×

อธิบดี DSI เผย ใช้ AI วิเคราะห์ได้ถึงพฤติกรรมของบุคคลในวันเลือก สว. เทียบกับพยานวัตถุ พิสูจน์คดีฮั้ว สว. ด้วยวิธีวิทยาศาสตร์

โดย THE STANDARD TEAM
25.04.2025
  • LOADING...

วันนี้ (25 เมษายน) พ.ต.ต. ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), พ.ต.ท. อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดี DSI พร้อมด้วยคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ลงพื้นที่จำลองเหตุการณ์เสมือนจริงการเลือกตั้ง สว. กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คดีพิเศษที่ 24/2568 ที่อาคาร Impact Forum, Hall 4 เมืองทองธานี

 

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ในการจำลองเหตุการณ์เสมือนจริง เพื่อเก็บข้อมูลสถานที่เกิดเหตุ และวัตถุพยาน มีการนำกลุ่มพยานนำชี้พื้นที่เกิดเหตุต่างๆ เช่น จุดที่พบโพยลงคะแนน จุดที่มีการคุยหารือบริเวณที่กลุ่มผู้ที่ใส่เสื้อสีเหลืองรวมกลุ่ม เป็นต้น ส่วนการสร้างฉากจำลองย้อนลำดับเหตุการณ์ การขานคะแนน ภาพที่มีการนำเอกสารเข้าคูหา ตามขั้นตอนของการสรรหา สว. 

 

กรมสอบสวนคดีพิเศษโดยกองเทคโนโลยีและศูนย์ข้อมูลการตรวจสอบได้นำเทคโนโลยี ระบบ AI Detect การแสดงพฤติกรรมกลุ่มบุคคลที่ปกปิดวิธีการดำเนินการและความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายในการเลือกตั้ง สว. ด้วยเทคโนโลยี GEO-AI การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบภูมิสารสนเทศ (Geospatial Technology) ในการแสดงเหตุการณ์การเลือกตั้ง สว. ระดับประเทศ โดยการใช้เครื่องเลเซอร์สแกน อาคาร Impact Forum เพื่อสร้างแบบจำลองสถานที่เลือกตั้งเป็นแบบ 3D Mapping เหมือนกับเหตุการณ์จริงในวันเลือกตั้ง เพื่อประกอบการสืบสวนสอบสวนและการรวบรวมพยานหลักฐาน และนำส่งพยานหลักฐานให้คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนฯ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต่อไป 

 

▪️จำลองเลือก สว. เป็นประโยชน์ ให้พยานได้มาชี้เป้า

 

พ.ต.ต. ยุทธนา เปิดเผยภายหลังการจำลองสถานการณ์เลือก สว. ว่า ในวันนี้ผู้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษ กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพยาน ที่เป็นผู้สมัคร สว. ได้นำไปชี้จุดห้องที่มีการเลือกตั้งในระดับประเทศ เบื้องต้นกรมสอบสวนคดีพิเศษได้รับคดีฟอกเงินเป็นคดีพิเศษ โดยในวันนี้ได้มีการรับข้อกล่าวหาคดีอั้งยี่เข้าเป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกับคดีพิเศษที่เราสอบสวนอยู่ ฉะนั้น การรวบรวมหลักฐานจะเป็นไปในรูปแบบภาพกว้างขึ้น และพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ก็ต้องมีการรวบรวมไว้ทั้งหมด

 

สำหรับการชี้จุดในวันนี้ จะต้องดูว่าข้อกล่าวหา ว่ามีการพบโพย พบที่จุดไหน มีการรวมตัวกันที่จุดไหน และภาพพยานหลักฐานทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวที่ได้มา เกิดจากกล้องตัวไหน หรือเห็นจากมุมไหน เพื่อนำมาวิเคราะห์ และทำภาพถ่าย แผนที่ เพื่อจำลองสถานการณ์ เวลามีการเรียกพยานเข้ามาสอบ เราจะได้ชี้จุดได้ถูกต้องว่าพยานอยู่ตรงไหน ในบริเวณไหน พยานเห็นเหตุการณ์อย่างไร เพื่อให้มีความสอดคล้องกันทั้งหมด ทั้งพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุที่เราได้รับมา รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้ง การกาคะแนน ซึ่งมีลำดับที่ซ้ำกันนั้น จะสามารถเกิดได้ด้วยเปอร์เซ็นต์เท่าไร

 

ดังนั้น การที่เราทำทั้งหมดนี้ คือเพื่อทำให้เห็นภาพรวม คล้ายกับการที่พนักงานสอบสวนทั่วไปมาดูที่เกิดเหตุ เป็นหน้าที่ที่ต้องมารวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

 

เมื่อถามถึงการนำAIเข้ามาช่วย พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า ในเชิงเทคนิค ยังไม่สามารถลงรายละเอียดได้ แต่เราจะใช้เทคโนโลยีนี้ เข้ามาวิเคราะห์ เพราะหากเราได้ภาพทุกบุคคลที่เข้ามา ทั้งผู้สมัคร และผู้ที่เข้ารอบมาทั้งหมด ว่าใครอยู่ตรงไหน บริเวณไหน มีพฤติกรรมอย่างไร AIจะสามารถจับ และวิเคราะห์ได้หมด เพื่อดูว่าสอดคล้องกับข้อเท็จจริงของพยานหลักฐาน บุคคล เอกสาร และวัตถุ ที่เราได้มาหรือไม่ อย่างไร

 

เมื่อถามว่า การจำลองในครั้งนี้เป็นประโยชน์หรือไม่อย่างไร พ.ต.ต. ยุทธนา มองว่า เป็นประโยชน์ เพราะอย่างน้อย เราได้มาดูว่า เราเจอตามที่ผู้กล่าวหาได้นำชี้จุด ว่ามีการเข้ามาในพื้นที่บริเวณไหนบ้าง มีการรวมตัวกันบริเวณไหน มีการพบโพยที่ห้องน้ำตรงจุดไหน และดูว่าจุดที่มีกล้องคือตรงไหนบ้าง และสอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหวตามพยานหลักฐานที่เราได้มาหรือไม่

 

สำหรับเบื้องต้นในขณะนี้ มีจุดไหนที่สอดคล้องหรือตรงกันบ้าง พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า คงต้องใช้การวิเคราะห์ก่อน ในวันนี้มาเก็บข้อเท็จจริง เพื่อนำไปเปรียบเทียบด้วยการใช้เทคโนโลยี ส่วนข้อมูลในครั้งนี้เพียงพอหรือไม่นั้น คงต้องนำไปดูก่อน หากไม่เพียงพอ หรือเมื่อมาดูแล้วจะทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่ต้องดำเนินการด้วยกันทั้งสิ้น

 

▪️ภาพจากกล้องวงจรปิด เลขบนบัตรตรงกับโพย

 

เมื่อถามถึงกรณีมีการพบโพยบริเวณห้องน้ำ พ.ต.ต. ยุทธนา ถือว่า เป็นพยานหลักฐานชนิดหนึ่ง ส่วนจะชี้ได้ชัดขนาดไหนนั้น โพยไม่ได้มีเพียงจุดนี้จุดเดียว แต่ยังมีจากพยานรายอื่นๆ ด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยได้

 

เมื่อถามว่า มีการคาดการณ์ระยะเวลา จนเสร็จสิ้นกระบวนการ จะใช้เวลาเท่าไหร่ พ.ต.ต. ยุทธนา ย้ำว่า ในการดำเนินคดีอาญา เราต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน มีหลักฐานตามสมควร ว่าผู้ต้องหามีบุคคลใดบ้างที่ได้กระทำความผิดอาญา แต่อีกส่วนหนึ่ง ที่ไปร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องมีการพิสูจน์ตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นส่วนที่เราทำร่วมกับ กกต. เรื่องพยานหลักฐาน อาจจะฟังได้ความว่า การเลือกตั้งไม่เป็นไปอย่างบริสุทธิ์หรือเที่ยงธรรม ซึ่งก็เป็นส่วนของ กกต. แต่ในการดำเนินคดีอาญานั้น พยานหลักฐานต้องชัดเจน ก่อนที่จะมีการแจ้งข้อหาใครหรือไม่

 

ส่วนที่มีบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิด พบพิรุธใดบ้าง และเป็นประโยชน์มากน้อยแค่ไหน พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า อยู่ในระหว่างการวิเคราะห์ เบื้องต้นพบว่า มีการโชว์บัตรคะแนน ซึ่งบัตรคะแนนนั้น ก็สอดคล้องกับโพยที่เราพบ ว่ามีการกาตรงกันกับโพยที่ผู้กล่าวหาได้นำมาให้ ซึ่งเราจะมีการนำสูตรคำนวณมาใช้เพื่อวิเคราะห์อีกที

 

เมื่อถามถึงลักษณะของโพย มีความเหมือนหรือคล้ายกันอย่างไร พ.ต.ต. ยุทธนา ยกตัวอย่างว่า สมมติหากมีการกาเบอร์นี้ เป็นลำดับที่หนึ่ง สอง หรือสาม จนครบ และมีการกาในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ซ้ำกันในบัตรหลายๆ ใบ เราก็อาจจะต้องมาวิเคราะห์กันว่า มีการกระทำจัดตั้งเป็นกลุ่มบุคคล ที่มีการตกลงกัน ให้มีการได้มาซึ่ง สว. โดยไม่สุจริต หรือเที่ยงธรรมหรือไม่

 

ส่วนเรื่องการวิเคราะห์ เป็นหน้าที่ของฝ่ายเทคนิค พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า ขอรอให้มีการวิเคราะห์ก่อน แล้วจะนำมาเปิดเผยอีกครั้งหนึ่ง ยืนยันว่า การนำเทคโนโลยีAIมาใช้ มีความเป็นวิทยาศาสตร์ มีความหนักแน่น และน่าเชื่อถือ เมื่อสอดคล้องกับพยานบุคคล เอกสาร และวัตถุ หรือมีการโอนเงินใดๆ ก็จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง

 

เมื่อถามว่า การสอบสวนจะทันต่อเดดไลน์ของ กกต. ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมหรือไม่ พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน ของ กกต. จะมีการไต่สวน ก่อนจะตัดสินใจว่า จะยื่นหรือไม่ยื่น แต่สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ จะเป็นการดำเนินคดีอาญา พิสูจน์ความผิดตามที่มีการกล่าวหากัน ซึ่งคงใช้เวลาพอสมควร

 

เมื่อถามว่า มีการโฟกัสไปที่กลุ่ม 140 สว. เป็นพิเศษหรือไม่ พ.ต.ต. ยุทธนา ย้ำว่า เป็นการวิเคราะห์ในภาพรวม ส่วนใครจะมีพฤติกรรมอย่างไร หรือมีความสอดคล้องกับพยานบุคคล และพยานอื่นๆ อย่างไร ก็จะเป็นการเพิ่ม หรือเสริมน้ำหนักขึ้น และหากไม่ตรง ก็อาจจะเป็นการหักล้างหรือไม่เพิ่มน้ำหนักอะไร ยืนยันว่า เราพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา เราจึงใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย

 

โดยการวิเคราะห์การเรียงลำดับหมายเลขที่ซ้ำกัน เราจะใช้หลักสถิติ และผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์ จะระบุได้ตามโอกาสที่สามารถเกิดขึ้นได้ว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์

 

เมื่อถามว่า พบบัตรที่ถูกกาเรียงกันซ้ำกันหลายฉบับมีจำนวนกี่หีบ พ.ต.ต. ยุทธนา เชื่อว่า จะเป็นเช่นนั้น แต่ก็ต้องพิสูจน์ คาดว่าจะมีจำนวน 20 หีบ ตามกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ส่วนในแต่ละหีบจะมีการซ้ำกันกี่ฉบับ อาจจะมากกว่า หีบละ 10 ฉบับ แต่คงต้องขอดูภาพจากกล้องก่อน รวมถึงกรณีที่มีการนั่งรถตู้ รถบัสมาด้วยกัน และสวมเสื้อเหมือนกัน ก็จะต้องนำมาพิจารณาด้วยทั้งหมด หากเจอภาพเคลื่อนไหวใดๆ ในกล้องวิดีโอ ก็เป็นประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงทั้งสิ้น สำหรับหลักฐานการพักโรงแรมเดียวกัน เราได้ข้อมูลมาจากส่วนอื่น มาอยู่ในการบันทึกภาพครั้งนี้

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ สว. สำรอง ตั้งข้อสังเกตว่า มีเจ้าหน้าที่ กกต. บางคน มีพฤติกรรมสมรู้ร่วมคิด หรือเพิกเฉยต่อคำร้องเรียน กระบวนการสอบสวนจะสามารถสาวไปถึงหรือไม่ พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า ต้องรอการวิเคราะห์ก่อน ส่วนกรณีมีผู้สมัครไปเกาะรั้ว หากเกาะรั้วเฉยๆ ก็ไม่น่าจะมีผลอะไร แต่ถ้ามีการแลกคะแนน ก็มีผล ต้องดูความสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นๆ ด้วย

 

เมื่อถามถึงการสอบปากคำ สว. ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนี้ มีการดำเนินการอย่างไรแล้วบ้าง พ.ต.ต. ยุทธนา กล่าวว่า เราต้องรวบรวมพยานหลักฐานในส่วนอื่นก่อน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising