×

นพ.ยง เผย ไทยมีคนฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อแล้วมากกว่า 1,200 คน ตรวจบันทึกในหมอพร้อมไม่พบอาการข้างเคียงรุนแรง

โดย THE STANDARD TEAM
13.07.2021
  • LOADING...
ยง ภู่วรวรรณ

วันนี้ (13 กรกฎาคม) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยา คลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าวการให้วัคซีนโควิดสลับชนิด ระบุว่า วัคซีนชนิดเชื้อตาย Sinovac ที่คิดค้นมา มีภูมิต้านทานสูงกว่าคนที่เคยได้รับเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมมาแล้ว ซึ่งตอนต้นหลังการได้รับวัคซีนนี้จะมีภูมิต้านทานสูง แต่ไวรัสมีการพัฒนาตลอดเวลาทำให้ไวรัสหลบหลีกวัคซีนเชื้อตายได้ง่ายกว่า

 

นพ.ยง กล่าวต่อว่า ถ้าฉีด Sinovac จะมีภูมิต้านทานเท่ากับคนที่เคยติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ปัจจุบันนี้เป็นสายพันธุ์เดลตาทำให้ภูมินี้กันไม่ได้

 

แต่ถ้าฉีด AstraZeneca 2 เข็ม ห่างกัน 14 สัปดาห์ ภูมิคุ้มกันป้องกันสายพันธุ์เดลตาได้ แต่ต้องรอถึง 14 สัปดาห์

 

แต่หากฉีด Sinovac + AstraZeneca แม้ภูมิต้านทานจะน้อยกว่า AstraZeneca 2 เข็ม แต่ใช้เพียงเวลา 6 สัปดาห์ ซึ่งเข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคในเวลานี้ อีกทั้งประเทศไทยตอนนี้มีวัคซีน 2 ชนิด การบริหารวัคซีนแบบนี้ในตอนนี้จึงเหมาะสมที่สุด

 

นพ.ยง กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีการฉีดสลับยี่ห้อไปแล้วมากกว่า 1,200 คน และในจำนวนนี้บันทึกอาการข้างเคียงในหมอพร้อม ไม่มีใครมีอาการข้างเคียงที่รุนแรง เชื่อว่าข้อมูลนี้เป็นหนึ่งในข้อมูลที่คณะกรรมการฯ นำมาประกอบการตัดสินใจแน่นอนแม้ตนจะไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการนั้นก็ตาม ซึ่งจากข้อมูลนี้ยืนยันได้เบื้องต้นว่าปลอดภัย ส่วนการศึกษาอย่างละเอียดของเรานั้นจะนำมาเปิดเผยผลการศึกษาอีกครั้งหนึ่งภายในสิ้นเดือนนี้

 

ขณะที่สถานการณ์การระบาดนั้น เวลานี้สายพันธุ์ที่ระบาดใน กทม. คือเดลตา 70-80% แล้ว และมีแนวโน้มจะระบาดทั่วประเทศ ส่วนสายพันเบตานั้นหลบหนีวัคซีนได้ดีที่สุด แต่แพร่กระจายเชื้อได้น้อยกว่าจึงขึ้นมาเบียดสายพันธุ์เดลตาไม่ได้ ย้ำว่าสายพันธุ์เดลตามีการติดต่อง่ายมากและมีปริมาณเชื้อสูง ขอให้ทุกคนที่ฉีดวัคซีนแล้วหรือรอวัคซีนเน้นย้ำมาตรการส่วนบุคคลเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

 

เมื่อถามว่ามีโอกาสที่คนหนึ่งจะติดเชื้อไวรัสได้ 2 สายพันธุ์หรือไม่ นพ.ยง กล่าวว่า การระบาด 1 ปีครึ่งของเรา ปัจจุบันยังไม่พบการรวมของไวรัส 1 ตัว แล้วมี 2 สายพันธุ์ผสมกัน โดยปัจจุบันเราเจอแค่ 1 คน มีไวรัส 2 ตัว ซึ่งหากรักษาตามปกติก็สามารถหายได้โดยยังไม่มีข้อกังวล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising