วันที่ (3 กุมภาพันธ์) วิสิทธิ์ พิทยาภรณ์ รองประธานคณะกรรมาธิการการ (กมธ.) กฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย รังสิมันต์ โรม โฆษกกรรมาธิการและกรรมาธิการการกฎหมาย รับยื่นหนังสือจาก รัชนี สุภวัตรจริยากุล มารดาของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย ที่ถูก ส.ต.ต. ขับรถชนเสียชีวิตขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย และ ณัฐพล ชิณะวงศ์ ทนายความคดีหมอกระต่าย
ณัฐพลกล่าวว่า การเข้ายื่นหนังสือในวันนี้ไม่ได้เป็นการยื่นเพื่อร้องเรียน แต่เพื่อขอให้พิจารณาช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกหนึ่ง เนื่องจากทางครอบครัวของผู้กระทำผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอยู่ในสังกัดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) จึงต้องการให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความละเอียดรอบคอบ จึงอยากให้หน่วยงานที่มีความเป็นกลางเข้ามาตรวจสอบควบคู่กันไป ไม่ใช่ไม่เชื่อใจเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ต้องการให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความละเอียด เนื่องจากการสูญเสียครั้งนี้เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของครอบครัวและประเทศชาติที่จะต้องเสียบุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณค่าต่อสังคม
สำหรับสิ่งที่ต้องการให้ทำคือการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากที่เกิดเหตุเป็นบริเวณทางม้าลายซึ่งเป็นบริเวณที่รถวิ่งเร็วมากแม้จะมีการติดลูกคลื่นแล้ว แต่เกรงจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ซึ่งจุดเกิดเหตุเป็นโรงพยาบาลและแหล่งชุมชน การขับขี่ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรจะปรับความเร็วอยู่ที่ 20-30 กิโลเมตร จึงเป็นเรื่องที่ต้องการให้คณะกรรมาธิการการกฎหมายเข้าไปตรวจสอบ
ด้านรัชนีกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า ลูกสาวของตนไม่ได้ข้ามถนนด้วยความประมาท หลายคนมองว่าเวลาเกิดปัญหาแบบนี้กับโยนความผิดให้กับผู้ข้ามถนน ลูกสาวของตนไม่ได้มีโอกาสป้องกันตัวเอง ทุกอย่างเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ไม่มีโอกาสแม้แต่ได้รับการรักษา แม่รับไม่ได้ จึงขอฝากประชาชนทุกคนให้กำลังใจ และให้ความเป็นธรรม ไม่อยากให้ลูกสาวตายฟรี คำนี้ตนไม่อยากพูดเลย และขณะนี้ตนเป็นห่วงลูกสาวอีกคนหนึ่ง เพราะมีอาการหวาดกลัวการข้ามถนน จึงอยากให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยสภาขับเคลื่อน เพราะไม่อยากให้คดีนี้เหมือนคดีอื่นๆ ที่หายไปโดยไม่ส่งผลอะไรให้กับประเทศเลย ซึ่งหมอกระต่ายจะได้ภาคภูมิใจที่คดีของตนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ขณะที่รังสิมันต์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจ กมธ. จะให้ความสำคัญ ซึ่งกรณีดังกล่าวมีหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของกฎหมายที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้การเดินข้ามถนนมีความปลอดภัยมากขึ้น แม้ในระยะหลังมีการตื่นตัวเรื่องนี้ แต่คงไม่เพียงพอ จึงต้องแก้ไขกฎระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำรอยอีก ส่วนจะเชิญใครเข้ามาชี้แจง กรรมาธิการจะปรึกษากันอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน อาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ในฐานะ กมธ. กล่าวว่า ตนได้ทราบถึงข้อกังวลในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องในฐานะ กมธ.กฎหมาย ยืนยันว่าจะทำหน้าที่ในคณะกรรมาธิการเพื่อให้ความเป็นธรรม ทั้งสอบถามข้อเท็จจริงในประเด็นที่จะต้องดำเนินการ แล้วเสนอแนะเพื่อพิจารณาปรับแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีกในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ กมธ.กฎหมาย พยามทำหน้าที่มาตลอด 3 ปี ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องที่ประชาชนให้ความคาดหวังกับการทำงานของ กมธ. เพื่อพัฒนาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายต่อไป