×

กทม. ขุดลอกเพิ่มพื้นที่รับน้ำคลองลาดพร้าว เร่งเจรจารื้อย้ายบ้านรุกล้ำ แนวก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมฯ

โดย THE STANDARD TEAM
12.10.2022
  • LOADING...
คลองลาดพร้าว

วันนี้ (12 ตุลาคม) ที่สำนักการระบายน้ำ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) ขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ณรงค์ เรืองศรี รองปลัด กทม. เลขานุการคณะอนุกรรมการที่เกี่ยวกับการพัฒนาคลอง สำนักการระบายน้ำ สำนักการโยธา สำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักอนามัย ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการพัฒนาคลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ   

 

ในที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานและพัฒนาพื้นที่คลองลาดพร้าว คลองเปรมประชากร และคลองแสนแสบ โดยในส่วนของโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองลาดพร้าว ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. อนุมัติบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งสำนักการระบายน้ำได้มีหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเรียกค่าเสียหายตามสัญญา และเสนอลงนามในคำสั่งคณะกรรมการบริหารจัดการหลังบอกเลิกสัญญา 

 

ส่วนการขุดลอกคลองลาดพร้าว จากคลองบางเขนถึงคลองแสนแสบ ความยาว 12 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ การขุดลอกคลองบางซื่อ จากถนนรัชดาภิเษกถึงคลองลาดพร้าว ความยาว 1,600 เมตร ขุดลอกได้ 400 เมตร 

 

โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองเปรมประชากร ช่วงที่ 2 จากสุดเขตกรุงเทพมหานครถึงคลองบ้านใหม่ และจากหมู่บ้านแกรนด์คาแนลถึงถนนสรงประภา ความยาว 5,000 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 1.90% ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภาถึงถนนแจ้งวัฒนะ ความยาว 10,000 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 3.95% ช่วงที่ 4 จากถนนแจ้งวัฒนะถึงถนนเทศบาลสงเคราะห์ ความยาว 10,700 เมตร อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ความคืบหน้า 24.20% (ข้อมูลวันที่ 11 ตุลาคม 2565) 

 

การสำรวจบริเวณที่มีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวเขตคลองสาธารณะ 50 สำนักงานเขต มีทั้งหมด 7,965 หลัง ดำเนินการรื้อย้ายแล้ว 1,955 หลัง ยังไม่ดำเนินการรื้อย้าย 6,010 หลัง

 

ส่วนแนวทางการจัดการน้ำเสียของอาคารรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานราชการนั้น กทม. จะทำหนังสือขอความร่วมมือให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งให้ได้มาตรฐาน โดยมีอาคารที่อยู่ในพื้นที่บริการบำบัดน้ำเสียของ กทม. 472 แห่ง จะประชาสัมพันธ์ให้มีการเชื่อมท่อรวบรวมน้ำเสีย เพื่อนำน้ำเสียไปบำบัดยังโรงควบคุมคุณภาพน้ำ กทม. ส่วนอาคารที่อยู่นอกพื้นที่ระบบบำบัดน้ำเสีย กทม. 1,307 แห่ง จะส่งเสริมให้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชนิด Onsite สำหรับการติดตั้งถังดักไขมันในพื้นที่ 21 เขตริมคลองแสนแสบและคลองสาขา 

 

โดยในปี 2565 มีเป้าหมายติดตั้งถังดักไขมันทั้งสิ้น 2,877 ถัง ปัจจุบันติดตั้งแล้ว 2,590 ถัง คิดเป็น 90.02% ซึ่งในปี 2566 ติดตั้งถังดักไขมัน 5,552 ถัง ปี 2567 ติดตั้งถังดักไขมัน 4,938 ถัง ปี 2568 ติดตั้งถังดักไขมัน 4,481 ถัง รวมติดตั้งถังดักไขมันทั้งสิ้น 17,548 ถัง ส่วนการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำทิ้งจากสถานประกอบการอาคารประเภท ค. ในพื้นที่รัศมี 500 เมตร ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา จำนวน 205 แห่ง ได้เก็บตัวอย่างน้ำทิ้ง 55 แห่ง ตรวจวิเคราะห์แล้วเสร็จ 59 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 14 แห่ง ไม่ผ่านเกณฑ์ 45 แห่ง และรอผลการวิเคราะห์ 91 แห่ง 

 

สำหรับการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทางของตลาดประเภทที่ 1 (รัฐและเอกชน) จำนวน 47 แห่ง สำนักการระบายน้ำลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดที่มีระบบบำบัดน้ำเสียและจุดเชื่อมท่อ จำนวน 20 แห่ง และตรวจสอบจุดที่สามารถเชื่อมท่อให้ตลาดที่ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสีย จำนวน 27 แห่ง ในส่วนของตลาดจำนวน 12 แห่ง ในการกำกับดูแลของสำนักงานตลาด กทม. อยู่ระหว่างออกแบบและประมาณราคาในการเชื่อมท่อเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียของ กทม. การติดตั้งถังดักไขมันของสำนักงานตลาด ได้ดำเนินการติดตั้งถังดักไขมันขนาด 60 ลิตร 15 ชุด บริเวณตลาดประชานิเวศน์ 1 

 

ปลัด กทม. ได้มอบหมายให้สำนักการระบายน้ำ สำนักงานเขตในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เจรจาสร้างความเข้าใจกับชุมชนที่รุกล้ำแนวก่อสร้างเขื่อน ให้เห็นถึงความสำคัญของส่วนรวมและประโยชน์ที่ได้รับจากการก่อสร้างเขื่อน เพื่อดำเนินการรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ 

 

รวมทั้งเร่งติดตั้งถังดักไขมันภายในชุมชนและบ้านเรือนริมคลอง เพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง นอกจากนี้ ให้พิจารณาแนวทางในการขอความร่วมมือ กำหนดรูปแบบการดำเนินการกับอาคารส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้ระบบการระบายน้ำและระบบบำบัดน้ำเสียมีประสิทธิภาพตามที่กฎหมายกำหนด ก่อนที่จะระบายลงสู่แหล่งรองรับน้ำทิ้งต่อไป 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising