วันนี้ (25 มกราคม) ความคืบหน้าหลังจากที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีที่พนักงานสอบสวน สถานีตำรวจภูธร (สภ.) อรัญประเทศ กระทำการบังคับข่มขู่ ปัญญา คงแสนคำ หรือ ลุงเปี๊ยก ให้รับสารภาพความผิดในคดีฆาตกรรม บัวผัน ตันสุ หรือ ป้ากบ เป็นคดีพิเศษ
พ.ต.ต. วรณัน ศรีล้ำ ผู้อำนวยการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า ดีเอสไอได้รับกรณีของลุงเปี๊ยกเป็นคดีพิเศษ เนื่องจากตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ในมาตรา 31 ระบุไว้ว่า หน่วยงานที่มีอำนาจสอบสวนได้มีอยู่ 4 หน่วยงาน คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ), กรมการปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุด
หลังจากนี้ดีเอสไอจะต้องแจ้งการรับคดีพิเศษนี้ไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อรับทราบและมอบหมายให้พนักงานอัยการเข้ามาร่วมในการตรวจสอบกับดีเอสไอ รวมถึงเราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายครั้งแรก จึงมีความเห็นว่าควรเชิญหน่วยงานทั้ง 3 หน่วยงานเข้ามาร่วมประชุมและเป็นพนักงานสอบสวนร่วมกัน โดยดีเอสไอจะเสนอเรื่องผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
พ.ต.ต. วรณัน กล่าวต่อว่า การที่ดีเอสไอส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบปากคำเบื้องต้นกับลุงเปี๊ยกถึงพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในข้อเท็จจริงมีพยานหลักฐานพอสมควร มีเหตุที่จะเข้าสู่กระบวนการสอบสวนได้ แต่เร็วไปที่จะปักธงว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกระทำความผิด เพราะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนก่อน
สำหรับการดำเนินคดีหรืออัตราโทษ หากมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯ มีทั้งโทษทางปกครองและอาญา เบื้องต้นมีโทษจำคุกที่ 5-15 ปี