×

สคฝ. ชี้ไร้สัญญาณโยกเงินฝาก หลังลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาท เล็งขยายการดูแลครอบคลุมถึง E-Money

07.08.2021
  • LOADING...
Deposit protection

ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ สคฝ. มีการประชาสัมพันธ์เรื่องการปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตามกฎหมายในวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จนถึงขณะนี้ยังไม่พบว่ามีการเคลื่อนย้ายของเงินฝากในระบบที่มีนัยสำคัญแต่อย่างใด โดยการเคลื่อนย้ายของเงินฝากยังคงเป็นไปตามผลตอบแทนในตลาดตามปกติ

 

ทรงพล กล่าวว่า การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากของ สคฝ. ในช่วงนี้ผ่านมาได้มีการกำหนดระยะเวลาแบบขั้นบันไดเพื่อให้ประชาชนได้ปรับตัวอยู่แล้ว สำหรับการปรับลดวงเงินคุ้มครองจาก 5 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินลงมาเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงิน ตามกำหนดการเดิมจะต้องปรับลดลงในปี 2563 แต่ก็ได้มีการผ่อนปรนมาบังคับใช้ในปีนี้แทน จึงเชื่อว่าประชาชนส่วนหนึ่งมีความเข้าใจอยู่แล้ว 

 

ขณะเดียวกันแม้จะลดวงเงินฝากคุ้มครองมาที่ 1 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงินแล้ว แต่จำนวนบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเดิมจำนวนก็ยังสูงถึง 98.05% เมื่อประกอบกับสถานะการเงินของธนาคารพาณิชย์ไทยที่แข็งแกร่งมีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูง ทำให้ผู้ฝากเงินไม่เกิดการวิตกกังวลและตื่นตระหนก

 

“ที่ผ่านมา สคฝ. ได้ทยอยปรับคุ้มครองเงินฝากตามที่กฎหมายกำหนด แต่เมื่อดูสถิติการฝากเงินย้อนหลังจะพบว่าเงินฝากในระบบยังคงโตต่อเนื่อง โดยในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา เงินฝากเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 4-6% อาจจะมีปีที่แล้วที่เติบโตได้ 2% ซึ่งเป็นผลจากโควิด” ทรงพล กล่าว

 

ทรงพล กล่าวอีกว่า โดยปกติแล้วการกำหนดการกำหนดวงเงินคุ้มครองเงินฝากที่เหมาะสมจะพิจารณาจากปัจจัยหลายด้าน เช่น รายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร โดยตัวเลขวงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ในอนาคตหากคนไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพิ่มขึ้นก็มีความเป็นไปได้ที่วงเงินคุ้มครองเงินฝากจะถูกปรับขึ้นให้สอดคล้องกัน

 

“การปรับลดวงเงินคุ้มครองให้ต่ำลงอีกจาก 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อรายสถาบันการเงินคงไม่เกิดขึ้น แต่การทบทวนวงเงินคุ้มครองอาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งน่าจะเป็นการปรับขึ้นให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและรายได้ของประชากรในประเทศ” ทรงพล กล่าว

 

ผู้อำนวยการ สคฝ. กล่าวด้วยว่า นอกจากการให้ความคุ้มครองบัญชีเงินฝากสกุลเงินบาทในสถาบันการเงิน 35 แห่งแล้ว ขณะนี้ สคฝ. ยังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการขยายการคุ้มครองเงินฝากไปยังกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ต่างๆ ที่ได้รับการอนุญาตเปิดกิจการตามกฎหมายใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ด้วย เนื่องจากปัจจุบันการทำธุรกรรมผ่าน E-Money มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่กลับยังไม่อยู่ในเกณฑ์การคุ้มครองของ สคฝ. 

 

ทั้งนี้จากสถิติในปีที่ผ่านมาพบว่า คนไทยมีการใช้จ่ายด้วยเงินอิเล็กทรอนิกส์(E-Money) ผ่าน E-Wallet ของผู้ให้บริการเอกชนมากกว่า 40 ล้านบัญชี โดยมีการเติมเงินใช้จ่ายมากกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมการใช้ E-Money ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและแอปพลิเคชันเป๋าตัง ที่เป็นผลิตภัณฑ์ของรัฐบาล สะท้อนว่ามีการการเติบโตของการใช้ E-Money มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising