เจ้าหน้าที่กู้ภัยของตุรกีเร่งดำเนินการขุดเจาะกันอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งคืน เพื่อพยายามช่วยเหลือกลุ่มคนงานหลายสิบชีวิตที่ติดอยู่ภายในเหมืองถ่านหินใต้ดินในจังหวัดบาร์ติน ทางตอนเหนือของตุรกี หลังเกิดเหตุระเบิดภายในเหมืองที่ระดับความลึกกว่า 300 เมตร เมื่อช่วง 15.15 น. วานนี้ (14 ตุลาคม) ส่งผลให้มีคนงานเหมืองเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 28 คน
เหมืองที่เกิดเหตุชื่อว่า TTK Amasra Muessese Mudurlugu เป็นเหมืองของรัฐภายในเมืองอามาสรา ซึ่งเป็นเมืองท่าในทะเลดำ โดย โซลีย์แมน ซอยลู (Suleyman Soylu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตุรกี เปิดเผยว่า ในระหว่างเกิดเหตุมีคนงานที่อยู่ภายในเหมืองประมาณ 110 คน ในจำนวนนี้ 49 คน ปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยง ที่ระดับความลึก 300 และ 350 เมตร แต่ยังไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่ามีคนงานติดอยู่ภายในทั้งหมดกี่คน
เบื้องต้นทางการตุรกีรายงานว่า มีคนงานที่ได้รับความช่วยเหลือและรอดชีวิตแล้ว 58 คน โดย 11 คนยังอยู่ระหว่างการรักษาในโรงพยาบาล
ขณะที่ญาติและเพื่อนของกลุ่มคนงานที่ติดอยู่ในเหมืองจำนวนมากพากันไปเฝ้ารอข่าวจากเจ้าหน้าที่ ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ ปฏิบัติการขุดเจาะชั้นหินเพื่อช่วยคนงานที่ติดอยู่เป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าแรงระเบิดที่เกิดขึ้น ทำให้ภายในเหมืองพังถล่มลงมาบางส่วน แต่ไม่มีไฟไหม้และระบบระบายอากาศยังใช้งานได้
สำหรับสาเหตุการระเบิดยังไม่มีรายงานแน่ชัด โดยรายงานจากรัฐมนตรีพลังงานตุรกี ระบุข้อบ่งชี้เบื้องต้นว่า เป็นผลจากก๊าซมีเทนที่ก่อตัวภายในเหมืองเกิดติดไฟ และทำให้เกิดระเบิดขึ้น ซึ่งล่าสุดทางสำนักงานอัยการท้องถิ่นได้เริ่มต้นดำเนินการสืบสวนข้อเท็จจริงแล้ว
ด้านประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน เปิดเผยว่า ได้ยกเลิกกำหนดการทั้งหมด และคาดว่าจะเดินทางลงพื้นที่ในวันนี้ พร้อมทวีตข้อความแสดงความคาดหวังให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตไม่สูงขึ้น และพบคนงานเหมืองที่ยังมีชีวิต โดยยืนยันว่าทางการได้ทุ่มเทความพยายามทั้งหมดเพื่อเร่งช่วยเหลือ
ภาพ: Utku Ucrak/Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: