×

อินเดียเสียชีวิตจากปมสินสอด 8,000 คนต่อปี! ส่องปัญหาสินสอด ต้นตอการกดขี่รอบโลก

25.01.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • อินเดียเกิดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวจากปมสินสอดมาตั้งแต่อดีต ครอบครัวฝ่ายชายมักเรียกร้องสินสอดจากฝ่ายหญิงมากเกินไปจนนำไปสู่ปัญหาการทำร้ายร่างกาย และหลายกรณีทำให้ฝ่ายหญิงเกิดความกดดันจนฆ่าตัวตาย โดยในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาสินสอดประมาณ 8,000 คน
  • ปากีสถานมีอัตราการเสียชีวิตจากปัญหาสินสอดมากที่สุดในโลก เฉลี่ยมากกว่า 2,000 คนต่อปี หรือผู้หญิงที่เสียชีวิตทุกๆ 100,000 คน จะมาจากปัญหาสินสอดถึง 2.45 คน
  • คนจีนรุ่นใหม่มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับมูลค่าที่เหมาะสมของสินสอดทองหมั้น ท่ามกลางสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูงและปัญหาความไม่สมดุลระหว่างประชากรเพศชายและเพศหญิง
  • ออสเตรเลียมีปัญหาบังคับแต่งงานและทารุณทางเพศจากปมสินสอดในกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ส่งผลให้ภาครัฐพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อแบนระบบสินสอดในประเทศ

จาก ‘ปมสินสอด’ ที่ทำให้ ‘กอล์ฟ-ขวัญ’ เลิกรากันจนกลายเป็นประเด็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ในสังคมไทย และเกิดคำถามขึ้นตามมาว่าสินสอดควรมีมูลค่าเท่าใดจึงจะเหมาะสม? แต่คุณทราบหรือไม่ว่า นอกจากประเทศไทยแล้ว ในโลกนี้มีเพียงไม่กี่ประเทศที่ประชาชนยังคงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีในการให้สินสอดทองหมั้นอยู่ และประเทศเหล่านี้ต่างก็กำลังเผชิญปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าว

 

THE STANDARD จะพาไปสำรวจบางประเทศที่ยังคงมีขนบธรรมเนียมการให้และรับสินสอดทองหมั้น โดยเฉพาะในเอเชียใต้ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาการกดขี่และใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง ขณะที่จีนมีธรรมเนียมเรียกสินสอดที่ไม่ต่างจากบ้านเรานัก และมีการตั้งคำถามถึงมูลค่าที่เหมาะสมของของหมั้นท่ามกลางสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูง

 

 

อินเดีย สินสอดกับการกดขี่เพศหญิง

คนอินเดียจำนวนมากยังคงยึดถือธรรมเนียมปฏิบัติในการเรียกสินสอดมาแต่โบราณ เพียงแต่ที่นี่ ฝ่ายหญิงจะต้องเป็นคนจัดหาสินสอดทองหมั้นทั้งเงิน เพชรนิลจินดา รถยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า ให้แก่ครอบครัวหรือพ่อแม่ฝ่ายชาย ซึ่งแตกต่างจากบ้านเราชนิดกลับตาลปัตร

 

สำหรับอินเดียนั้น การเรียกร้องสินสอดมากเกินฐานะของฝ่ายหญิงได้กลายเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามในทุกยุคทุกสมัย เนื่องจากเกิดกรณีที่ฝ่ายชายเรียกร้องค่าสินสอดจากฝ่ายหญิงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนกลายเป็นบ่อเกิดของปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ดังจะเห็นได้จากข่าวตามสื่อต่างๆ ที่สามีใช้กำลังทำร้ายร่างกายภรรยาเพียงเพื่อต้องการค่าสินสอดเพิ่ม แม้จะแต่งงานกันมาแล้วหลายปีก็ตาม ซึ่งในหลายกรณีทำให้ฝ่ายหญิงเกิดความกดดันจนฆ่าตัวตาย

 

แม้ระบบสินสอดจะเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในอินเดียมาตั้งแต่ปี 1961 แต่การเรียกสินสอดก็ยังเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัจจุบัน ขณะที่อัตราการตายจากปัญหาสินสอดก็ยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งบ่งชี้ว่าระบบสินสอดยังคงถูกใช้อย่างแพร่หลายในอินเดีย นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงความบกพร่องในการบังคับใช้กฎหมายของอินเดีย เพราะตามกฎหมายแล้ว ตำรวจอินเดียสามารถดำเนินคดีกับผู้ที่จ่ายและรับค่าสินสอด โดยบทลงโทษจะมีตั้งแต่ปรับเงินไปจนถึงจำคุก หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

สำนักงานสถิติทางอาชญากรรมแห่งชาติของอินเดียเปิดเผยว่า ในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาสินสอดประมาณ 8,000 คนในอินเดีย โดยปี 2010 ยอดเสียชีวิตพุ่งสูงถึง 8,391 คน ส่วนหนึ่งเป็นการฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนต่อการถูกรังควานเรื่องสินสอดได้อีกต่อไป นอกจากนี้ผู้หญิงจำนวนมากยังถูกสามีฆ่าตาย หรือไม่ก็ถูกญาติฝั่งสามีทำร้ายจนเสียชีวิตเพียงเพราะไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องได้

 

ปี 2003 เกิดเหตุการณ์น่าสลดใจขึ้น เมื่อหญิงสาววัย 22 ปีคนหนึ่งและลูกสาววัย 1 ขวบ ถูกครอบครัวฝ่ายชายเผาทั้งเป็นเพราะปมสินสอด

 

Times of India รายงานว่า เมื่อเดือนมกราคมปีที่แล้ว มีหญิงสาววัย 20 ปี 2 คนฆ่าตัวตายจากปัญหาสินสอดในวันเดียวกันที่เมืองคุร์เคาน์ รัฐหรยาณา ขณะที่ตัวเลขการเสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าวในเมืองนี้เพิ่มขึ้น 66.7% เป็น 20 คนในปีที่ผ่านมา จาก 12 คนในปี 2015

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าคนอินเดียหัวก้าวหน้าจะต่อต้านระบบสินสอด แต่คนส่วนใหญ่ในประเทศยังคงมีแนวคิดอนุรักษนิยม ขณะที่ผู้หญิงจำนวนมากยังคงเต็มใจจ่ายค่าสินสอด เพราะเชื่อว่าเป็นการสมควรที่จะจ่ายค่าสินสอดแก่ครอบครัวสามีเพื่อให้พวกเขาเลี้ยงดูตนไปตลอดชีวิต

 

ด้วยเหตุนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรและนักเคลื่อนไหวภาคสังคมจึงออกมารณรงค์ให้รัฐพัฒนาระบบการศึกษาและมอบการศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง เพราะการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยล้มล้างระบบสินสอดที่ฝังรากลึกในสังคมอินเดียมาช้านาน ซึ่งท้ายที่สุดจะช่วยยุติปัญหาความรุนแรงอันเนื่องมาจากระบบดังกล่าว

 

 

ปากีสถาน มีอัตราการตายจากปัญหาสินสอดสูงสุดในโลก

นอกจากอินเดียแล้ว ปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันก็เกิดปัญหาสังคมรุนแรงอันเนื่องมาจากระบบสินสอด หรือ Jahez เช่นกัน โดยข้อมูลทางสถิติระบุว่า ปากีสถานเป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากปัญหาสินสอดมากที่สุดในโลก เฉลี่ยมากกว่า 2,000 คนต่อปี หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเสียชีวิตของผู้หญิงทุกๆ 100,000 คน จะมาจากปัญหาความรุนแรงจากปมสินสอดถึง 2.45 คน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก

 

ในอดีต ปากีสถานได้ออกกฎหมายแบนระบบสินสอดรวม 5 ฉบับ โดยฉบับแรกตราขึ้นในปี 1964 และฉบับล่าสุดคือปี 2008 แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากประชาชนจำนวนมากขาดการศึกษาและยังยึดถือขนบธรรมเนียมเก่าๆ ซึ่งเป็นรากฐานวัฒนธรรมของประเทศไม่ต่างจากอินเดีย

 

 

จีน กับค่านิยมเลขมงคล

คนไทยอาจคุ้นเคยกับหนังจีนย้อนยุคในภาพเจ้าบ่าวส่งขบวนเกี้ยวไปรับเจ้าสาวที่บ้านฝ่ายหญิง พร้อมกับของขวัญและหีบเงินทองที่เรียกว่าของหมั้น หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ‘พิ่นหลี่’ (聘礼) หรือ ‘ไฉหลี่’ (彩礼) ส่วนพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะจัดสินสอด หรือที่ชาวจีนเรียกว่า ‘เจี้ยจวง’ (嫁妆) ประกอบด้วยทองคำ เพชรพลอย อัญมณี เสื้อผ้า และเครื่องใช้ต่างๆ เช่น ผ้าห่ม ผ้าคลุมเตียง และหมอน เพื่อให้ลูกสาวนำติดตัวไปบ้านเจ้าบ่าวในวันออกเรือน

 

ในปัจจุบัน ครอบครัวคนจีนจำนวนมากยังคงให้ความสำคัญกับการเรียกของหมั้นจากฝ่ายชาย และมูลค่าของของหมั้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยสาเหตุหนึ่งมาจากปัญหาความไม่สมดุลของประชากรชายและหญิงจากนโยบายลูกคนเดียวของรัฐบาลที่บังคับใช้มานานกว่า 30 ปี ซึ่งส่งผลให้เด็กผู้ชายเกิดใหม่มีสัดส่วนมากกว่าเด็กผู้หญิงที่อัตราการเกิด 115 คนต่อเด็กผู้หญิงทุกๆ 100 คน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้สังคมจีนมองว่าพ่อแม่ฝ่ายหญิงมีสิทธิ์เรียกร้องสินสอดสำหรับการสู่ขอลูกสาวได้สูงขึ้น

 

ดังนั้นมูลค่าของหมั้นหรือสินสอดจึงกลายเป็นประเด็นที่ชาวเน็ตจีนถกเถียงกันมากในโลกโซเชียลไม่แพ้ในไทยเช่นกัน บางคนแสดงความเห็นว่ามูลค่าของหมั้นควรขึ้นอยู่กับฐานะและกำลังทรัพย์ของฝ่ายชาย เพราะของแบบนี้ไม่มีมาตรฐานชัดเจนมาเป็นตัวกำหนด

 

 

สังคมจีนยุคปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก ไม่เพียงแต่การแข่งขันทางธุรกิจและการค้าเท่านั้น แต่ผู้ชายก็ต้องแข่งขันกันยกระดับฐานะตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงและมัดใจเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในจีน โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ๆ ขณะที่เมืองในแถบชนบทหรือพื้นที่ยากไร้ก็เกิดปัญหาการเรียกค่าสินสอดที่สูงมากเช่นกัน จนมีการตั้งคำถามเชิงเสียดสีอย่างกว้างขวางว่า ‘สินสอด หรือขายลูกสาวกินกันแน่?’

 

อย่างไรก็ดี นอกจากตัวเลขค่าสินสอดสูงลิ่วที่พ่อแม่ฝ่ายหญิงเรียกจากฝ่ายชายแล้ว คนจีนในหลายพื้นที่ยังนิยมใช้ตัวเลขตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณ ซึ่งสามารถแก้ปัญหาถกเถียงเกี่ยวกับมูลค่าที่เหมาะสมของสินสอดทองหมั้นในสังคมจีนยุคปัจจุบันได้บ้าง

 

คนจีนนิยมให้สินสอดเป็นเลขมงคลหรือมีความหมายดีตามเสียงพ้องในภาษาจีน โดยเงินที่ฝ่ายชายให้เป็นของหมั้นอาจมีมูลค่า 10,001 หยวน ซึ่งอ่านว่า ‘อี ว่าน อี’ (一万一) ในภาษาจีน พ้องกับภาษิตจีนว่า ‘อี ว่าน เทียว อี’ (一万挑一) ที่มีความหมายลึกซึ้งว่า ผู้หญิงที่เขาเลือกคือคนพิเศษสุดในบรรดาคนที่พบเจอในชีวิต

 

นอกจากนี้ฝ่ายชายยังอาจให้สินสอดเป็นเงิน 10,007 หยวน ซึ่งอ่านว่า ‘อี ว่าน ชี’ (一万七) พ้องกับภาษิตข้างต้น แต่มีการเล่นเสียงพ้อง เพราะคำว่า ‘ชี’ (七) ที่แปลว่าเลข 7 นั้น อ่านออกเสียงเหมือนคำว่า ‘ชี’ (妻) ที่แปลว่า ภรรยา นั่นเอง

 

นอกจากเลข 10,001 กับ 10,007 แล้ว คนจีนยังนิยมเลข 21,800 (เหลี่ยง ว่าน อี เชียน ปา / 两万一千八) ซึ่งพ้องกับภาษิตว่า ‘เหลี่ยง เจีย อี ฉี่ ฟา’ (两家一起发) ที่แปลว่า สองบ้านร่ำรวยไปด้วยกัน


ยังมีเลข 31,800 (ซาน ว่าน อี เชียน ปา / 三万一千八) ที่พ้องเสียงกับภาษิตและเล่นความหมายว่า ‘ซาน เจีย อี ฉี่ ฟา’ (三家一起发) ซึ่งแปลว่า 3 บ้านร่ำรวยไปพร้อมกัน โดย 3 บ้านในที่นี้หมายถึงบ้านของคู่สามีภรรยา พ่อแม่ฝ่ายชาย และพ่อแม่ฝ่ายหญิง

 

นอกนี้ยังมีเลข 48,000 (ซื่อ ว่าน ปา / 四万八) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษิตว่า ‘ซื่อ ผิง ปา เหวิ่น’ (四平八稳) แปลว่า มั่นคง

 

ชาวจีนยังนิยมเลือกเลขมงคลตามความเชื่อที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้วย โดยเฉพาะเลข 8 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นนิรันดร์ เช่น เลข 888 และ 88,000 เป็นต้น   

 

สำหรับเลขอื่นๆ ที่ชาวจีนนิยมใช้เป็นเลขสินสอด ได้แก่ 6,666 / 8,888 / 9,999 / 10,000 / 20,000 / 30,000 / 50,000 / 60,000 / 80,000 / 100,000 / 65,000 / 68,000 / 99,000 / 28,888 / 58,888 / 68,888 และ 88,888

 

อีกแบบที่นิยมมากและใช้เป็นมาตรฐานกำหนดสินสอดทองหมั้นจะประกอบด้วย ธนบัตร 5 หยวน (สีม่วง) 10,000 ใบ, ธนบัตร 100 หยวน (สีแดง) 1,000 ใบ และธนบัตร 50 หยวน (สีเขียว) 1 ใบ รวมเป็น 150,050 หยวน พร้อมบ้าน 1 หลัง และรถยนต์ 1 คัน ซึ่งมาจากวลีฮิตติดปากของคนมณฑลเหอหนานและซานตงอย่าง ‘อี ต้ง ปู้ ต้ง ว่าน จื่อ เชียน หง อี เพี่ยน ลวี่’ (一动不动万紫千红一片绿) โดย ‘อี ต้ง’ หมายถึงรถ ‘ปู้ ต้ง’ หมายถึงบ้าน ส่วน ‘จื่อ’ คือธนบัตรสีม่วง ‘หง’ คือธนบัตรสีแดง และ ‘ลวี่’ คือธนบัตรสีเขียว แต่คนจีนบางพื้นที่อาจเพิ่มธนบัตร 50 หยวนเป็น 600 ใบ ซึ่งจะรวมเงินสดเท่ากับ 180,000 หยวน

 

 

ออสเตรเลีย สินสอดกับปัญหาบังคับแต่งงาน

ออสเตรเลีย ดินแดนจิงโจ้และสวรรค์ของนักท่องเที่ยวหลายๆ คนก็เกิดปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัวจากปมสินสอดเช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเกิดกับผู้หญิงในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มาจากเอเชียใต้ แอฟริกา และตะวันออกกลาง สำหรับปัญหาก็มีตั้งแต่การบังคับแต่งงาน การทารุณกรรมทางเพศ ไปจนถึงการทำร้ายจนพิการและเสียโฉม

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐสภาออสเตรเลียพยายามผลักดันกฎหมายเพื่อแบนการรับและให้สินสอดในประเทศ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของพระราชบัญญัติป้องกันการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

ส่วนปีที่แล้ว คณะกรรมาธิการป้องกันปัญหาความรุนแรงในครอบครัวของรัฐวิกตอเรีย ได้เสนอให้พิจารณาร่างกฎหมายที่ระบุชัดเจนว่า การทำร้ายร่างกายอันเนื่องจากปัญหาสินสอดถือเป็นปัญหาการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว

 

ขณะที่ จูเลียน ฮิลล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคแรงงาน ได้กล่าวในปีที่ผ่านมาว่า ออสเตรเลียควรออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการบังคับแต่งงานและการอพยพเพื่อปกป้องผู้หญิงจากเหตุรุนแรงให้มากขึ้น

 

นอกจากประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาสังคมและอาชญากรรมจากธรรมเนียมสินสอดเช่นกัน โดยบางประเทศได้ออกกฎหมายห้ามเพื่อแก้ปัญหามาตั้งแต่อดีต เช่น กรีซ ได้แก้ไขกฎหมายครอบครัวเพื่อล้มเลิกธรรมเนียมสินสอดในปี 1983

 

ที่เคนยา มีการบังคับใช้กฎหมายสมรสฉบับใหม่ในปี 2012 ซึ่งมีบทบัญญัติห้ามการจ่ายสินสอดในทุกกรณี

 

ส่วนในเอเชียใต้ รัฐสภาเนปาลได้ผ่านกฎหมาย Social Customs and Practices Act ในปี 2009 เพื่อระบบสินสอดในประเทศ ขณะที่ศรีลังกา กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันกฎหมายเพื่อยกเลิกขนบดังกล่าวเช่นกัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising