่า จากนี้ต้องมีการขยายผลสืบสวนต่อเนื่องจากที่พบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 10 คน ส่วนหมายจับตอนนี้ ในกลุ่มที่ 1 กลุ่มที่รับหน้าที่ขนส่ง มีหมายจับแล้ว 10 หมาย จับไปแล้ว 6 คน ส่วนกลุ่มนายทุนจับหมดแล้ว 2 คน และกลุ่มผู้จ้างวานนำเข้าและห้องเย็นอยู่ระหว่างขยายผล
ขณะที่วานนี้ (13 พฤศจิกายน) เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์ถึงการคาดโทษหน่วยงานที่รับผิดชอบแก้ปัญหาเรื่องหมูเถื่อนที่มีความล่าช้าว่า ขออย่าไปเรียกว่าการคาดโทษ เพราะต้องเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มีงานเยอะ แต่ต้องอย่าลืมว่าขบวนการหมูเถื่อนมีมานานแล้ว
ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อยได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อนที่เข้ามาในประเทศ มีหลายรายที่เกือบล้มเลิกกิจการ ซึ่งตนมีหน้าที่ไปติดตาม หากปัญหาดังกล่าวไม่สามารถขยายผลไปถึงนายทุนรายใหญ่ เหตุการณ์ลักลอบจะเกิดขึ้นอีก และเมื่อสังคมลืมก็จะเกิดขึ้นอีก ดังนั้น เรื่องนี้ต้องกำจัดให้สิ้นซากเพราะเป็นภัยของสังคม
เมื่อถามว่านายกฯ กังวลหรือไม่ เมื่อมีภาพการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในลักษณะเกรี้ยวกราด นายกฯ กล่าวตอบด้วยสีหน้าจริงจังว่า ตนยอมรับว่าสั่งการเร่งรัดเรื่องหมูเถื่อนจริง แต่ตนมีหน้าที่ที่ต้องทำ หากประเทศชาติมีปัญหาและไม่ถูกบริหารจัดการตนต้องรับผิดชอบ
เศรษฐากล่าวต่อว่า ขอให้ดูที่ผลงานเป็นหลัก ตนอยากจะจัดการกับผู้กระทำผิด ซึ่งเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้รวดเร็วที่สุด เพราะคนที่เดือดร้อนไม่ได้มีพื้นที่หน้าสื่อที่จะมาพูดเรื่องดังกล่าวได้ และนอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ลงไปดูว่าผู้ประกอบการหมูรายย่อยได้รับความเสียหายในเรื่องนี้แค่ไหน
“เรื่องนี้เรายอมไม่ได้ คนทำผิดจะต้องถูกจับมาลงโทษ เราต้องกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นั่นคือความตั้งใจ” เศรษฐากล่าว