×

จับตา ‘ร่าง พ.ร.บ. ข้าว’ แม้ชาวนามีเมล็ดพันธุ์ข้าวไม่มีความผิด แต่ปิดกั้นการพัฒนาพันธุ์ข้าวไทย

17.02.2019
  • LOADING...

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ข้าว พ.ศ…. เกิดจากการร่วมกันเสนอของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปัจจุบันได้ผ่าน สนช. ในวาระที่ 1 (ขั้นรับหลักการ) และคณะกรรมาธิการฯ ได้ทำการแก้ไขเสร็จแล้ว โดยวันพรุ่งนี้ (18 ก.พ.) จะมีการเสนอเข้าสู่คณะกรรมการตรวจร่างกฎหมายของ สนช. และรอเพียงเข้าที่ประชุม สนช. วาระ 3 เพื่อพิจารณาบังคับใช้

 

อย่างไรก็ตาม ‘ร่าง พ.ร.บ. ข้าว’ ฉบับนี้ถูกรุมคัดค้านจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นักวิชาการ ชาวนา โรงสี หรือแม้แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 

ถ้ากฎหมายนี้มีก่อน พ.ศ. 2500 คงไม่มีพันธุ์ข้าวดีๆ หลายพันธุ์

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า โดยหลักการแล้วเห็นด้วยที่จะมีกฎหมายเกี่ยวกับข้าวโดยเฉพาะ เพราะอาชีพชาวนาเสี่ยงขาดทุนสูง คนรุ่นใหม่ไม่มีแรงจูงใจจะทำนา จึงต้องการปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิต ตลอดห่วงโซ่การผลิต และการพัฒนาอาชีพทำนาให้มั่นคง ยั่งยืน อย่างบูรณาการและเป็นเอกภาพ

 

แต่สาระสาคัญของร่าง พ.ร.บ. ข้าวฉบับนี้กลับเน้นการควบคุมและลงโทษเสมือนประเทศตกอยู่ในภาวะสงคราม และจะเกิดผลเสียต่อวงการข้าวไทย ส่วนมาตราด้านการพัฒนาก็มีจุดอ่อนที่ไม่น่าจะสัมฤทธิ์ผล

 

ทั้งนี้ สาระของกฎหมายสำคัญที่นักวิชาการทีดีอาร์ไอได้ชี้ให้เห็น คือ มาตรา 27/1 และมาตรา 33/2 ซึ่งตีความได้ว่า การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ยังไม่ได้รับการรับรองพันธุ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุว่า มาตรานี้จะปิดกั้นขัดขวางการพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ของไทย เพราะในอดีตข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลายพันธุ์ที่กลายเป็นพันธุ์ยอดนิยม ได้แพร่หลายไปในหมู่ชาวนาก่อนที่หน่วยราชการจะให้การรับรองพันธุ์

 

“หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ออกมาใช้ก่อน พ.ศ. 2500 คนไทยคงอดมีพันธุ์ข้าวดอกมะลิ 105 ขาวตาแห้ง 17 ข้าวไรซ์เบอร์รี ข้าวสังข์หยด ข้าวทับทิมชุมแพ” รศ.ดร.นิพนธ์ ระบุ

 

กมธ. ร่าง พ.ร.บ. ข้าว ยันชาวนาขายข้าวได้ตามปกติ

ด้านคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ข้าว นำโดย พลโท จเรศักณ์ิ อานุภาพ รองประธานคณะกรรมาธิการ ชี้แจงในประเด็นกรณีการแก้ไขมาตรา 27/1 ที่ห้ามจัดจำหน่ายพันธุ์ข้าวที่ไม่ได้รับการรับรองจดทะเบียนจากกรมการข้าวนั้น

 

ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ชี้แจงว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้บังคับให้เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด นอกจากนี้ยังสามารถจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ตามปกติแม้จะไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว แต่ยืนยันว่าการขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าวจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว เนื่องจากการรับรองจะทำให้ได้พันธุ์ข้าวที่ดีมีคุณภาพ และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้จำหน่ายข้าวในอนาคต

 

นายกฯ ห่วงข่าว ‘พ.ร.บ. ข้าว’ บิดเบือน แนะระวังการเสพข้อมูล

พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แสดงความเป็นห่วงเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและการนำเสนอข่าวที่บิดเบือนเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ข้าว ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ สนช. ทั้งๆ ที่กฎหมายฉบับนี้จะเป็นกลไกควบคุมการผลิตและจำหน่ายข้าวเปลือกอย่างเป็นธรรม

 

“พาดหัวข่าวทำนองว่า ชาวนาสะอื้น ชาวนาอ่วม หาก พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ โดยถ้าชาวนาคนใดมีเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ในครอบครองจะมีความผิด และยังเป็นกฎหมายที่เอื้อนายทุนด้วยนั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ดังนั้นสื่อมวลชนควรระมัดระวังในเรื่องนี้”

 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่แชร์กันจากหลายเพจ เช่น เพจเฟซบุ๊กของ นายสุเทพ คงมาก ที่ระบุถึงโทษของชาวนาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย จะต้องถูกจำคุก 5 ปี หรือถูกปรับ 500,000 บาทนั้น ก็ไม่ถูกต้อง จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการเสพข่าว และผู้ที่โพสต์หรือส่งต่อข้อมูลที่บิดเบือนอาจเข้าข่ายกระทำผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ด้วย

 

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่า ชาวนาสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองได้โดยไม่มีความผิด แต่หากจะนำไปขายก็ต้องไปขอขึ้นทะเบียนกับกรมการข้าว เหมือนกับสินค้าอาหารเครื่องดื่มที่ต้องไปขึ้นทะเบียนกับ อย. เพื่อรับรองคุณภาพ

 

“พ.ร.บ. ข้าว จะช่วยคุ้มครองชาวนาในระยะยาวไม่ให้ถูกโรงสีเอาเปรียบกดราคาโดยอ้างว่าข้าวเปลือกของชาวนาไม่มีคุณภาพ และยังทำให้พันธุ์ข้าวต่างๆ ได้รับการขึ้นทะเบียนรับรองมาตรฐาน ป้องกันการหลอกขายเมล็ดพันธุ์จากพ่อค้าที่ไร้ความรับผิดชอบ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รวบรวมข้อท้วงติงและความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เสนอไปยังคณะกรรมาธิการที่พิจารณาเรื่องนี้แล้ว”

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising